อาการปวดหลัง สามารถพบได้ในประชากรทุกเพศทุกวัยด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น กล้ามเนื้อบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาในวัยรุ่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ในวัยทำงาน และอาการปวดเมื่อยจากการเคลื่อนไหวที่ลดลงของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีวิธีการรักษามากมาย โดยเฉพาะการรักษาทางกายภาพบำบัด การใช้อุปกรณ์พยุงหลังชนิดต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่นักกายภาพบำบัดนิยมเลือกใช้
หลักการทำงานของอุปกรณ์พยุงหลัง
ในทางกายภาพบำบัด เกือบจะทุกข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวจะมีอุปกรณ์ช่วยพยุง หรืออุปกรณ์ที่ใช้จำกัดการเคลื่อนไหวข้อต่อนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นคอ ข้อศอก ข้อเข่า หรือแม้กระทั่งนิ้วมือ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับแต่ละข้อต่อก็จะมีหลายชนิดเพื่อตอบสนองการใช้งานที่ละเอียดอ่อน แต่อุปกรณ์ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในชีวิตน่าจะเป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงหลังส่วนล่าง หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่าเฝือกพยุงหลัง (Lumbosacral Support) โดยมากอุปกรณ์เหล่านี้มักทำมาจากผ้าที่มีความยืดหยุ่นดี และที่สำคัญมีโครงเป็นพลาสติดแข็งหรือเหล็กขนาบทั้งสองข้างของแนวกระดูกสันหลัง โดยมีหลังการทำงานง่ายๆ คือ ช่วยประคองและลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังในกรณีที่กล้ามเนื้อหลังมีการบาดเจ็บ ปวดหลังมาก กระดูกสันหลังเคลื่อน หรือมีการเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลังมา
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ด้วยการประคองนี้ กล้ามเนื้อหลังจะทำงานน้อยลง ส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูตัวเองจากการบาดเจ็บเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้การรัดประคองบริเวณเอวและหลังส่วนล่างยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทรับความรู้สึกอื่นๆ ทำให้การรับรู้ความรู้สึกปวดหลังน้อยลงด้วย
ชนิดของอุปกรณ์พยุงหลังและหลักการใช้
อุปกรณ์พยุงหลังหรือกล้ามเนื้อลำตัวที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้มีจำนวนกว่า 70 ชนิด แต่สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามหน้าที่ได้ดังนี้
- อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับป้องกันการแอ่นหลัง (Trunk Extension Inhibition Coreset) ได้แก่
- อุปกรณ์พยุงหลังส่วนล่วง (Lumbrosacral Support) เป็นอุปกรณ์ที่ประยุกต์ใช้ได้กับผู้ป่วยหลายกลุ่ม เช่น กล้ามเนื้อหลังบาดเจ็บจากการยกของหนัก อาการปวดหลังในผู้สูงอายุ รวมทั้งในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกสันหลัง ความกว้างของอุปกรณ์ชนิดนี้คือรัดเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่างเท่านั้น
- อุปกรณ์พยุงหลังส่วนอกและเอว (Talor Brace) อุปกรณ์ชนิดนี้นิยมใช้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการปวดหลังเนื้องจากกระดูกสันหลังแตกและเคลื่อน (Spondylolithesis) มีลักษณะยาวกว่าแบบแรกครอบคลุมตั้งแต่หลังส่วนล่างจนถึงบริเวณหน้าอก อุปกรณ์ชนิดนี้มีสายคล้องที่ไหล่ทั้งสองข้างด้วย
- อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับป้องกันการก้มของลำตัว (Trunk Flexion Inhibition Corset) อุปกรณ์ในกลุ่มนี้ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือ อุปกรณ์พยุงหลังจากด้านหน้า (Jewett Brace) มีลักษณะเด่นคือโครงเหล็กที่เป็นรูปตัวโอบริเวณด้านหน้าลำตัว มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกสันหลังส่วนหน้าแตกและยุบตัวลง (Compression Fracture)
ดังได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นจะเห็นว่า อุปกรณ์เหล่านี้จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นและวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เรียกว่า เข็มขัดรัดหลัง (Back Belt) ซึ่งได้รับการแนะนำให้ใช้ในผู้ที่ยังไม่มีอาการปวดหลัง เพื่อป้องกันอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นจากการยกของหนักหรือนั่งทำงานนานๆ ในทางกายภาพบำบัดมีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า นอกจากอุปกรณ์ชนิดนี้จะไม่มีประโยชน์ต่อการป้องกันอาการปวดหลังแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้ใช้มีอาการปวดหลังรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ด้วย นอกจากนี้ การใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้อย่างต่อเนื่องจะทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานน้อยลง และอ่อนแรงลงในที่สุด เข็มขัดรัดหลังจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการปวดหลังในระยะแรกๆ หรือในระยะฟื้นฟูเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำเท่านั้น
หลักการเลือกอุปกรณ์พยุงหลัง
คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับเลือกอุปกรณ์พยุงหลังมีดังนี้
- เลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับอาการ และความรุนแรงของอาการ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาจากหมอนรองกระดูกสับเส้นประสาท ควรจำกัดการเคลื่อนไหวในท่าก้มและบิดลำตัว จึงต้องเลือกอุปกรณ์ในกลุ่มที่จำกัดการเคลื่อนไหวนี้
- เลือกขนาดของอุปกรณ์พยุงหลังให้พอดีกับขนาดร่างกายของผู้ใช้งาน โดยมากก่อนใส่จะต้องทำการวัดไซซ์ของอุปกรณ์ก่อน เมื่อใส่แล้วต้องยังเคลื่อนไหวตัวได้ไม่ลำบากมากนัก และหายใจสะดวก
- ผู้ใช้งานควรศึกษาวิธีการใส่และถอดอุปกรณ์พยุงหลังให้เข้าใจดีก่อนใช้งาน เพราะอุปกรณ์พยุงหลังแต่ละชนิดมีขั้นตอนการใส่และถอดแตกต่างกันมาก เช่น บางชนิดต้องใส่ในท่านอนเท่านั้น บางชนิดสามารถใส่ในท่านั่งได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์บางชนิดยังมีวิธีการใส่ที่ซับซ้อน ต้องคล้องไว้ที่ไหล่ มีตัวล็อกบริเวณข้างลำตัว หรือต้องมีการสูบลมเข้าไปในตัวอุปกรณ์ขณะใช้งานด้วย
อย่างไรก็ตามอย่างไรก็ตาม วิธีการเลือกอุปกรณ์พยุงหลังที่เหมาะสมที่สุดคือปรึกษาแพทย์ด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายและวินิจฉัยอาการอย่างแน่ชัด ก่อนเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของอาการ
วิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์พยุงหลังอย่างถูกต้อง เพื่อคงประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งาน
โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ทำความอุปกรณ์พยุงหลัง เพราะตัวอุปกรณ์จะสูญเสียความยืดหยุ่นไป ดังนั้นเวลาสวมใส่จึงควรใส่เสื้อยืดบางๆ ก่อน เพื่อป้องกันคราบเหงื่อใคลสะสมบนตัวอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันอาการแพ้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่อุปกรณ์สัมผัสผิวหนังโดยตรงด้วย อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์บางชนิดก็จำเป็นต้องใส่ให้แนบกับผิวโดยตรง ควรศึกษาวิธีใช้ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
ถ้าจำเป็นต้องซักทำความสะอาดอุปกรณ์พยุงหลังจริงๆ สามารถทำได้ด้วยการซักน้ำสบู่อ่อนๆ โดยไม่ใช่เครื่องซักหรือออกแรงบิด แล้วผึ่งให้แห้งในที่ร่ม
ดังข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า อุปกรณ์พยุงหลังมีประโยชน์ต่ออาการปวดหลังทางอ้อม โดยการลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง ทำให้กระบวนการฟื้นฟูตนเองของร่างกายเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ขึ้น การป้องกันอาการปวดหลังที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการยกของหนักๆ การนั่งทำงานท่าเดิมนานๆ และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังอย่างถูกวิธี หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์พยุงหลังควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันผลเสียที่จะเกิดจากการใช้งานอย่างไม่ถูกวิธี