June 09, 2019 06:44
ตอบโดย
สารินทร์ สีหมากสุก (นพ.)
สิว เป็นโรคทางผิวหนังที่พบได้บ่อยครับ เมื่ออายุเราเยอะขึ้น สิวเหล่านี้จะค่อยๆหายไปในที่สุด ซึ่งตำแหน่งที่มักจะพบสิวได้บ่อยได้แก่ บริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก เช่น ใบหน้า หน้าอก หลัง คอ เป็นต้น
สิวมีด้วยกันอยู่หลายระยะครับ เช่น สิวอุดตันหัวดำและหัวขาว สิวอักเสบตุ่มแดง สิวอักเสบหัวหนอง และสิวหัวช้าง การมีสิวเกิดขึ้นจำนวนมากอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราได้ครับ เช่น เสียความมั่นใจเนื่องจากมีสิวเยอะ มีรอยดำเยอะบนใบหน้า รวมถึงการมีหลุมสิว ดังนั้นการรักษาสิวควรมีการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลเป็น หลุมสิว หรือเชื้อดื้อยาได้หากมีการรักษาที่ไม่ถูกต้อง จึงควรพบแพทย์นะครับ
สาเหตุจากการเกิดสิว
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชาย เช่น androgen ซึ่งจะพบมากในเพศชาย (เพศหญิงก็มีได้เช่นกัน แต่น้อย) ฮอร์โมนตัวนี้จะไปกระตุ้นต่อมไขมันให้มีการทำงานมากขึ้น จึงทำให้เกิดการอุดตันตามรูขุมขน เกิดเป็นสิวอุดตันและสิวอักเสบในอนาคตได้ หรือในผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายเยอะ หรือเป็นถุงน้ำในรังไข่หลายใบ(PCOS) ก็อาจจะมีสิวเยอะได้เช่นกัน รวมถึงก่อนมีประจำเดือน ฮอร์โมน Progesterone จะสูงขึ้น จึงทำให้เกิดสิวได้เช่นกั
- Hyperkeratosis เกิดจากควาผมิดปกติของการผลัดเซลล์ของเซลล์ผิวหนัง
- เกิดจากการติดเชื้อ P.acne ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดสิว
- Inflammation มีการบาดเจ็บหรือมีการอักเสบของผิวหนังในบริเวณดังกล่าว
- อื่นๆ เช่น อาหารที่มี Glycemic index สูง หรืออาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณเยอะ (แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ครับ ว่าจริงๆแล้ว เป็นสาเหตุของการเกิดสิวด้วยหรือไม่) เช่น ช็อคโกแลต เค้ก เบเกอรี่ หรือของหวานต่างๆ , นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดหลับอดนอน, ไม่เครียด หมั่นออกกำลังกาย, งดทาครีมกันแดดที่ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน, หรือหลีกเลี่ยงการแต่งหน้า ทารองพื้นที่หนาจนเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่เป็นสิวเยอะๆ , การใช้กระดาษซับมัน ควรซับอย่างเดียวไม่ควรถูบริเวณผิวหน้า เพราะอาจจะไปกระตุ้นสิวได้เช่นกัน, งดการแคะแกะเกาสิว, หลีกเลี่ยงการทำหัตถการที่มีการสครับผิวหน้า หรือการทำช้อนทองคำ ทรีตเม้นหน้า อาจไปกระตุ้นทำให้สิวเห่อได้, หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือโฆษณาอวดอ้างเกินจริง, รักษาความสะอาดบนผิวหน้า ล้างหน้าในคนที่มีผิวมันเยอะ อาจจะเช้ากลางวันและเย็น ไม่ควรล้างหน้าบ่อยจนเกินไป เป็นต้นครับ
วิธีการรักษา คือลดการอักเสบลงของสิวและการป้องกันการเกิดสิวที่จะเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งหากมีสิวขึ้นเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาสักหน่อยครับ โดยการรักษาจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่หมอได้แนะนำไปข้างบน ร่วมกับการใช้ยาจึงจะมีประสิทธิภาพ โดยยาที่ใช้ในการรักษาสิว แบ่งคร่าวๆได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ยาทา ยาฉีด และยารับประทาน
ยาทาจะมียากลุ่มละลายหัวสิว เช่น Benzoyl peroxide ทาก่อนล้างหน้าทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที จะช่วยลดการเกิดสิวอุดตัน โดยมากแพทย์มักพิจารณาให้ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดทา ที่จะไปทำลายฆ่าเชื้อสิว (แต่จะไม่ให้ยาปฏิชีวนะตัวเดียว เนื่องจากมีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย) และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สิวอุดตันลดลง อาจรักษาควบคู่กับการกดสิวจากผู้ชำนาญ (ไม่ควรกดเองเด็ดขาด หากทำไม่เป็น เพราะจะทำให้เกิดรอยดำตามมาได้)
ยากลุ่มวิตามินเอ จะไปช่วยแก้ไขปัญหาการเกิด Hyperkeratosis ให้กลับเป็นปกติ ลดการอักเสบของสิว ลดสิวอุดตัน แต่ยากลุ่มนี้อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้หรือเกิดรอยแดง ควรทาบางๆ
ยาฉีด มักจะเป็น triamcinolone acetonide ใช้ในการฉีดเม็ดสิวที่มีการอักเสบอยู่ให้ยุบลง แต่ต้องระวัง หากฉีดเยอะเกินไปหรือฉีดไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผิวบริเวณนั้นกลายเป็นหลุมหรือยุบลงไปได้
ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบขึ้นเยอะ การทายาอย่างเดียวอาจจะเอาไม่อยู่ แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มยารับประทาน เช่นยาปฏิชีวนะและยาในอนุพันธุ์ของวิตามินเอ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาสิวให้สูงขึ้น แต่ยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ มีผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ เช่น ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาแห้ง ตับอักเสบ ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และระหว่างที่รักษาด้วยยาตัวนี้ ห้ามตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด รวมถึงการบริจาคเลือด การใช้ยาในกลุ่มนี้จึงควรได้รับคำแนะนำวิธีการใช้ และอยู่ในการดูแลควบคุมของแพทย์ครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ผมเป็นสิวผดตอนนี้ผมกินยาClindastar-300ช่วยได้มั้ยครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)