โดยปกติปอดมีหน้าที่หายใจเข้าและออก เพื่อนำเอาก๊าซออกซิเจนจากอากาศเข้าไปเพื่อให้เลือดนำไปใช้เผาผลาญอาหารภายในเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย และรับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเผาผลาญอาหารจากเซลล์ต่างๆ เหล่านี้ขับออกจากร่างกายทางปอด หากการหายใจติดขัดหรือหยุดชะงักไปด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นจะเสียไป เซลล์สมองถ้าขาดออกซิเจนแค่เพียง 5 นาที จะไม่สามารถกลับทำงานได้ตามปกติอีกทำให้ถึงตายได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องทราบวิธีการช่วยหายใจง่ายๆ สำหรับช่วยผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งอาจเนื่องมาจาก การจมน้ำ มีสิ่งแปลกปลอมเข้าคอหรือหลอดลม ถูกไฟฟ้าช๊อตหรือฟ้าผ่า ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก บริเวณทางเดินหายใจ เป็นต้น โดยการผายปอดช่วยหายใจ สามารถกระทำได้หลายวิธีดังนี้
1. การช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าปาก
ให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางศีรษะให้ต่ำกว่าไหล่เล็กน้อย และให้แหงนศีรษะไปข้างหลังเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ทางเดินหายใจของผู้ป่วยโล่ง ลิ้นมามาจุกที่คอหอย ใช้มือหนึ่งบีบจมูกของผู้ป่วย ใช้นิ้วหัวแม่มือของอีกมือหนึ่งแหย่เข้าไปในปากผู้ป่วยเพื่อดึงคางให้อ้าออก หายใจเข้าลึก ๆ อ้าปากให้กว้าง ๆ เอาปากประกอบกับปากผู้ป่วยให้แน่นแล้วเป่าลมเข้าไปในปากผู้ป่วย ดูว่าหน้าอกผู้ป่วยพองขึ้นหรือไม่ ถ้าพองขึ้นแสดงว่าลมเข้าไปในปอดได้ดี ถอนปากที่ประกบออกเพื่อให้ผู้ป่วยได้หายใจออกเอง เมื่อผู้ป่วยหน้าอกยุบลง ก็เป่าลมเข้าไปในปากผู้ป่วยอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ประมาณ 15-20 ครั้ง ต่อนาทีจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง ระหว่างปฏิบัติให้ศีรษะผู้ป่วยแหงนไปข้างหลังตลอดเวลา
2. การช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าจมูก
ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเช่นเดียวกับวิธีช่วยหายใจด้วยวิธีเป่าปาก แต่ใช้มือข้างหนึ่งดันคางผู้ป่วยให้ปากปิดสนิท หายใจเข้าลึก ๆ เอาปากประกบลงไปบนจมูกผู้ป่วยให้แนบสนิท แล้วเป่าลมเข้าไป ดูว่าหน้าอกผู้ป่วยพองขึ้นหรือไม่ ถ้าพองขึ้นแสดงว่าลมเข้าไปในปอดได้ดี ถอนปากออกแล้วให้มือจับคางผู้ป่วยให้อ้าออก เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจออกได้ทางปาก เมื่อผู้ป่วยหน้าอกยุบลง ก็เป่าลมไปทางจมูกเช่นเดิมอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เดอง
3. ในเด็กเล็กอาจใช้วิธีช่วยหายใจ
โดยเป่าลมเข้าไปทั้งทางปากและจมูก ประกบปากเข้ากับทั้งปากและจมูกของเด็ก
ขณะช่วยหายใจ ถ้าสังเกตเห็นท้องผู้ป่วยพองโตขึ้นแสดงว่ามีลมเข้าไปในกระเพาะด้วยให้ใช้ฝ่ามือกดลงตรงกลางช่องท้องเหนือต่อสะดือ เพื่อดันให้ลมออก จะทำให้การช่วยหายใจที่กำลังปฏิบัติอยู่ได้ผลดีขึ้น
4. การช่วยหายใจโดยใช้การยกแขนและกดทรวงอก
ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเช่นเดียวกับสองวิธีแรก พับแขนผู้ป่วยเข้าหากันไว้บนอก นั่งคุกเข่าอยู่เหนือศีรษะผู้ป่วย จับข้อมือผู้ป่วยทั้ง 2 ข้าง ข้างละมือ โย้ตัวไปข้างหน้าเหยียดแขนตรงกดลงไปตรงมือของผู้ป่วย ซึ่งจะเท่ากับกดทรวงอกของผู้ป่วยให้หายใจออกขับเอาน้ำออกมา แล้วโย้ตัวไปข้างหลังพร้อมกับจับแขนผู้ป่วยทั้ง 2 ข้างดึงแยกขึ้นไปข้างบนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จะทำให้ปอดผู้ป่วยขยายตัว ทำให้อากาศไหลเข้าไปได้ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง
5. การช่วยหายใจ โดยวิธีแยกแขนและกดหลัง
ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ให้แขนของผู้ป่วยทั้ง 2 ข้างพับเข้าหากัน หนุนอยู่ใต้คาง นั่งคุกเข่าอยู่เหนือศีรษะผู้ป่วย วางฝ่ามือลงบนหลังของผู้ป่วยใต้ต่อกระดูกสะบัก ข้างละมือ โดยให้หัวแม่มือมาจดกัน กางนิ้วมือทั้ง 2 ข้างออก โน้มตัวไปข้างหน้า แขนเหยียดตรงใช้น้ำหนักตัวกดลงบนแผ่นหลังของผู้ป่วย ซึ่งจะเท่ากับกดทรวงอกของผู้ป่วยให้หายใจออก ขับเอาน้ำ (ถ้ามี) ออกมาจากนี้ย้ายมือทั้ง 2 ข้างมาจับต้นแขนผู้ป่วยแล้วโย้ตัวกลับพร้อมกับดึงข้อศอกของผู้ป่วยมาด้วย จะทำให้ปอดผู้ป่วยขยายตัว ทำให้อากาศไหลเข้าไปได้ ทำเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปจนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง ถ้าการช่วยหายใจกระทำได้ถูกต้องดังกล่าว และหัวใจของผู้ป่วยยังเต้นอยู่ตลอดเวลาผู้ป่วยจะดูแดงขึ้น และอาจกลับมาหายใจได้เป็นปกติอีก