จาม เรื่องใกล้ตัวที่คุณคิดว่ารู้ดี?

จาม เป็นกลไกของร่างกายที่คนเราไม่สามารถควบคุมได้ สาเหตุของการจามได้แก่อาการแพ้ การติดเชื้อ การหยุดยาบางชนิด ฯลฯ การกลั้นจามอาจก่ออันตรายที่คุณคาดไม่ถึง
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
จาม เรื่องใกล้ตัวที่คุณคิดว่ารู้ดี?

การจาม (Sneezing) เป็นกลไกของร่างกายที่ขับอากาศออกจากทางเดินหายใจ ผ่านออกมาทางปากหรือจมูกอย่างรวดเร็ว

มักเกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในโพรงจมูก ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุโพรงจมูก

กลไกการจามถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามาในระบบทางเดินหายใจ

ทุกคนคงเคยสังเกตว่า การจามนั้นเกิดขึ้นได้อยู่บ่อยๆ ซึ่งมักเกิดร่วมกับอาการคันจมูก คัดจมูก และน้ำมูกไหล

แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า การจามนั้นมีกระบวนการที่ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมเวลาจามแล้วถึงมีน้ำมูกและน้ำตาไหลได้ การจามเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และอีกหลากหลายคำถามที่ต้องการคำตอบ หากกำลังสงสัยในเรื่องของการจามสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้

ทำไมคนเราถึงจาม?

การจาม เป็นกลไกหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง อนุภาคต่างๆ เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เข้ามาในโพรงจมูก

สิ่งแปลกปลอมต่างๆ เหล่านี้จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับสัมผัสที่อยู่ภายในเยื่อบุโพรงจมูก จากนั้นเซลล์ประสาทนี้จะส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal nerve) ไปยังสมองส่วนเมดัลลา (Medulla) ที่มีหน้าที่ควบคุมการหายใจ

เมื่อสมองส่วนเมดัลลาถูกกระตุ้นจนรับรู้ว่าว่ามีสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูก สมองส่วนนี้จะสั่งงานให้กล้ามเนื้อต่างๆ ในทางเดินหายใจทำงาน จึงเกิดการจามขึ้นมาได้

นอกจากนี้สมองส่วนเมดัลลายังไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำตาและของเหลวภายในโพรงจมูกอีกด้วย ผ่านระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic nervous system)

ดังนั้น เมื่อมีการจาม จึงอาจมีน้ำตาและน้ำมูกไหลไปพร้อมๆ กันได้

จากกระบวนการจามที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การจามเป็นการทำงานนอกอำนาจจิตใจ ไม่สามารถควบคุมได้

เมื่อเกิดการจามไม่ควรพยายามทำการกลั้นการจาม หรืออุดกลั้นทางเดินหายใจทั้งหมด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ

การจามเกิดจากสาเหตุอะไร?

การจามเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • การแพ้ (Allergy) เป็นสาเหตุของการจามที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดร่วมกับอาการคันจมูก คัดจมูก และน้ำมูกไหล
  • การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory infection) เช่น การติดเชื้อไวรัส หรือที่รู้จักกันว่าเป็นไข้หวัดทั่วๆ ไป
  • สิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง (Inhaling irritant) เช่น พริกไทย เครื่องแกงต่างๆ เป็นต้น
  • อากาศเย็นและความชื้นในอาการต่ำ
  • การหยุดใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid narcotic)

บรรเทาอาการจามด้วยตนเองได้อย่างไร?

สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการจามคือสิ่งกระตุ้นต่างๆ ดังนั้นอันดับแรกในการป้องกันการจามคือ การกำจัดสิ่งกระตุ้น เช่น

  • รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย
  • กำจัดตุ๊กตาและสิ่งที่ดักฝุ่นออกจากห้องนอน
  • เปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศ

นอกจากนี้ การเพิ่มความชื้นในอากาศและการล้างจมูกก็สามารถบรรเทาอาการจามได้ โดยการล้างจมูกที่ถูกวิธีนั้นทำได้โดยใช้ไซริงค์ (Syringe) ดูดน้ำเกลือ แล้วสอดปลายไซริงค์เข้าไปในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ก้มศีรษะลงเล็กน้อย กลั้นหายใจ แล้วฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกจนน้ำเกลือออกมาทางรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรือออกทางปาก จากนั้นสั่งน้ำมูกและน้ำเกลือออกทางจมูกทั้งสองข้าง บ้วนน้ำเกลือที่ไหลลงคอทิ้ง ทำตามขั้นตอนดังกล่าวซ้ำสลับกันทั้งสองข้าง 2-3 ครั้ง

การทำเช่นนี้จะช่วยล้างสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อยู่ในโพรงจมูกจึงช่วยลดอาการจาม รวมถึงอาการต่างๆ ที่เกิดจากการแพ้ได้

จามบ่อยๆ ต้องไปพบแพทย์ไหม จามแค่ไหนถึงเรียกว่าไม่ปกติ?

ไม่มีตัวเลขหรือความถี่ที่บ่งบอกชัดเจนว่าการมีจำนวนการจามเท่าไรถึงจะผิดปกติ แต่หากมีการจามมากจนรบกวนชีวิตประจำวันและการทำงานต่างๆ โดยที่ลองบรรเทาอาการจามด้วยวิธีต่างๆ แล้วไม่ได้ผล แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาที่เหมาะสม

การกลั้นจามอันตรายหรือไม่ อย่างไร?

บางคนอาจมีพฤติกรรมที่ชอบทำการกลั้นไม่ให้จามด้วยวิธีต่างๆ เนื่องจากอายหรือไม่ต้องการส่งเสียงดังรบกวนบุคคลรอบข้าง โดยที่ไม่รู้ว่าการกลั้นจามนั้นเป็นอันตราย

เนื่องจากโดยปกติแล้วการจามจะมีแรงดันอากาศจำนวนมากขับสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ออกจากทางเดินหายใจ ความดันอากาศที่สูงนี้ เมื่อทำการอุดกลั้นไม่ให้อากาศออกมาโดยการปิดปากปิดจมูกอย่างสนิท อากาศที่ไม่สามารถออกมาได้นี้จะดันภายในผนังของทางเดินหายใจส่วนต่างๆ

ซึ่งทางเดินหายใจจะมีการเชื่อมต่อไปยังหู ตา และสมองได้อีกด้วย

ดังนั้นการกลั้นการจามจึงทำให้เป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ได้ เช่น แก้วหูทะลุ ความดันในกระบอกตาสูงขึ้น ปอดรั่ว ทางเดินหายใจฉีกขาด เป็นต้น

เมื่อมีอาการจาม แนะนำให้นำมือหรือผ้าเช็ดหน้ามาปิดปาก แต่ไม่ควรอุดกลั้นไม่ให้ลมออกมาเลย หรืออาจทำการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายที่เกิดจากการจามแพร่กระจายไปในอากาศ เนื่องจากอาจเป็นการกระจายเชื้อโรคไปสู่บุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลที่อยู่รอบข้างได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Stuart I. Henochowicz, Sneezing (https://medlineplus.gov/ency/article/003060.htm), 17 April 2018.
Jenna Fletcher, What to do when you can't stop sneezing (https://www.medicalnewstoday.com/articles/321305.php), 24 March 2018.
Carmella Wint, Everything You Need to Know About Sneezing (https://www.healthline.com/health/sneezing), 19 July 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)