ลูกจากวัยแรกเกิด จนเข้าสู่ปฐมวัย (6 ขวบแรก) นั้น ลูกของเราจะมีการพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่รวดเร็วมาก หากเราสามารถช่วยเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ถูกต้อง เหมาะสมตามวัยของเค้าได้ละก็ จะทำให้ลูกของเราเป็นเด็กที่มีความประพฤติดี มีความฉลาดทางด้านอารมณ์สูง
โดยพื้นฐานของเด็กตั้งแต่แรกเกิดนั้น ลูกของเราจะมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง เพราะลูกยังไม่รู้จัก "กลัว" หรือ "ถูก ผิด" นั้นเอง เซลล์สมองของลูกในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 ขวบแรกนั้นจะมีการพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ลูกจะสามารถรับรู้และเก็บสิ่งที่ตัวเองได้รับมาเป็นประสบการณ์ที่ฝังลงไปในจิตใจ ยิ่งเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีมากเท่าไร โตขึ้นลูกก็จะยิ่งเติบโตเป็นเด็กที่ดีมากเท่านั้น
เราสามารถช่วยเสริมการพัฒนาการต่างๆ ให้ลูกได้ 4 ทางดังนี้
1. ให้ลูกได้เห็นในสิ่งที่ดี
ลูกของเรา (แม้ว่าจะเพิ่งแรกเกิดก็ตาม) สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองเห็นได้ การมองเห็นนี้หมายรวมถึงการกระทำบางอย่างของพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูที่กระทำต่อตัวเองและกระทำต่อตัวลูกของเราด้วย โดยการกระทำต่างๆ ที่เด็กเห็นนั้น เด็กจะยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ แต่เด็กจะซึมซับในสิ่งที่เห็นทั้งหมดแล้วสุดท้ายจะกลายเป็นพฤติกรรมของลูกเอง เช่น เด็กที่เห็นพ่อแม่ชอบร้องเพลง อารมณ์ดี หรือเล่นดนตรี เมื่อลูกเติบโตขึ้น ลูกก็จะมีความรักในดนตรี มีจิตใจอ่อนโยน หรือกรณีที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ชอบกินผัก เมื่อเด็กโตขึ้นเด็กก็มักจะไม่กินผักไปด้วย
2.ให้ลูกได้ยินในสิ่งที่ดี
คำพูดที่ดี น้ำเสียงที่อ่อนโยน เด็กทารกแรกเกิดสามารถรับรู้ได้ โดยเฉพาะเด็กในช่วงปฐมวัย (แรกเกิด - 6 ขวบ) เด็กจะตั้งใจฟังและมีความรู้สึกไวต่อเสียงต่างๆ หากใครที่เคยเลี้ยงลูกมาก่อน เมื่อลูกอายุประมาณ 3-4 เดือนจะพบว่าเวลาที่เราอุ้มลูกแล้วพูดคุยกับลูก ลูกจะทำปากขมุบขมิบ ดวงตาจะจ้องตรงมายังหน้าพ่อหรือแม่ที่อุ้มเขาอยู่ เขาจะตั้งใจฟังเสียงต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อตัวเขานั้น ดังนั้นเสียง คำพูดต่างๆ ที่ไม่ดี โดยเฉพาะคำสบถ คำด่า ซึ่งมักจะเป็นคำที่สั้นๆ (1 - 2 พยางค์) จะเป็นคำที่เด็กวัยปฐมวัยสามารถจดจำได้ง่าย ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกพูดจากก้าวร้าว พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูก็ต้องระวังอย่าใช้คำพูดที่ไม่ดีให้เด็กได้ฟัง อย่าคิดว่าลูกยังเล็กอยู่ยังฟังไม่รู้เรื่อง เพราะเด็กจะจดจำลักษณะการออกเสียงสั้นๆ เหล่านั้นและพูดออกมาโดยไม่รู้ความหมาย ซึ่งกว่าพ่อแม่จะรู้ว่าลูกของตัวเองติดพูดคำด่า คำก้าวร้าว ก็อาจจะแก้ไขได้ยาก
3. ให้ลูกเล่นและมีกิจกรรมดีๆ
เด็กในช่วงปฐมวัยจะห่วงเล่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็ก พ่อแม่ที่เข้าใจในพัฒนาการของลูกก็จะสามารถหากิจกรรม หรือการเล่นที่สอดคล้องกับแต่ละช่วงอายุของลูกได้ นอกจากนั้นการเล่นของเด็กนั้นจะเป็นการเรียนรู้ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างดี
4. ให้การอบรมสั่งสอนลูกตั้งแต่เล็ก
เด็กในช่วงปฐมวัยมีความอยากรู้อยากเห็นตลอด เด็กจะมีความกระตือรือล้นในการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ดังนั้นการอบรมสั่งสอนเป็นสิ่งจำเป็น โดยการสอนนั้นควรจะเป็นการสอนในลักษณะอธิบาย ไม่ใช่การสั่งหรือห้าม แม้ว่าเด็กในวัยนี้จะยังไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่อธิบายได้ทั้งหมด แต่การอธิบายให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก หรือปล่อยให้เขาได้ลองเองกับตัวเอง (กิจกรรมนั้นต้องไม่เป็นอันตราย) แล้วพ่อแม่คอยชี้แนะว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้อย่างรวดเร็วกว่าการสั่งสอนแบบใช้คำพูดอย่างเดียว เช่น การสอนลูกให้แปรงฟัน โดยใช้วัสดุแบบจำลองฟันปลอม ให้ลูกได้หัดถือแปรงสีฟันเอง พ่อแม่ชี้แนะว่าเหตุใดต้องแปรงฟัน เหตุใดต้องจับด้ามแปรงสีฟันแบบนี้ ขยับมืออย่างไร เป็นต้น