เรื่องการนอนหลับของทารกนั้นพ่อแม่มือใหม่หลายๆ คู่อาจจะมองข้ามความสำคัญ หรืออาจจะเข้าใจผิด คิดเอาเองว่าเด็กแรกเกิดกับผู้ใหญ่นั้นก็น่าจะนอนเหมือนๆ กัน หรืออาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้นคงจะไม่มีอะไรที่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ทำให้หลายๆ ครั้งที่พ่อแม่มือใหม่ต้องปวดหัวในเรื่องการนอนของลูกน้อย เพราะไม่ได้เตรียมแผนรับมือเอาไว้ก่อน ทำให้ต้องตื่นนอนมากลางดึกเพราะเสียงร้องโยเยของลูกน้อย วันนี้มาเตรียมตัวและทำความเข้าใจกันดีกว่าว่าการนอนของลูกน้อยของคุณจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
1. ทำไมทารกแรกเกิดชอบนอนทั้งวัน
ปกติแล้วทารกแรกเกิดจะไม่นอนเกินความต้องการของร่างกายของเขา นั่นหมายความว่าถ้าเขานอนอิ่มแล้วเขาจะตื่นนอนเอง โดยเฉลี่ยทารกแรกเกิดจะนอนเฉลี่ยวันละ 14-17 ชั่วโมง และจะค่อยๆ ปรับลดลงเหลือประมาณ 12-15 ชั่วโมงต่อวันเมื่ออายุ 4-11 เดือน 11-14 ชั่วโมงต่อวันเมื่ออายุ 1-2 ปี 10-13 ชั่วโมงต่อวันเมื่ออายุ 3-5 ปี 9-11 ชั่วโมงต่อวันเมื่ออายุ 6-13 ปี 8-10 ชั่วโมงต่อวันเมื่ออายุ 14-17 ปี 7-9 ชั่วโมงต่อวันเมื่ออายุ 18-25 ปี แต่นี่คือค่าเฉลี่ยเท่านั้น เด็กบางคนอาจจะนอนมากหรือน้อยกว่านี้ได้
2. ทำไมทารกแรกเกิดชอบตื่นขึ้นมากลางดึก
เด็กแรกเกิดยังไม่รู้จักกลางวันกลางคืน บางคนก็มักจะตื่นตามเวลาที่คุณแม่เคยนอนสมัยเมื่อยังตั้งท้อง เพราะว่าสมัยเมื่อตั้งท้อง เมื่อคุณแม่เริ่มเข้านอน เด็กในท้องจะสามารถยืดเหยียด ขยับขาแขนได้ ในขณะที่ในเวลาปกติที่คุณแม่ตื่นนั้นคุณแม่ขยับตัวไปกับกิจกรรมประจำวัน ก็เหมือนกับการไกวเปลให้ลูกหลับ พอคุณแม่เริ่มนอน จึงเหมือนการหยุดไกวเปลให้ลูก เด็กจึงตื่นขึ้นและเริ่มขยับแขนขา
3. ทำไมทารกแรกเกิดมักจะตื่นง่ายกว่าเด็กอายุ 1 ปี
เนื่องจากว่าเด็กทารกแรกเกิดเมื่อนอนหลับมักจะหลับในระดับหลับตื้น หรือในทางการแพทย์เรียกช่วงนี้ว่า REM (Rapid Eye Movement ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกตากรอกไปมา) จะเป็นช่วงที่ร่างกายยังสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ได้ ทำให้เด็กทารกหลายคนมักจะตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงดัง แต่เด็กหลายคนก็สามารถหลับต่อได้ง่าย โดยที่ไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ให้มาอุ้มแต่อย่างใด และเมื่อเด็กมีอายุ 2 เดือนขึ้นไปก็มักจะสามารถหลับต่อได้เอง
หากคุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักธรรมชาติการนอนของลูก การเตรียมความพร้อมต่างๆ ก็จะง่ายมากขึ้น จริงๆ คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการนอนของลูกมีมากกว่า 3 คำถาม แต่เราคัดเฉพาะคำถามที่ได้รับการถามบ่อยมากที่สุดก่อน ส่วนคำถามอื่นๆ คอยติดตามในบทความต่อๆ ไป