ลูกชอบโกหก เกิดจากสาเหตุอะไร พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี?

ค้นหาสาเหตุ ทำไม่ลูกชอบโกหก คุณพ่อคุณแม่เองมีส่วนเกี่ยวข้องไหม จะช่วยลูกให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร และหากไม่รีบแก้ไข จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต?
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลูกชอบโกหก เกิดจากสาเหตุอะไร พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี?

เมื่อลูกเริ่มพูดเก่ง สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้น บางทีก็จะคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจกำลังฟังเรื่องที่ลูกแต่งขึ้นมา

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าสิ่งที่ลูกพูดอยู่นั้นไม่เป็นความจริง หรือเป็นเรื่องโกหก บางครั้งไม่ได้ใส่ใจกับคำพูดเหล่านั้น หรืออาจลงโทษว่ากล่าว จนทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าได้

ทำไมลูกถึงชอบโกหก?

อายุก่อน 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ลูกช่างพูดคุย ช่างเจรจา และมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ในเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องราวที่จินตนาการกับเรื่องราวที่เป็นความจริงออกจากกันได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นบ่อยครั้งเด็กจึงจะเล่าหรือพูดเรื่องราวต่างๆ เหมือนกับการสร้างเรื่องขึ้นมา จนทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกกำลังโกหกตนอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกโตขึ้นก็มักจะแยกแยะเรื่องราวต่างๆ ว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องจริง สิ่งไหนเป็นเรื่องสมมติ หากลูกแต่งเรื่องพูดหรือพูดโกหกอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายอาจนำมาซึ่งนิสัยชอบโกหกหลอกลวงได้

นอกจากนี้ในวัยเด็กเล็ก ความสามารถในการแยกแยะระหว่างการรับรู้ของตนและการรับรู้ของผู้อื่น หรือมี Theory of Mind นั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเข้าอกเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกและความคิดของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง จึงทำให้เด็กมีโอกาสที่จะโกหกได้มากขึ้น

ลูกโกหกนั้นเป็นเพราะอะไร?

บางครั้งที่เด็กๆ พูดไม่จริง จนรู้พ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกชอบโกหก อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้

1. ลูกโกหกเพราะรู้สึกผิด

มีหลายเหตุการณ์หรือหลายปัจจัยที่สามารถทำให้เด็กโกหกได้

บ่อยครั้งโดยเฉพาะเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจและได้รับการดูแลมาก จะเลือกใช้การโกหกเพื่อไม่ทำให้คนที่ตนเองรักหรือคาดหวังกับตนเองเสียใจ

หากเด็กถูกเลี้ยงดูแบบควบคุมใช้อำนาจ คุณพ่อคุณแม่มักลงโทษดุด่าบ่อยครั้ง เด็กก็จะใช้การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษ

นอกจากนี้เด็กอาจจะใช้การโกหกเพื่อเป็นเกราะกำบังให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูยังคงเลี้ยงดูแบบตามใจและใส่ใจตนแบบเดิม

หลายๆ ครั้งพ่อแม่ของลูกที่โกหกก็มักจะมีความหวังว่าลูกจะพูดแต่ความจริง ดังนั้นลูกก็จะใช้การโกหกเพื่อรักษาภาพพจน์ของตนเอง

ในเด็กหลายๆ คน เมื่อไปโรงเรียน หากพบว่าตนเองทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่ได้หรือทำงานไม่เสร็จ ก็อาจโกหกว่าตนทำได้หรือทำเสร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนทำโทษด้วย

2. ลูกโกหกเพื่อหลบหนีความผิดพลาด

คุณพ่อคุณแม่ควรนึกไว้เสมอว่า ภายใต้การโกหกของลูกนั้นมีบางสิ่งซ่อนอยู่ การหลบหนีจากความผิดพลาดและการทำให้พ่อแม่รู้สึกผิดหวังในตนเองเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กโกหกได้

มีการศึกษาว่าคุณพ่อคุณแม่ที่แสดงความโกรธต่อลูกอย่างรุนแรง ลงโทษ ดุด่าหรือตีเมื่อลูกโกหก จะยิ่งสิ่งผลให้ลูกโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

3. ลูกโกหกเพราะถูกสอนให้โกหก

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูก็เป็นคนทำให้เด็กเกิดความสับสน ว่าเมื่อใดควรพูดความจริง เมื่อใดควรโกหก

หรือบางครั้งก็สอนและเป็นตัวอย่างในการโกหกเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกดี ไม่รู้สึกเจ็บปวดเสียใจ หรือโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อบอกปฏิเสธสถานการณ์ต่างๆ ที่รู้สึกว่ายาก ไม่อยากทำ โดยการกระทำดังกล่าวเรียกว่าเป็นการโกหกโดยมีเจตนาดี (White lie)

สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เด็กเรียนรู้ว่าการโกหกเป็นสิ่งดีได้ เช่น ลูกมีงานกีฬาสีที่โรงเรียน แต่วันนั้นแดดร้อนจัด คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงกลัวลูกไม่สบายจึงโกหกบอกคุณครูว่าลูกปวดท้อง จึงไม่ได้ไปร่วมงาน

อะไรที่ส่งเสริมให้ลูกชอบโกหก?

นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว สิ่งต่อไปนี้อาจส่งเสริมให้ลูกชอบโกหกมากขึ้น

  1. ลักษณะการเลี้ยงดูแบบใช้ควบคุมใช้อำนาจ เข้มงวด วางกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างเคร่งครัด
  2. ความสามารถทางภาษาที่ดีในการเล่าเรื่องราว
  3. ความต้องการที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่

พ่อแม่ควรรับมือกับปัญหาลูกชอบโกหกอย่างไร?

เมื่อทราบรู้ว่าลูกโกหก สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือบอกให้ลูกทราบว่าเรารู้ว่าลูกกำลังโกหกอยู่ หลีกเลี่ยงการลงโทษโดยใช้ความรุนแรง พูดคุยกับลูกโดยแสดงท่าทีอ่อนโยน เข้าใจ และมีความจริงใจต่อกัน เช่น

“แม่ต้องการให้หนูพูดความจริง และแม่จะพูดความจริงกับหนูเช่นกัน เพราะเชื่อใจกันและกันนะจ๊ะ”
“หนูจะรู้สึกดีขึ้น ถ้าหนูบอกความจริงกับพ่อแม่แทนการโกหก”

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องตระหนักเสมอว่าท่าทีที่แสดงออกและคำพูดของตนในการพูดเรื่องจริง จะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดสู่ลูกให้เรียนรู้เรื่องของความเป็นจริงและความผิดชอบชั่วดี

ดังนั้นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะรับมือกับลูกชอบโกหก จึงได้แก่

  1. เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกเรื่องความซื่อสัตย์
  2. สร้างความไว้วางใจแก่กัน
  3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก
  4. ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบ
  5. ชมเชยเมื่อลูกทำดีและมีความซื่อสัตย์
  6. สอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีของคนในสังคม

หากลูกโกหกแล้วปล่อยไว้ จะส่งผลเสียต่อตัวลูกเองอย่างไร?

มีการศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมการโกหกของเด็กตั้งแต่อายุ 1-3 ปีขึ้นไป พบว่าสัมพันธ์กับพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและสังคมของเด็ก

พฤติกรรมนี้จะค่อยๆ ถูกพัฒนาและปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมจริยธรรมประจำตัว

และยังพบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมโกหกซ้ำๆ จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาอื่น ๆ เมื่อโตขึ้น เช่น ขาดความน่าเชื่อถือจากบุคคลรอบข้าง ไม่มีเพื่อน มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า หากเด็กโกหกซ้ำๆ จะมีพัฒนาการที่ไม่ดีในด้านความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขาดการควบคุมตนเอง และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม

เมื่อไหร่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือ?

เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกชอบโกหก และได้ทำความเข้าใจรวมถึงให้ความช่วยเหลือดังคำแนะนำข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล คุณแม่คุณแม่อาจพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา โดยเฉพาะหากลูกมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  1. ลูกโกหกซ้ำ ๆ
  2. ลูกขโมยของ หนีโรงเรียน
  3. ลูกทำร้ายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น

หรือจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูกังวล ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมโกหกของลูกได้ ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Journal of Experimental Child Psychology, Influence of social factors on the relation between lie-telling and children’s cognitive abilities (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28314137), 15 March 2017.
Advances in Child Development and Behavior, From little white lies to filthy liars: the evolution of honesty and deception in young children (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21887961), 9 July 2011.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)