ลูกชอบถาม ลูกขี้สงสัย ถามย้ำซ้ำๆ เป็นเพราะอะไร?

รับมืออย่างไรเมื่อลูกชอบถาม แม้จะตอบแล้วก็ยังถามคำถามซ้ำๆ และในทางกลับกันหากลูกเงียบๆ ไม่ค่อยถามอะไร จะผิดปกติไหม ควรดูแลอย่างไรให้สมกับวัยของลูก?
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ลูกชอบถาม ลูกขี้สงสัย ถามย้ำซ้ำๆ เป็นเพราะอะไร?

การที่ลูกเป็นเด็กชอบถาม ขี้สงสัย คอยถามคำถามต่างๆ กับผู้เลี้ยงดูนั้นเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในวัยเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 3 ปี เป็นต้นไป

บางครั้งเด็กอาจจะถามเกี่ยวกับเรื่องรอบๆ ตัว เช่น หนูเกิดมาได้อย่างไร ทำไมนกถึงบินได้ คำถามบางคำถามเด็กอาจจะถามซ้ำๆ แม้ผู้เลี้ยงดูจะเคยบอกคำตอบไปแล้วก็ได้

ทำไมเด็กถึงชอบถามคำถาม ขี้สงสัย?

การถามคำถามเป็นหนึ่งในความสามารถทางภาษาของเด็ก โดยเด็กที่มีพัฒนาการของภาษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีคำศัพท์หลายพันคำในสมอง ก็จะสามารถพูดสื่อสาร เล่าเรื่องเป็นประโยคได้ และสามารถเข้าใจภาษาที่ผู้เลี้ยงดูสื่อสารกับตน

เด็กจะเริ่มนำคำศัพท์เหล่านั้นมาเชื่อมโยงและพัฒนาความซับซ้อนกลายเป็นประโยคมากขึ้น เด็กจะเริ่มพูดเป็นประโยค 3 ถึง 5 คำได้ และถามคำถาม อะไร ทำไม

จนเมื่อเด็กโตขึ้น สามารถเข้าใจภาษาที่ซับซ้อนมากขึ้น บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ เด็กก็จะเป็นผู้ตอบคำถามได้เอง

คำถามต่างๆ ของเด็กจะเริ่มซับซ้อนมากขึ้นตามช่วงอายุ โดยมีอายุเฉลี่ยดังต่อไปนี้

  • อายุ 21-24 เดือน เด็กสามารถถามคำว่า “นั่นอะไร”
  • อายุ 25-28 เดือน เด็กจะถามคำถามร่วมกับใช้น้ำเสียงสูงต่ำ มีอารมณ์ร่วมด้วย
  • อายุ 26-32 เดือน เด็กจะถามประโยคคำถามเกี่ยวกับ “ที่ไหน” เช่น ปากกาอยู่ที่ไหน
  • อายุ 36-40 เดือน เด็กจะถามประโยคคำถามเกี่ยวกับ “ใคร” เช่น ใครวาดรูป
  • อายุ 37-42 เดือน เด็กจะถามประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่” เช่น เล่นเกมส์ได้มั๊ย ถึงเวลาหยุดพักหรือยัง
  • อายุ 42-49 เดือน เด็กจะถามประโยคคำถามเกี่ยวกับ “เมื่อไหร่” “ทำไม” “อย่างไร” ได้

ทำไมเด็กบางคนชอบถาม ขี้สงสัย ทำไมเด็กบางคนเงียบไม่ค่อยถามคำถาม?

เด็กทุกคนมีความสงสัยอยากรู้เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การแสดงออกทางภาษาของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันไป

เด็กบางคนเป็นเด็กช่างพูดช่างเจรจา ผู้เลี้ยงดูชี้ชวนให้เด็่กช่างสังเกตและคอยถามคำถามต่างๆ กับเด็ก เด็กก็จะเรียนรู้ในการสร้างคำถาม และคิดประโยคคำถามเพื่อถามความสงสัยของตนเองได้

สำหรับเด็กบางคนที่เป็นเด็กช่างสังเกต ชอบเก็บข้อมูล แม้อาจจะไม่ค่อยพูด แต่สามารถสื่อสารประโยคต่างๆ กับผู้เลี้ยงดูได้ กรณีนี้อาจแสดงว่าเด็กเพียงขาดความมั่นใจในการเริ่มถามคำถามเท่านั้น

เวลาลูกถามคำถาม ผู้เลี้ยงดูควรทำอย่างไร?

การรับฟังทุกคำถามของลูก จะทำให้เห็นถึงมุมมอง ความคิด และทักษะทางภาษาที่สำคัญของเด็ก

คำถามบางคำถามอาจจะหาคำตอบได้ยาก หรือผู้เลี้ยงดูไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร ขอแนะนำว่าการตอบคำถามสำหรับเด็กให้เลือกใช้คำพูดที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และตรงกับระดับความเข้าใจของลูก

นอกจากนี้การถามคำถามลูกกลับ เช่น "หนูคิดว่าทำไมพี่ๆ ถึงได้รับรางวัลล่ะ" จะเป็นการพัฒนาความคิดและฝึกให้เด็กลองแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วย

ตัวอย่างแนวคำถามและคำตอบที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูสามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่น

  • หนูเกิดมาได้อย่างไร...ผู้เลี้ยงดูอาจตอบว่า หนูเกิดมาเพราะความรักของพ่อกับแม่จ้ะ
  • ทำไมนกถึงบินได้...ผู้เลี้ยงดูอาจตอบว่า เพราะนกมีปีก จึงบินได้จ้ะ

หากคำถามไหน ผู้เลี้ยงดูไม่สามารถตอบคำถามได้ ไม่ควรดุด่าหรือว่าเด็ก หากเด็กยังถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ วิธีการแก้ปัญหาอาจเลือกใช้คำพูดว่า "เดี๋ยวพ่อกับแม่จะลองไปหาคำตอบ แล้วจะมาบอกหนู" หรือชวนกันไปหาคำตอบที่สงสัย เพื่อต่อยอดความรู้เพิ่มเติม

ผู้เลี้ยงดูควรตอบคำถามอย่างไรเพื่อพัฒนาทักษะของลูก?

มีคำแนะนำในการตอบคำถามเด็กวัยช่างสงสัย ช่างซัก ช่างถาม ดังต่อไปนี้

  • เสนอโอกาสและให้เด็กได้ลงมือทำในสิ่งที่สงสัย
  • แนะนำวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาที่เด็กถาม
  • ถามคำถามกลับเพื่อให้เด็กลองตอบ โดยเฉพาะในเด็กอายุมากกว่า 30 เดือน

ผู้เลี้ยงควรทำอย่างไรเพื่อให้เด็ก "ตั้งคำถาม" มากขึ้น?

เพื่อกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม ผู้เลี้ยงดูอาจปฏิบัติดังนี้

  • ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่สนใจ โดยมีผู้เลี้ยงดูคอยอยู่ข้างๆ
  • จัดของเล่นที่เด็กสนใจเพื่อให้เด็กเล่น และต่อยอดความรู้จากสิ่งที่เล่น
  • ผู้เลี้ยงดูอ่านหนังสือร่วมกันกับเด็ก
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นผู้ถามคำถามคนอื่นๆ เพิ่มเติม
  • หากิจกรรมหรือเกมที่ส่งเสริมให้เด็กได้คิดว่า "อย่างไร" และ "ทำไม" เช่น "ต่อจากไฟแดง แล้วเป็นไฟอะไรนะ แล้วถ้าไฟเขียวเราจะทำอย่างไร?" หรือ "ถ้าบ้านเราไฟดับ แล้วอากาศร้อน หนูคิดว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างจ๊ะ?"

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย
WebMD, 3-to 4-Year old developmental milestone (https://www.webmd.com/parenting/3-to-4-year-old-milestones#1), 20 October 2018.
ZerotoThree, Using questions to support your child's learning (https://www.zerotothree.org/resources/219-using-questions-to-support-your-child-s-learning), 20 February 2011.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)