ปัญหาเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนเป็นปัญหาที่พบได้ไม่น้อย โดยพบได้ 1-2% ในเด็กวัยเรียนทั่วไป และ 5% ในกลุ่มเด็กที่ถูกส่งตัวมารักษาที่แผนกจิตเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี พบได้เท่าๆ กันในเด็กเพศชายและเพศหญิง โดยอาการอาจเริ่มต้นแบบค่อยเป็นไปหรือแบบฉับพลันก็ได้ พบได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่น โดยช่วงอายุ 5-6 ปี มักพบเป็นอาการแบบฉับพลันและไม่รุนแรง ส่วนช่วงอายุ 10-11 ปีจะมาด้วยอาการเรื้อรังและรุนแรง
ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน ยังสามารถพบร่วมกับโรคทางจิตเวชได้หลายชนิด และถือว่าเป็นภาวะเร่งด่วนทางจิตเวชเด็ก เนื่องจากการนำเด็กกลับสู่โรงเรียนจะยากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่หยุดเรียน บางรายอาจหยุดเรียนยาวนานเป็นปี ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวเป็นอย่างมาก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการแสดงของภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน
อาการที่เด็กแสดงออก มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง โดยอาจเริ่มจากบ่นไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ยอมลุกจากเตียง ไม่ยอมแต่งตัวไปเรียน ร้องไห้บ่นไม่อยากไปเรียน เมื่อไปถึงโรงเรียนแล้วก็ไม่อยากอยู่จนครบทั้งวัน อาจมีการโทรศัพท์ให้ผู้ปกครองมารับกลับ หรือมีพฤติกรรมและอารมณ์แบบเด็กเล็กที่โรงเรียน เช่น ปรับตัวไม่ได้ในเรื่องเล็กน้อย มีปัญหากับเพื่อน ไม่สนใจเรียน มัวแต่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เช่น เปลี่ยนแปลงครูผู้สอน
ในเด็กบางรายอาจแสดงอาการกลัวอย่างมาก หรือกังวลมากในเรื่องที่ไม่มีเหตุผล มักพบร่วมกับอารมณ์เศร้าได้ บางคนจะปฏิเสธ ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือหาเหตุผลมาอ้างเพื่อไม่ต้องไปเรียน ไปจนถึงอาละวาดโวยวาย ด่าทอ ทำร้ายร่างกายผู้ปกครอง ที่พยายามจะพาไปโรงเรียน เป็นต้น
โดยสรุป จะมีลักษณะอาการที่เข้าได้กับภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School refusal) ในลักษณะดังนี้
- มีปัญหาในการไปเรียนจนส่งผลให้มีการขาดเรียนเป็นระยะเวลานาน
- มีปฏิกิริยาอารมณ์รุนแรงเมื่อจะต้องไปโรงเรียน เช่น อาละวาด ร้องไห้ก้าวร้าว หวาดกลัว รวมถึงอาจมีอาการทางกายที่ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น ปวดท้องปวดหัว เจ็บคอ ทุกครั้งที่จะต้องไปเรียน และอาการเหล่านี้มักหายไปเมื่อกลับมาบ้านและกลับเป็นใหม่ในวันรุ่งขึ้น
- ช่วงเวลาเรียน เด็กมักจะอยู่ที่บ้านกับผู้ปกครองและไม่ได้พยายามปกปิดเรื่องการไม่ไปเรียนจากการรับรู้ของผู้ปกครอง
- ไม่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมเช่นโกหกลักขโมยรังแกคนอื่น ซึ่งจะแตกต่างจากการหนีเรียน โดยการหนีเรียน คือเด็กไม่ปฏิเสธที่จะไปเรียน แต่ช่วงเวลาเรียน เด็กมักจะอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่ที่บ้าน และปกปิดเรื่องนี้จากผู้ปกครอง รวมถึงมักมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมเช่นก้าวร้าว ไม่รับผิดชอบ โกหก ขโมยของ เป็นต้น
สาเหตุของการไม่ยอมไปโรงเรียน
สาเหตุที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนมีหลายอย่าง อาจสังเกตพบได้หลังจากเด็กออกจากบ้านเป็นเวลาช่วงหนึ่ง เช่น ไปพักผ่อนในวันหยุด มีการเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือหลังจากเหตุการณ์รุนแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น ย้ายบ้าน มีคนสำคัญหรือสัตว์เลี้ยงเสียชีวิต เป็นต้น
เด็กช่วงวัยอนุบาลมักมีความกังวลเกี่ยวกับการพลัดพราก จากคนที่รัก หรือกลัวความปลอดภัยของผู้ปกครองหรือตัวเอง อาจมีอาการกลัวอยู่คนเดียวกลัวความมืด หรือในบางคนก็มีฝันร้าย ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดได้มากในเด็กที่มีบุคลิกภาพพื้นฐานแบบวิตกกังวลง่าย หรือได้รับการเลี้ยงดูปกป้องมากเกินไป ต้องแยกภาวะนี้จากอาการวิตกกังวลจากการพลัดพราก ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ปกติในเด็กอายุ 1-4 ปี
ในเด็กวัยเรียน คือ ช่วงประถมจนถึงก่อนวัยรุ่น การไม่ยอมไปโรงเรียนอาจมีสาเหตุจากการเข้ากับเพื่อนไม่ได้ มีปัญหาการเรียนหรือถูกทำโทษรุนแรง ที่โรงเรียน ทำให้อับอาย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ในวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้าหรืออาการของโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคจิตเภทหรือเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะเก็บตัว ไม่ไปโรงเรียนได้เช่นกัน
ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน?
การดูแลช่วยเหลือภาวะเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนนั้น ต้องได้รับการประเมินให้ครบทุกฝ่าย ด้วยจุดประสงค์คือ การพาเด็กกลับสู่โรงเรียนโดยเร็วที่สุด เนื่องจากยิ่งปล่อยให้ขาดเรียนนานเท่าใดก็จะยิ่งรักษายากขึ้น นอกจากนี้เมื่อเด็ก กลับไปเรียนบทเรียนที่ตามไม่ทัน ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เด็กไม่อยากไปเรียน และเมื่อขาดเรียนนานๆ ก็จะกลายเป็นจุดสนใจของเพื่อนและครู ซึ่งมีผลต่อการปรับตัวตามมา
ท่าทีของผู้ปกครองที่หนักแน่นในการยืนยันว่าเด็กจะต้องไปโรงเรียน และความร่วมมือจากคุณครูในการดูแลเด็ก ตั้งแต่วันแรกที่กลับไปเรียน เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพาเด็กกลับสู่โรงเรียน
เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน ผู้ปกครองควรนำเด็ก เข้ารับการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รับการประเมินในด้านต่างๆ ดังนี้
- การประเมินตัวเด็ก เด็กควรได้รับการตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคทางกายร่วมด้วย รวมทั้งควรได้รับการประเมินสุขภาพจิต เพื่อตรวจสภาวะทางอารมณ์ ตรวจหาสาเหตุที่มากระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเจ็บป่วย ย้ายสถานที่อยู่ มีน้องใหม่
- การประเมินครอบครัว หลายครั้งพบว่าเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนอาจเกิดจากปัญหาของพ่อแม่ โดยลักษณะครอบครัวและการเลี้ยงดูที่พบว่ามีปัญหามากที่สุดคือ ครอบครัวที่มีความขัดแย้ง เช่นกรณีที่พ่อแม่กำลังจะหย่าร้างกัน หรือทะเลาะกันบ่อย เมื่อเด็กไม่ยอมไปโรงเรียน พ่อแม่จึงยุติความขัดแย้งเพื่อหันมาแก้ปัญหาเรื่องลูก
ต่อมาก็คือครอบครัวที่ใช้การเลี้ยงดูแบบยอมตามมากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นลูกคนสุดท้อง หรือในทางกลับกัน อาจมีกรณีที่พ่อแม่เรียกร้องการดูแลเอาใจใส่จากเด็ก แสดงความเจ็บป่วยของตนให้เด็กรับรู้หรือผูกพันกับลูกมากเกินไป ทำให้เด็กวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ กังวลว่าพ่อแม่จะไม่มีผู้คอยดูแล เมื่อเด็กไม่อยู่ด้วยจะเป็นอันตราย เด็กจึงไม่อยากไปโรงเรียน - การประเมินสภาพโรงเรียน โรงเรียนก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการดูแลเด็กที่มีภาวะไม่อยากไปโรงเรียน โดยต้องอาศัยการร่วมมือจากคุณครูและผู้บริหารโรงเรียน เพื่อประเมินประวัติที่ชัดเจน ถูกต้อง เช่น เด็กอาจมีปัญหากับเพื่อน เพื่อนไม่ให้เข้ากลุ่ม ถูกเพื่อนล้อ ถูกต่อว่า ถูกแกล้ง หรือมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง เช่น ถูกครูทำโทษหรือต่อว่ารุนแรง ถูกเพื่อนชกต่อย เป็นต้น
ในทางกลับกัน เมื่อครูทราบปัญหาของเด็กก็อาจกังวลว่าตนเองเป็นต้นเหตุ จึงให้สิทธิพิเศษหรือสงสารเด็กมากเกินไป ก็ทำให้อาการของเด็กไม่ดีขึ้นได้ ในขั้นตอนการรักษาจึงต้องอาศัยความเข้าใจจากทาง โรงเรียนและครูประจำตัวเด็กเป็นสำคัญ
โดยสรุปแล้ว ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนเป็นภาวะเร่งด่วน ซึ่งการรักษาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นขั้นตอน เมื่อแยกโรคที่เกี่ยวกับทางกายแล้ว ผู้ปกครองควรตระหนักถึงผลเสียของการขาดเรียน และเข้าใจในความกลัว ความวิตกกังวลของเด็ก มีท่าทีหนักแน่น จริงจัง ไม่ต่อว่าเด็กว่าแกล้งทำ หรือข่มขู่ เฆี่ยนตี ให้พูดกับเด็กดีๆ และไม่เพิ่มความกังวลให้แก่เด็ก เช่น ถามย้ำๆ เรื่องการไปโรงเรียน และเมื่อสัญญากับเด็กให้มารับกลับตรงเวลา หากเด็กกังวลมาก ผู้ปกครองอาจขออนุญาตอยู่เฝ้าที่โรงเรียนระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ลดระยะเวลาลงเมื่ออาการดีขึ้น และเมื่อกลับถึงบ้านก็ให้การช่วยเหลือการบ้านเด็กตามจำเป็น
ในกรณีที่มีภาวะอื่นๆ ที่ต้องรักษาทางจิตเวช หรือต้องใช้ยา ควรติดตามผลการรักษาสม่ำเสมอ เนื่องจากหากมีแรงกดดันจากสิ่งต่างๆ เด็กอาจกลับสู่สภาวะไม่อยากไปโรงเรียนได้อีก