หลายคนคงเคยสงสัยว่า เส้นเสียงคืออะไร อยู่บริเวณไหน ทำงานอย่างไรถึงทำให้เกิดเสียงขึ้นมาได้ และมีอาการผิดปกติใดของเส้นเสี้ยงบ้างที่หากเกิดขึ้นแล้วต้องไปพบแพทย์ คำถามเหล่านี้คงสงสัยกันมากขึ้นโดยเฉพาะเวลาตอนที่มีเสียงแหบหลังจากเป็นไข้หวัด หรือตอนที่ใช้เสียงมากๆ ไปร้องคาราโอเกะ ไปสถานบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้บางอาชีพที่ต้องใช้เสียงมาก เช่น คุณครู, นักร้อง, ผู้ประกาศข่าว จะมีวิธีการรักษาเส้นเสียงอย่างไรให้ใช้ได้ดีเสมอ ไม่กระทบกับงานของตน สามารถหาคำตอบได้จากบทความดังต่อไปนี้
เส้นเสียงคืออะไร อยู่ตรงไหนของร่างกาย?
เส้นเสียง (Vocal cords หรือ Vocal folds) อยู่ภายในกล่องเสียง (Larynx) และอยู่เหนือสุดต่อจากหลอดลม (Trachea) เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหลายชนิดรวมกันขึ้นมาเป็นเส้นเสียง มีจำนวนสองเส้น สีขาวมุก วางทำมุมกันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว โดยยอดสามเหลี่ยมชี้ออกมาทางด้านหน้า
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เส้นเสียงถูกควบคุมจากมัดกล้ามเนื้อเรียบหลายมัดทำงานสอดคล้องกัน ทำให้เปิดปิดได้อย่างสมมาตร เส้นประสาทที่มีความสำคัญต่อการควบคุมมัดกล้ามเนื้อเรียบ คือแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Recurrent laryngeal nerve) หากเส้นประสาทนี้ได้รับการกระทบกระเทือนหรือเสียหาย จะมีผลกระทบต่อเส้นเสียงโดยตรง
เส้นเสียงสำคัญต่อร่างกายเราแค่ไหน ทำหน้าที่อะไร?
เมื่อเราหายใจเข้า อากาศจะผ่านโพรงจมูก คอหอย กล่องเสียง เส้นเสียง หลอดลม ลงไปในปอดเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซ จากนั้นช่วงที่เราหายใจออก หากเราต้องการเปล่งเสียงออกมา อากาศจะเดินทางกลับออกมาทางเดิม ผ่านเส้นเสียงที่ปิดแคบลงตามการควบคุมของมัดกล้ามเนื้อ แล้วเกิดการสั่นสะเทือน ได้ยินออกมาเป็นเสียงนั่นเอง ดังนั้นเส้นเสียงจึงทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีขนาดและลักษณะของเส้นเสียงที่ต่างกันออกไป รวมถึงขนาดและลักษณะของทางเดินหายใจ เช่น ภายในลำคอ โพรงจมูก ช่องปาก ลิ้น ที่ต่างกันออกไป ทำให้เสียงแต่ละคนแตกต่างกัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล
นอกจากนี้ ในผู้ชายยังมีขนาดเส้นเสียงที่หนาและยาวกว่าผู้หญิง เสียงของผู้ชายจึงมีลักษณะที่ทุ้มกว่าผู้หญิง และในเด็ก เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่แล้วจะประกอบด้วยชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่น้อยกว่า บางกว่า และจะค่อยๆ พัฒนาในช่วงอายุ 6-12 ปีจนเจริญเต็มที่ในช่วงปลายวัยรุ่น จึงเป็นสาเหตุว่าเสียงเด็กนั้นแหลมเล็กกว่าผู้ใหญ่ และมีเสียงแตกหนุ่ม-แตกสาว ในช่วงวัยรุ่นนั่นเอง
มีอันตรายหรือโรคอะไร ที่เกิดกับเส้นเสียงได้บ้าง?
โรคของเส้นเสียงและกล่องเสียงมีจำนวนมาก มีทั้งที่ไม่เป็นอันตรายสามารถหายได้เอง และที่เป็นอันตรายควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ การใช้เสียงที่มากจนเกินไป การหายใจเอาสิ่งระคายเคืองเข้าไป มีกรดไหลย้อน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบของกล่องเสียงได้ ทำให้เสียงแหบและมีอาการเจ็บคอ อาการเหล่านี้อาจบรรเทาได้จากการลดสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่กล่าวไป พักการใช้เสียง ดื่มน้ำอุ่นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาอื่นๆ ต่อไป ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานจนเกินไปเพราะจะทำให้เส้นเสียงอักเสบติดเชื้อรุนแรงตามมาได้
ตุ่มเนื้อที่เส้นเสียง (Vocal nodule)
เป็นตุ่มเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งลักษณะกลมๆ ขนาดเล็ก อยู่บนเส้นเสียง โดยส่วนใหญ่จะเกิดบนเส้นเสียงทั้งสองเส้น เกิดจากการใช้เสียงมาก พบได้บ่อยในอาชีพที่ต้องใช้เสียงมากๆ เช่น คุณครู นักร้อง ผู้ประกาศข่าว เป็นต้น อาการของโรคนี้คือจะมีเสียงแหบบ่อยเป็นๆ หายๆ อาการเสียงแหบมักจะสัมพันธ์กับการใช้เสียง การวินิจฉัยโรคนี้ต้องอาศัยเครื่องมือในการส่องลงไปตรวจบริเวณเส้นเสียง และควรได้รับการรักษาจากแพทย์
เส้นเสียงเป็นอัมพาต (Vocal cord paralysis)
คือ อาการที่เส้นเสียงหนึ่งหรือทั้งสองเส้นไม่ขยับเปิดหรือปิดอย่างเหมาะสม โรคนี้มีระดับความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากการไอหรือจามไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่อยู่ภายในปอดออกมาได้อย่างปกติ ทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้ อาการที่พบในโรคนี้ ได้แก่ เสียงเปลี่ยน เสียงหาย เสียงแหบแห้ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด มีก้อนกดเบียดเส้นประสาทที่มาควบคุมเส้นเสียง การได้รับบาดเจ็บในระหว่างใส่ท่อช่วยหายใจ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การได้รับบาดเจ็บบริเวณคอ เป็นต้น การวินิจฉัยและรักษาโรคนี้ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการรักษาเส้นเสียงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?
วิธีการป้องกันเส้นเสียงก่อนที่จะมีการอักเสบหรือเป็นโรคต่างๆ คือ การฝึกพูดอย่างถูกวิธี ไม่ตะโกนหรือใช้เสียงดังจนเกินไป ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการหายใจในที่มีมลพิษหรือสิ่งระคายเคือง หลีกเลี่ยง ไม่คลุกคลีกับผู้ที่มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ แต่ถ้ามีอาการเสียงแหบ เสียงหาย หรือมีเสียงที่เปลี่ยนไปแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม