บทความน่าอ่านประจำสัปดาห์!! เทคโนโลยี Telemedicine ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล ก็เจอหน้าหมอได้

ทำความรู้จัก Telemedicine เมื่อคุณสามารถวีดีโอคอลคุยกับคุณหมอได้แม้อยู่ที่บ้าน
เผยแพร่ครั้งแรก 15 พ.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
บทความน่าอ่านประจำสัปดาห์!! เทคโนโลยี Telemedicine ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล ก็เจอหน้าหมอได้

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • Telemedicine คือ นวัตกรรมบริการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีวีดีโอคอล ซึ่งมีประโยชน์ต่อทั้งแพทย์ และตัวผู้ป่วยหลายด้าน
  • Telemedicine แตกต่างจาก Telehealth ตรงที่เป็นบริการด้านการแพทย์ที่จะได้ปรึกษา และส่งต่อข้อมูลอาการเจ็บป่วยต่างๆ กับแพทย์โดยตรง ต่างจาก Telehealth ที่เป็นการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท่านั้น
  • นอกจากการพูดคุยระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย Telemedicine ยังใช้สำหรับให้แพทย์กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วย เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เช่น ภาพเอกซเรย์ รายชื่อยาที่สั่งจ่าย
  • Telemedicine เป็นที่นิยมมากในกลุ่มผู้ป่วยด้านจิตเวชที่ไม่ต้องการให้ข้อมูลการรักษาถูกเปิดเผย รวมถึงผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับผิวหนังที่ต้องส่งภาพถ่าย ภาพทางรังสีวิทยา
  • โหลดแอปฟรีเพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพกับคุณหมอ ทั้งระบบ IOS และ Andriod

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในบริการด้านสาธารณสุขหลายด้านเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้กว้างขวางขึ้น หนึ่งในนั้นรวมไปถึงบริการด้านการแพทย์ด้วย ซึ่งนั่นเป็นที่มาของ Telemedicine

Telemedicine คืออะไร?

เทเลเมดดิซีน (Telemedicine) หรือชื่อทับศัพท์ภาษาไทยว่า “ระบบโทรเวชกรรม” หมายถึง บริการทางการแพทย์โดยการนำเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Video Conference หรือที่เรียกทั่วไปว่า วีดีโอคอล มาใช้ในการพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

ลักษณะการพูดคุยกับแพทย์กับผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine แทบจะไม่ต่างจากการพูดคุยกันในห้องตรวจของโรงพยาบาล เพียงแต่ตัวแพทย์กับผู้ป่วยจะอยู่คนละสถานที่กันเท่านั้น และสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีการวีดีโอคอลแบบเห็นหน้าคู่สนทนาทั้งสองฝ่าย

ความแตกต่างระหว่าง Telemedicine กับ Telehealth

คุณอาจสงสัยว่าระหว่างบริการทางการแพทย์ 2 อย่างนี้ต่างกันอย่างไร หลักการจำง่ายๆ มีดังนี้

  • Telehealth คือ บริการด้านสุขภาพซึ่งคุณจะได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แต่ไม่ใช่แพทย์โดยตรง
  • Telemedicine คือ บริการด้านสุขภาพซึ่งคุณจะได้รับคำปรึกษา ได้ซักถาม ส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยกับแพทย์โดยตรง

ประเภทของ Telemedicine

ระบบ Telemedicine แบ่งออกได้ 3 ประเภทหลักๆ ตามลักษณะข้อมูลที่รับส่งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ระยะเวลาในการส่ง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละระบบ ได้แก่

1. ประเภทรับและส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ (Store and forward telemedicine)

มักใช้ในการรับส่งข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันเอง โดยฝั่งแพทย์ผู้รักษาอาจส่งข้อมูลไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ด้านอื่นๆ หรือเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรค รวมถึงวางแผนการรักษาต่อไป เช่น

  • ภาพเอกซเรย์
  • ภาพถ่าย
  • คลิปวิดีโอ
  • รายชื่อยาที่สั่งจ่ายให้ผู้ป่วย

Telemedicine ประเภทนี้ ทั้งฝั่งผู้ส่งและผู้รับข้อมูลการตรวจมักจะไม่ได้สื่อสารโต้ตอบแบบเห็นหน้าในเวลาเดียวกัน แต่มักเป็นการนำส่งข้อมูลผ่านระบบที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ หรือผ่านทางอีเมลมากกว่า

ดังนั้นแพทย์จะไม่สามารถพูดคุยเพื่อซักประวัติ สอบถามอาการอื่นๆ เพิ่มเติมหรือขอตรวจร่างกายจากผู้ป่วยโดยตรงได้ นอกจากจะมีการนัดหมายเพิ่มเติม

2. ประเภทติดตามผลการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล (Remote Patient monitoring telemedicine)

นิยมใช้ในผู้ป่วยที่ต้องติดตามอาการของโรคอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ป่วยไม่สะดวกเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคหอบหืด เช่น

  • การส่งผลตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง
  • การส่งค่าความแข็งตัวของเลือด
  • การส่งบันทึกอาการเจ็บป่วย หรืออาการข้างเคียงอื่นๆ จากการใช้ยาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ฝั่งของแพทย์เองก็สามารถส่งข้อมูลจากการตรวจวินิจฉัยบางอย่างกลับไปให้ผู้ป่วย และแนะนำวิธีการดูแลตนเองให้ผู้ป่วยประกอบไปด้วย เช่น

  • ผลการส่องตรวจผิวหนัง (Dermoscope)
  • ผลการอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
  • ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG)
  • ผลการวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse oximeter)

ข้อดีของ Telemedicine ประเภทนี้ นอกจากผู้ป่วยจะไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินเดินทางมาโรงพยาบาลแล้ว ยังทำให้แพทย์สามารถติดตามอาการ ให้คำปรึกษาด้านการรักษาเพิ่มเติม ตรวจผลลัพธ์จากการใช้ยาและปรับขนาดยาใหม่ รวมถึงวางแผนการรักษาตามอาการของผู้ป่วยต่อไปได้ง่ายขึ้น

3. ประเภทการพูดคุยโต้ตอบระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย (Interact telemedicine)

เป็นการพูดคุยสนทนาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในเวลาเดียวกัน (Real time) ผ่านเทคโนโลยีวิดีโอคอลซึ่งคู่สนทนาจะสามารถเห็นหน้ากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

ระบบของเทคโนโลยีที่ใช้อาจเป็นของทางโรงพยาบาลเอง หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Video Conference ที่แพทย์กับผู้ป่วยได้ตกลงจะใช้ร่วมกัน

ซึ่งในบทสนทนามักจะประกอบไปด้วยการซักประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว การตรวจร่างกาย เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้

นอกจากนี้ Telemedicine ประเภทนี้ยังสามารถใช้ได้ในกรณีแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ด้วย โดยในระหว่างนั้น แพทย์จะอยู่กับผู้ป่วยและพูดคุยสนทนากับแพทย์อีกคนผ่านการวีดีโอคอลเช่นเดียวกัน

บริการด้านการแพทย์ที่มักนิยมใช้ Telemedicine

นอกเหนือจากการรักษาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง ประเภทของบริการด้านการแพทย์ที่มักนิยมใช้ Telemedicine เข้ามาเป็นตัวช่วยในการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย จะได้แก่

1. การทำรังสีวิทยา (Radiology)

เนื่องจากภาพถ่ายรังสีวิทยาหรือภาพถ่ายเอกซเรย์จะต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ วินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษา

การใช้ Telemedicine เข้ามาจึงช่วยจะทำให้แพทย์ได้รับภาพถ่ายที่มีคุณภาพความละเอียดสูง และสามารถส่งรายละเอียดการวิเคราะห์ผลตรวจกลับไปที่โรงพยาบาลจากสถานที่ใดก็ได้ ทำให้ช่วยย่นระยะเวลาของผู้ป่วยในการรอผลตรวจได้อย่างมาก

2. การให้คำปรึกษาด้านจิตเวช (Mental Health)

เป็นอีกหนึ่งบริการทางการแพทย์ผ่าน Telemedicine ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กับการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาวะทางจิตใจ หรือโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะหรือโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล

ซึ่งในปัจจุบันหลายหน่วยงานหรือโรงพยาบาลได้มีการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาทางจิตเวชที่เป็นมิตรและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น เช่น สามารถนัดหมายหรือยกเลิกตารางนัดได้โดยไม่เปิดเผยชื่อ สามารถกรอกลักษณะอาการที่ต้องการเจาะจงก่อนพบแพทย์ได้

แล้วหลังจากนั้น ทางโรงพยาบาลก็จะจัดตารางการนัดหมายระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยให้ได้พูดคุยสนทนากันผ่านการวิดีโอคอล และแพทย์อาจจ่ายยาให้ผ่านการพูดคุยครั้งนั้นไปด้วยเลย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการรักษา

3. อาการเจ็บป่วยของเด็ก

เด็กๆ หลายคนมีอาการกลัวโรงพยาบาล กลัวเข็มฉีดยา จนไม่กล้าพบแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ปกครองหลายคนอาจไม่สบายใจที่จะพาลูกที่กำลังป่วยออกนอกบ้านซึ่งอาจเป็นการรับเชื้อโรคเพิ่ม

ดังนั้นพ่อแม่หลายคนจึงเลือกใช้ระบบ Telemedicine ในการปรึกษาอาการป่วยของเด็กกับแพทย์แทนที่จะพาเด็กไปโรงพยาบาลโดยตรง

4. โรคผิวหนัง Dermatology

เพราะโรคเกี่ยวกับผิวหนังมักต้องส่งข้อมูลภาพถ่ายรังสี (Teleradiology) หรือภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ (Telepathology) เพื่อให้แพทย์นำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยอาการของโรคต่อไป

การใช้เทคโนโลยี Telemedicine เข้ามาช่วย จะทำให้กระบวนการวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วได้มากขึ้น

6 ประโยชน์ของ Telemedicine

Telemedicine เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมที่สุด และยังมีประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้บริการด้านอื่นๆ อีก เช่น

1. ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่

หลายคนคงเคยได้ยินว่าในบางพื้นที่ที่ห่างไกลขาดแพทย์ดูแล การใช้เทคโนโลยี Telemedicine และ Telehealth จะช่วยให้ผู้คนทุกพื้นที่สามารถติดต่อกับแพทย์ได้

2. ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

Telemedicine ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้จะใช้บริการไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าบริการรถโดยสาร หรือต้องตื่นแต่เช้า เผื่อเวลา เพื่อไปเข้าแถวรอพบแพทย์

เพียงแค่รอเวลาตามนัดหมายของแพทย์ผ่านการใช้ Telemedicine เพียงเท่านี้คุณก็สามารถพูดคุยกับแพทย์ได้เหมือนอยู่ในห้องตรวจจริงๆ และยังสามารถได้รับยารักษาอย่างเหมาะสมที่สั่งจ่ายจากแพทย์โดยตรงด้วย

นอกจากนี้ ค่าบริการทางการแพทย์ผ่านทาง Telemedicine มักจะถูกกว่าการมาพบแพทย์โดยตรงที่โรงพยาบาลด้วย

3. ไม่ต้องลางาน

หลายคนไม่สะดวกใจที่จะลางานไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล กรณีนี้เทคโนโลยี Telemedicine สามารถเข้ามาช่วยให้ตารางการทำงานของคุณไม่สะดุดได้ เพียงแค่เผื่อเวลาในช่วงที่ต้องพูดคุยกับแพทย์ไว้เล็กน้อย หลังจากนั้นคุณก็สามารถกลับไปทำงานต่อได้ตามปกติ

4. อยู่บนเตียงก็พบแพทย์ได้

เนื่องจากมีผู้ป่วยหลายกลุ่ม เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก เทคโนโลยี Telemedicine จะช่วยทำให้คุณพูดคุยกับแพทย์ได้แม้กำลังนอนอยู่บนเตียง

5. มีบันทึกการรักษาที่เป็นระบบ

หลายครั้งที่คุณอาจหลงลืมว่าแพทย์สั่งยาอะไรไปบ้าง คราวที่แล้วแพทย์พูดถึงอาการป่วยว่าอะไร ซึ่งการรักษาผ่าน Telemedicine อาจช่วยให้คุณสามารถจัดเก็บระบบข้อมูลการรักษาให้กับตนเองได้ง่ายขึ้น สามารถกลับไปตรวจเช็กรายละเอียดการรักษาในครั้งก่อนๆ ได้ง่ายกว่า

6. ให้ความเป็นส่วนตัว

อาจมีกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สะดวกใจจะออกมาพบปะผู้คน หรือกลัวจะเจอคนรู้จักที่โรงพยาบาลได้ การปรึกษาแพทย์ผ่าน Telemedicine จะช่วยให้การรักษาโรคของคุณเป็นความลับมากขึ้น รู้สึกสบายใจกว่า ไม่ต้องออกไปพบปะใครให้ต้องกังวลใจ

ข้อเสียของ Telemedicine

ถึงแม้ Telemedicine จะให้ประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่อทั้งฝั่งแพทย์และผู้ป่วย แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่เทคโนโลยีนี้ไม่สามารถทำได้ เช่น

1. ยากต่อการวินิจฉัยอาการบางอย่าง

การตรวจโรคหรืออาการเจ็บป่วยบางอย่างจำเป็นต้องมีการสัมผัสตัว หรือสังเกตร่างกายของผู้ป่วยในระยะใกล้ ซึ่งการรักษาด้วย Telemedicine อาจทำให้แพทย์ไม่สามารถสังเกตอาการผู้ป่วย หรือได้สัมผัสตัวเพื่อวินิจฉัยอาการให้แม่นยำได้มากขึ้น

2. เปลืองค่าใช้จ่ายหลายส่วน

ถึงแม้ Telemedicine จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง หรือประหยัดเวลา แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีนี้ก็อาจทำให้คุณต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงระบบนี้ คุณอาจต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพพอในการใช้เทคโนโลยีนี้มาใช้ด้วย

นอกจากนี้ ทางฝั่งโรงพยาบาลเองก็ต้องมีการจัดวางระบบ มีการสอนและทดลองให้บุคลาการทางการแพทย์ใช้เทคโนโลยีนี้ในการรักษาผู้ป่วยเช่นกัน ซึ่งอาจเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่ากัน

3. อาจมีการสื่อสารคลาดเคลื่อน

ถึงแม้จะมีการพูดคุยแบบเห็นหน้าทั้ง 2 ฝ่าย แต่การสื่อสารผ่านภาพ ไม่ใช่การพบหน้าตัวต่อตัวก็อาจทำให้ทั้งฝั่งแพทย์และผู้ป่วยรับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปได้

4. ยังไม่มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองเต็มรูปแบบ

การใช้เทคโนโลยี Telemedicine อาจเสี่ยงทำให้เกิดการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบการสื่อสารของโลกออนไลน์ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

นอกจากนี้ อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาปลอมแปลงหรือนำข้อมูลทางการแพทย์ของคุณไปใช้ประโยชน์ในด้านที่ไม่ดีได้ ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่มีกฎหมายเข้ามาคุ้มครองเทคโนโลยีนี้ให้ปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ

หลายโรงพยาบาลในประเทศไทยเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี Telemedicine ในการรักษาผู้ป่วยหลายกลุ่มแล้ว คุณอาจลองสอบถามกับโรงพยาบาลที่ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำว่า มีบริการด้านนี้หรือไม่

เพราะเทคโนโลยีนี้อาจทำให้อาการเจ็บป่วยของคุณดีขึ้น รวมถึงสุขภาพแข็งแรงขึ้นได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ถึงที่โรงพยาบาลให้เสียเวลา

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
VSee, What Is Telemedicine? (https://vsee.com/what-is-telemedicine/).
Teeraphol A., Telemedicine คือ (https://www.linkedin.com/pulse/telemedicine-คอ-teeraphol-ambhai), 29 August 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)