มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นหนึ่งในภัยเงียบอันตราย เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้มักไม่รู้ตัวว่า เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เนื่องจากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร กว่าจะตรวจพบก็ลุกลามไปสู่ระยะที่สอง หรือสามแล้ว
ในบทความนี้ จะอธิบายถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงการสังเกตอาการในเบื้องต้น แนวทางการรักษา และวิธีป้องกัน เพื่อช่วยให้ทุกคนรู้เท่าทันโรคนี้มากยิ่งขึ้น
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ความชุกของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทย
ข้อมูลจากทะเบียนมะเร็ง ระดับโรงพยาบาล พ.ศ.2562 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่า มะเร็งกระเพาะอาหารจัดอยู่ในโรคมะเร็งที่พบมาก 10 อันดับแรกของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2562
โดยในเพศชาย มะเร็งกระเพาะอาหารจัดอยู่ในลำดับที่ 10 หรือคิดเป็น 2.8% ของมะเร็งที่พบมากในเพศชาย ในขณะที่เพศหญิง มะเร็งกระเพาะอาหารจัดอยู่ในลำดับที่ 10 หรือคิดเป็น 1.9% ของมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารแบ่งจำนวนมากผิดปกติ จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง พบได้ในทุกส่วนของกระเพาะอาหาร และหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียงอื่นๆ ได้
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารแน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ดังนี้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น มะเร็งกระเพาะอาหารมักเกิดในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่มักตรวจพบในช่วงอายุระหว่าง 60-70 ปี
- เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
- การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacter pylori) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้ส่วนต้น และกระเพาะอาหารอักเสบ หากไม่รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้
- พันธุกรรม ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
- พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น ชอบรับประทานอาหารเค็มจัด อาหารที่ใส่วัตถุกันเสีย ของหมักดอง หรืออาหารปิ้งย่างเป็นประจำ หรือไม่รับประทานผักผลไม้
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ภาวะสุขภาพ ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือเป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร จะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนทั่วไป
- การสัมผัสฝุ่น สารเคมี หรือสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน
- ภาวะอ้วน ผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวปกติ แต่ไม่พบความเกี่ยวข้องในผู้หญิง
ลักษณะอาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรก มักไม่มีอาการแสดงผิดปกติใดๆ หรืออาจมีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย จุก แน่นท้อง คลื่นไส้เล็กน้อย หรือไม่อยากรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยหลายคนมักเข้าใจผิดว่า เป็นโรคกระเพาะอาหาร จึงไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม ทำให้ขาดการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกไป
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
อย่างไรก็ตาม เมื่อมะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามไปสู่ระยะถัดไป จะมีอาการผิดปกติมากขึ้นจนทำให้ตรวจพบได้ เช่น
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อ่อนเพลีย
- ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
- อาเจียนเป็นเลือด
- รู้สึกไม่สบายท้อง โดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบน และตรงกลาง
- มีเลือดปนในอุจจาระ
หากมีอาการผิดปกติคล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร หรืออาการผิดปกติที่กล่าวไว้ในข้างต้น และจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะการตรวจพบและเข้ารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มาก
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในเบื้องต้น แพทย์จะตรวจร่างกาย และซักประวัติสุขภาพก่อน หากพบว่า มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์จะส่งตรวจในขั้นตอนถัดไป ดังนี้
- การกลืนแป้ง เพื่อเอกซเรย์ดูผิวกระเพาะอาหาร
- การส่องกล้องทางเดินอาหาร
- การตัดชิ้นเนื้อเยื่อผิวกระเพาะอาหารไปตรวจทางพยาธิวิทยา
ระยะของมะเร็งกระเพาะอาหาร และแนวทางการรักษา
มะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งเป็น 4 ระยะเหมือนกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยแนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ดังนี้
- ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งกินลึกเพียงชั้นผิว ไม่ลึกถึงกล้ามเนื้อกระเพาะ แพทย์จะรักษาโดยการใช้กล้องส่องทางเดินอาหารเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารที่เป็นเซลล์มะเร็งออก
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งจะมีกินลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรือผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร แพทย์จะรักษาโดยการตัดกระเพาะอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออก
- ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งจะกินลึกไปถึงผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร และมีโอกาสสูงที่จะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดกระเพาะอาหารที่เป็นมะเร็งออก รวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปออกด้วย
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารในผู้ป่วยระยะที่ 1 2 หรือ 3 นั้น นอกจากการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออกแล้ว แพทย์อาจให้ผู้เข้ารับการรักษาทำเคมีบำบัด หรือรังสีรักษาร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ และแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารในปีถัดไป
การป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร
การป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงลง เช่น
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ของหมักดอง หรือของปิ้งย่าง
- งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หากเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร จะต้องเข้ารับการรักษาให้หายขาด จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้มาก
- ผู้ชายจะต้องรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สังเกตได้จากค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) ควรอยู่ระหว่าง 18.6-22.9
- ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร
จะเห็นได้ว่า มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นหนึ่งในภัยเงียบสุดอันตราย เพราะมักไม่แสดงอาการอะไรให้เรารู้ตัว
อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงโรคภัยอื่นๆ ได้มาก
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร โปรแกรมตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android