วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

ภาวะหัวใจโตคืออะไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร

ทำความรู้จักภาวะหัวใจโต ความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลให้หัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ต.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ภาวะหัวใจโตคืออะไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ภาวะหัวใจโตเป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยมีสาเหตุมาจากภาวะอื่นๆ และโรคอื่นๆ มากมาย เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคอ้วน ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
  • แม้ภาวะหัวใจโตไม่ใช่โรค แต่ก็สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากไม่รีบรักษา เช่น เกิดเสียงฟู่ของหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • วิธีรักษาภาวะหัวใจโตสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น รักษาด้วยยา รักษาด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ รักษาด้วยการผ่าตัด รวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ออกกำลังกาย รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม 
  • วิธีป้องกันภาวะหัวใจคือ การเฝ้าระวังความผิดปกติของโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะภาวะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นเท่านั้น
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจหัวใจ

คุณอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อภาวะหัวใจโตนัก แต่ภาวะนี้จัดเป็นภาวะเกี่ยวกับหัวใจที่อันตรายร้ายแรงไม่แพ้ภาวะอื่นเลย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักภาวะหัวใจโตกันว่า "เป็นภาวะที่อันตรายขนาดไหน" แล้วมีสาเหตุ วิธีรักษา รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างไร

ความหมายของภาวะหัวใจโต

ภาวะหัวใจโต (Cardiomegaly) เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เป็นภาวะที่ยังไม่จัดเป็นโรค แต่เป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับหัวใจ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ภาวะหัวใจโตสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  • ภาวะหัวใจโตซึ่งเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาตัวผิดปกติ (Dilated cardiomyopathy) รวมถึงมีการบีบตัวที่ผิดปกติด้วย โดยหัวใจห้องซ้ายล่างมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย
  • ภาวะหัวใจโตซึ่งเกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อภายในกล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น (Hypertrophic cardiomyopathy) และผนังหัวใจหนาตัวกว่าเดิม

สาเหตุของภาวะหัวใจโต

มีโรค และความผิดปกติมากมายซึ่งส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจโตได้ เช่น

  • โรคหัวใจทางพันธุกรรม (Inherited heart conditions)
  • ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ (Abnormal heart valve) หรือโรคหัวลิ้นหัวใจ (Heart valve disease)
  • ภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจมากกว่าปกติ (Pericardial effusion)
  • ภาวะโลหิตจาง (Anemia)
  • ภาวะความดันโลหิตสูง (High blood pressure)
  • โรคแอมีลอยโดซิส (Amyloidosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากไขกระดูกผลิตสารโปรตีนชื่อ “แอมีลอยโดซิส” มากผิดปกติ จนไปสะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • ภาวะธาตุเหล็กในร่างกายมีปริมาณมากเกินไป หรือ “ภาวะเหล็กเกิน” (Hemochromatosis)
  • ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (Underactive thyroid)
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Overactive thyroid)
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะหัวใจโตได้ด้วย เช่น การเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติด การรับประทานอาหารรสหวาน อาหารมัน ทอด ที่มีไขมันสูง

จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจโตนั้นมีมากมาย ดังนั้นการเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 

อย่างน้อยจะได้ทราบว่า ร่างกายของเราอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ หรือมีความผิดปกติใดที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อควบคุมไม่ให้ลุกลามกลายเป็นโรคต่อไป 

หรือหากมีโรคที่เรายังไม่รู้ จะได้เริ่มเข้ากระบวนการรักษาให้ทันท่วงทีนั่นเอง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากภาวะหัวใจโต

ผู้ที่มีภาวะหัวใจโตอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าเดิมได้ เช่น

  • เสียงฟู่ของหัวใจ (Heart murmur) ภาวะหัวใจโตมีส่วนทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ทำให้เลือดเกิดการไหลย้อนกลับ และเป็นสาเหตุทำให้การเต้นของหัวใจมีเสียงฟู่ออกมาด้วย ถึงแม้ว่าภาวะนี้ไม่ใช่ภาวะอันตราย แต่ก็ไม่ควรปล่อยเรื้อรังเอาไว้ และควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เพราะภาวะหัวใจโตสามารถส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจล้า และอ่อนแอลง ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถอัดฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ และเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

  • ภาวะแข็งตัวของเลือด (Blood clots) โดยผู้ป่วยภาวะหัวใจโตจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดในหัวใจได้ เมื่อลิ่มเลือดเข้าไปในกระแสเลือด มันก็จะเข้าไปอุดตันการไหลเวียนของกระแสเลือดและอาจนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคหัวใจวาย (Heart attack) ได้

  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และเสียชีวิต (Cardiac arrest and sudden death) ภาวะหัวใจโตทำให้ระบบการนำไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้หัวใจหยุดเต้น แต่อาจจบลงด้วยการเสียชีวิตหากไม่สามารถนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา

การวินิจฉัยภาวะหัวใจโต

ภาวะหัวใจโตสามารถวินิจฉัยได้หลายวิธี เช่น

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เพื่อบันทึกการทำงานของระบบนำไฟฟ้าของหัวใจว่า มีความผิดปกติอย่างไร

  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจเอคโค (Echocardiogram: ECO) วิธีนี้แพทย์จะได้รับเสียงสะท้อนที่แปลงออกมาเป็นภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจรวมถึงลิ้นหัวใจว่า ทำงานปกติดีหรือไม่ หรือมีส่วนใดที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติบ้าง

  • การตรวจเลือด (Blood tests) เพื่อหาความผิดปกติของเลือดว่า มีส่วนใดเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจโตได้ รวมถึงตรวจดูระดับไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือดด้วย

  • การตรวจด้วยคลื่นรังสีแม่เหล็ก หรือการเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อหาภาวะ หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหัวใจ และปอด ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะหัวใจโต

  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac catheterization) โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปผ่านสายสวนที่จะเจาะเข้าไปในหลอดเลือด จากนั้นจะถ่ายภาพการทำงานของหลอดเลือดว่า มีการอุดตัน หรือตีบตันในส่วนใดหรือไม่ จนส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจ

การรักษาภาวะหัวใจโต

ภาวะหัวใจโตมีวิธีรักษาได้ 4 วิธี ได้แก่

  1. รักษาด้วยยา โดยอาจเป็นยารักษาความดันโลหิต ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งส่งผลต่อระบบนำไฟฟ้าของหัวใจ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อมารับประทานได้เอง

  2. รักษาด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากรักษาด้วยยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการทรุดลง หรือรุนแรงมากกว่าเดิม แพทย์ก็อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้กับตัว หรือฝังใต้ผิวหนัง

    โดยอาจเป็น “เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation)” เพื่อกระตุ้นให้จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นไปอย่างปกติ

  3. รักษาด้วยการผ่าตัด (Surgery) หากรักษาด้วยยา หรือบางรายอาจได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการทรุดลง หรือรุนแรงมากกว่าเดิม แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดลิ้นหัวใจ (Heart valve surgery) ผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาส (Coronary bypass surgery) หรือผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (Heart transplant) แต่ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีการใดก็ตาม ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

  4. รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น งดสูบบุหรี่ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนปริมาณมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักสด ผลไม้สดให้มากขึ้น รับประทานถั่วและธัญพืชที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานของมันๆ ทอดๆ และอาหารรสจัด 

นอกจากการรักษาด้วย 4 วิธีที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพ หรือตรวจโรคอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะหัวใจโตได้ เช่น ตรวจโรคเบาหวาน ตรวจไต

วิธีป้องกันภาวะหัวใจโต

ภาวะหัวใจโตจะเกิดก็ต่อเมื่อมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นก่อน เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง จากนั้นภาวะหัวใจโตก็จะเกิดขึ้นตามมา 

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นภาวะหัวใจโตที่ดีที่สุด จึงเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้ความผิดปกติ หรือโรคที่ทำให้เกิดภาวะนี้มีความร้ายแรงมากกว่าเดิม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนเป็นอีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการเกิดภาวะหัวใจโต เพราะโรคหัวใจเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งต่อถึงกันได้ในผู้ใกล้ชิดทางสายเลือด ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองได้ผ่านการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ปรับวิถีชีวิตให้เหมาะสมก็เป็นอีกตัวช่วยป้องกันการเกิดภาวะหัวใจโตได้ เช่น ไม่สูบบุหรี่ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดจนเกินไป และหมั่นออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ แข็งแรง

ภาวะหัวใจโตเป็นเหมือนภาวะแทรกซ้อนในโรคหลายๆ โรค และหลายคนยังไม่รู้จักภาวะนี้ว่า เป็นอันตรายอย่างไร เมื่อคุณเข้าใจถึงข้อมูลของภาวะนี้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ควรเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยง เพื่อจะได้มีร่างกายแข็งแรง และไม่เสี่ยงภาวะหัวใจโต หรือโรคอื่นๆ ด้วย

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจหัวใจ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อ.พญ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, มารู้จัก…ภาวะหัวใจล้มเหลว (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1310#:~:text=ภาวะหัวใจล้มเหลว%20คือ,และโรคหัวใจพิการตั้งแต่), 29 ตุลาคม 2563.
ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรคหัวใจโต (Cardiomegaly) (http://www.ams.cmu.ac.th/amscsc/article/article12.html), 29 ตุลาคม 2563.
Mercy, Cardiomegaly (https://www.mercy.net/service/cardiomegaly/), 1 October 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาการเจ็บหน้าอกนี้ เป็นโรคหัวใจ หรือกรดไหลย้อน
อาการเจ็บหน้าอกนี้ เป็นโรคหัวใจ หรือกรดไหลย้อน

อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากอะไร? อ่านสาเหตุและโรคเสี่ยงจากการเจ็บหน้าอกพร้อมวิธีรักษา

อ่านเพิ่ม