หลายคนน่าจะทราบกันบ้างแล้วว่า ไต มีหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย
ของเสีย คือสารที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย อาจเป็นสารที่เป็นพิษส่งผลเสียต่อร่างกายโดยตรง หรือสารที่มีประโยชน์แต่มีปริมาณมากเกินไปก็ได้
ร่างกายของมนุษย์มีระบบจัดการของเสียที่หลากหลายใช้กำจัดสารเหล่านี้ออกไป ได้แก่ ทางลำไส้ในรูปแบบของอุจจาระ ผ่านทางปอดในรูปแบบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทางผิวหนังในรูปแบบของเหงื่อ และทางไต ในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของบทความนี้
ไต เป็นอวัยวะคู่หนึ่งรูปร่างคล้ายถั่ว อยู่ที่ตำแหน่งทั้งสองข้างของกระดูกสันหลัง บริเวณใต้กระดูกซี่โครงทางด้านหลังเยื่อบุช่องท้อง ตรงเหนือเอว
ไตของผู้ใหญ่มีขนาดประมาณหนึ่งกำปั้น ความยาวประมาณ 11 เซนติเมตร กว้าง 6 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร และหนักประมาณ 150 กรัม
บทบาทของไตต่อร่างกายคืออะไร ไตเป็นอวัยวะสำคัญแค่ไหน?
ไตเป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำงานร่วมกับระบบทางเดินหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่จะทำการส่งต่อเลือดเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟอกที่ไตในหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างเนฟรอน (Nephron) หรือหน่วยไต ซึ่งประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยโกลเมอรูลัส (Glomerulus) กระจุกกันอยู่ในแคปซูลของโบวแมน (Bowman’s capsule) และท่อไตที่มีความสำคัญในการดูดกลับสารที่จำเป็นและขับสารที่ไม่จำเป็นต่างๆ ออกนอกร่างกาย
ด้วยกลไกข้างต้นนี้ ไตจึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสมดุลของปริมาณน้ำ เกลือแร่ กรด-เบส และของเสียต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ไตยังสามารถหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย และบางชนิดยังส่งผลโดยตรงต่อสมดุลความดันเลือดอีกด้วย
ไตมีระบบการทำงานอย่างไร?
ทุกๆ 1 นาทีมีเลือดไหลผ่านเข้ามาที่หน่วยไตประมาณ 600 มิลลิลิตร ซึ่งจะผ่านการกรองออกมาประมาณ 20% คือ 120 มิลลิลิตร ซึ่งเรียกว่าอัตราการกรองของไต (Glomerular Filtration Rate: GFR) เป็นค่าที่ทางการแพทย์ใช้อ้างอิงประสิทธิภาพการทำงานของไตโดยรวม
ที่หน่วยไต หลังจากที่เลือดผ่านการกรองที่เส้นเลือดฝอยโกลเมอรูลัสแล้ว ของเหลวที่ได้จากขั้นตอนนี้จะถูกลำเลียงต่อไปตามท่อไตเล็กๆ และระหว่างนี้เองจะมีการดูดกลับน้ำและสารบางอย่างที่มีประโยชน์เพื่อนำกลับไปใช้ต่อไป จนเหลือปัสสาวะปริมาณเฉลี่ยเพียง 1 มิลลิลิตรต่อนาที
หน้าที่และประโยชน์ของไต มีอะไรบ้าง?
ไตมีหน้าที่และประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้
1. กำจัดของเสีย
ไต กำจัดของเสียไปในรูปแบบของปัสสาวะ สารประกอบ 2 อย่างหลักๆ ที่ไตกำจัดออกไป ได้แก่
- ยูเรีย (Urea) เกิดจากการย่อยสลายโปรตีน
- กรดยูริค (Uric acid) เกิดจากการย่อยสลายกรดนิวคลีอิก
2. ดูดกลับสารต่างๆ
ไตดูดกลับทั้งสารอาหาร แร่ธาตุ และสารที่จำเป็นต่อการรักษาสมดุลของร่างกาย ได้แก่
- น้ำตาลกลูโคส
- กรดอะมิโน
- ไบคาร์บอเนต
- โซเดียม
- โพแทสเซียม
- แมกนีเซียม
- ฟอสเฟต
- คลอไรด์
- น้ำ
3. ควบคุมสมดุลกรด-ด่าง
ในร่างกายคนเราจะควบคุมระดับ pH ในเลือดให้อยู่ระหว่าง 7.38-7.42 หากค่าต่ำหรือสูงเกินไป โปรตีนและเอนไซม์ต่างๆ จะเสื่อมสภาพจนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป
สุดท้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้ในรายที่ค่าผิดปกติมากๆ และไม่ได้รับการรักษา
ไตและปอดเป็นสองอวัยวะที่ทำหน้าที่หลักในการควบคุมสมดุลนี้ โดยปอดจะใช้การเปลี่ยนแปลงอัตราการหายใจเพื่อควบคุมระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนไตมีประบวนการ 2 อย่างหลักๆ คือ
- ใช้ไบคาร์บอเนตช่วยลดความเป็นกรด ซึ่งไตสามารถดูดกลับหรือขับไบคาร์บอเนตทิ้งได้ ขึ้นกับค่า pH ในขณะนั้น
- ขับกรดในรูปของประจุไฮโดรเจนหรือสารประกอบที่มีคุณสมบัติเป็นกรด ได้แก่ กรดซัลฟิวริก กรดฟอสฟอริก และกรดแลคติกออกไป
4. ควบคุมสมดุลน้ำ
เมื่อร่างกายขาดน้ำ สมองในส่วนไฮโปทาลามัสจะตอบสนองโดยสั่งการให้ต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูริก (Antidiuretic hormone: ADH) ซึ่งส่งผลให้ไตดูดกลับน้ำมากขึ้น เป็นผลให้ความเข้มข้นของปัสสาวะเพิ่มขึ้น
5. ควบคุมสมดุลความดันเลือด
ไตควบคุมสมดุลความดันเลือดด้วยระบบเรนนิน-แองจิโอเทนซิน-อัลโดสเตอโรน (Renin Angiotensin Aldosterone System: RAAS) เริ่มจากหลั่งเรนนิน (Renin) ออกมาเมื่อมีระดับโซเดียมในเลือดต่ำลงหรือความดันหลอดเลือดทั่วร่างกายมีความต่ำลง จากนั้นเรนนินจะไปเปลี่ยนแองจิโอเทนซิโนเจน (Angiotensinogen) ซึ่งสร้างจากตับ ไปเป็น แองจิโอเทนซินหนึ่ง (Angiotensin I) ซึ่งจะโดนเปลี่ยนอีกทีไปเป็นจิโอเทนซินสอง (Angsiotensin II) โดยเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวิร์ตติง (Angiotensin Converting Enzyme: ACE) ที่สร้างจากปอด
Angiotensin II มีฤทธิ์ 2 อย่าง คือ
- ทำให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้ความดันเพิ่มสูงขึ้น
- กระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่งอัลโดสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดการดูดกลับโซเดียมและขับโพแทสเซียมทิ้งที่ท่อไต
6. หลั่งสารที่จำเป็น
ไตมีหน้าที่หลั่งสารที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
- อีริโทโพริติน (Erythropoietin) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง หากขาดฮอร์โมนชนิดนี้จะเกิดอาการซีดได้
- เรนนิน (Renin) เป็นฮอร์โมนใน RAAS ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมสมดุลความดันเลือด
- แคลซิทริออล (Calcitriol) เป็นรูปที่ออกฤทธิ์ได้ทันที (Active form) ของวิตามินดี มีผลไปเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือด
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android