วาซาบิ เป็นพืชในตระกูลกะหล่ำที่มีต้นกำเนิดในท้องน้ำในป่าแถบหุบเขาของญี่ปุ่น ก่อนจะได้รับความนิยมจนมีผู้นำมาเพาะปลูกกันจนกลายเป็นฟาร์มวาซาบิหลายแห่งในปัจจุบัน
นอกจากนี้ วาซาบิยังเจริญเติบโตในบางส่วนของจีน เกาหลี นิวซีแลนด์ และแถบอเมริกาเหนือบริเวณที่ร่มและมีความชื้น
วาซาบิเป็นที่รู้จักในเรื่องของรสชาติเผ็ดแหลมฉุน ถูกใช้เป็นเครื่องจิ้มที่มีรสเผ็ดขึ้นจมูก คล้ายกับรสของมัสตาร์ดและฮอร์สแรดิช
ประเภทของวาซาบิ
วาซาบิที่รับประทานกันทุกวันนี้แบ่งออกเป็นสองประเภท ดังนี้
1. วาซาบิสด หรือ ฮอนวาซาบิ
เป็นวาซาบิของญี่ปุ่น ขึ้นเฉพาะบริเวณที่น้ำสะอาด อาจถูกแบ่งออกได้อีกตามพื้นที่ปลูก ถ้าเป็นวาซาบิที่โตในลำธารจะเรียกว่า ซาวะวาซาบิ แต่ถ้าโตบนพื้นดินจะเรียกว่า ฮาตาเกะวาซาบิ
นิยมรับประทานโดยนำโคนลำต้นมาฝนละเอียด มีราคาแพงเพราะเป็นหนึ่งในพืชที่ปลูกยากที่สุดในโลก ด้วยปัจจัยด้านน้ำที่ต้องสะอาด มีอุณหภูมิประมาณ 18 องศาเซลเซียส เป็นน้ำที่ไหลผ่านไม่ใช่น้ำขังบนดินที่ระบายน้ำได้ดี และต้นอ่อนต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตถึง 1 ปี
2. วาซาบิสีขาว หรือเซโยวาซาบิ
หรือก็คือฮอร์สแรดิช เป็นพืชหัวจากทางยุโรป มีสีขาว กลิ่นฉุนเฉพาะ และรสเผ็ดกว่าวาซาบิแท้ มีการเพาะปลูกในภูมิภาคที่อากาศหนาวเย็นของญี่ปุ่น เช่น ฮอกไกโด โดยถูกนำมาผสมสีและแต่งกลิ่นให้ใกล้เคียงกับวาซาบิสดเพื่อทดแทนวาซาบิสดที่ราคาแพง มีราคาถูกกว่าและสามารถเก็บไว้ในนานกว่าวาซาบิสด
วาซาบิแท้ Vs วาซาบิเทียม
เนื่องจากวาซาบิแท้มีราคาสูงจึงมีการผลิตวาซาบิเทียมออกมาทดแทน วิธีการดูว่าก้อนวาซาบิที่คุณเห็นเป็นวาซาบิแท้หรือไม่ สามารถสังเกตได้จากกลิ่นที่ไม่ฉุดจัดจนเกินไป มีสีเขียวอ่อนไม่สม่ำเสมอ เนื้อหยาบกว่าแบบเทียมและอาจเห็นเส้นใยติดมาด้วยเล็กน้อย
ส่วนวาซาบิเทียมที่ทำจากต้นฮอร์สแรดิชและผงมัสตาร์ดที่ผสมสีและแป้ง จะมีลักษณะเนียน ละลายง่ายในโชยุ และมีกลิ่นฉุนกว่าวาซาบิแท้ แต่รสชาติยังคงใกล้เคียงกัน
วิธีรับประทานวาซาบิ
ส่วนใหญ่แล้วมักรับประทานวาซาบิคู่กับซูชิหรือปลาดิบ โดยป้ายวาซาบิบนเนื้อปลาก่อนนำอีกด้านที่ไม่มีวาซาบิแตะซอสโชยุเล็กน้อย เพื่อให้คงความหวานของเนื้อปลาและรสเค็มของโชยุไว้ไม่ให้รสตีกัน
ปัจจุบัน วาซาบิได้กระจายความนิยมไปทั่วโลก ทำให้ถูกนำมาแปรรูปเป็นผงปรุงรสหรือผสมในขนมและอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ รวมถึงดัดแปลงเป็นซอสและน้ำสลัดด้วย
ประโยชน์ของวาซาบิ
นอกจากวาซาบิจะมีสารอาหารจำพวกโปรตีน ไฟเบอร์ แคลเซียม โพแทสเซียม โซเดียม วิตามินอี และวิตามินเคแล้ว ยังมีสารอัลลิลไอโซไทโอไซยาเนท (Allyl Isothiocyanate) ที่มีงานวิจัยบางส่วนระบุมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ช่วยป้องกันโรคแผลในกระเพาะและลำไส้เล็ก โรคท้องร่วง และอาหารเป็นพิษ
- ป้องกันมะเร็ง งานวิจัยหนึ่งระบุว่าสารดังกล่าวมีผลต่อการป้องกันและยับยั้งเซลล์มะเร็งบางชนิดในสัตว์ได้ เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งในอวัยวะที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
- บำรุงหลอดเลือด ช่วยป้องกันเส้นเลือดอุดตัน ลดการอักเสบและบำรุงหลอดเลือดให้แข็งแรง ยืดหยุ่น และทำงานได้ดี ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
- ป้องกันฟันผุ สารดังกล่าวจะช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับผลของวาซาบิต่อมนุษย์ส่วนใหญ่ใช้เพียงแค่สารสกัดจากวาซาบิ ทำให้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะได้ผลเดียวกันกับการรับประทานวาซาบิเป็นเครื่องจิ้มหรือส่วนผสมในอาหารหรือไม่
วิธีเก็บวาซาบิสด
เพื่อเก็บรักษาวาซาบิสดให้คงคุณภาพอยู่ได้นาน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หัววาซาบิ ควรเก็บในกระดาษเช็ดมือหนาๆ แช่ในตู้เย็น ล้างด้วยน้ำเย็นทุก 2-3 วันก่อนจะสะเด็ดน้ำและเก็บเข้าตู้เย็น สามารถเก็บในตู้เย็นได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากใช้แล้ว
- วาซาบิที่ขูดแล้วหรือผงวาซาบิ ควรเก็บไว้ในที่เย็นและไม่มีแสงจ้าเสมอ สำหรับวาซาบิที่ขูดเป็นก้อนสามารถเก็บในตู้เย็นหลังจากใช้แล้วได้นานประมาณ 12 เดือน ส่วนผงวาซาบิเก็บได้นาน 6 เดือน
ข้อควรระวังในการรับประทานวาซาบิ
เพื่อให้การรับประทานวาซาบิปลอดภัย ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
- ไม่ควรรับประทานวาซาบิที่เปลี่ยนสภาพ เช่น วาซาบิสดที่นิ่มเละ แม้จะเป็นบางส่วนก็ตาม ซึ่งสามารถดูด้วยตาเปล่าได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงวาซาบิเป็นก้อนขูดแล้วหรือแบบผงที่เกิดการแยกตัวเป็นน้ำ มีกลิ่นผิดปกติ หรือมีเชื้อรา
- วาซาบิไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นม เพราะยังไม่มีรายงานที่รับรองความปลอดภัยชัดเจน จึงควรหลีกเลี่ยงไปจนกว่าจะหย่านม
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากฤทธิ์ในการต่อต้านการแข็งตัวของเลือดอาจทำให้เลือดยิ่งแข็งตัวได้ยากกว่าเดิมจนทำให้เลือดออกมากผิดปกติได้
ผักขี้หูด วาซาบิเมืองไทย
ในประเทศไทยก็มีพืชที่ให้รสคล้ายวาซาบิ เรียกว่า ผักขี้หูด
พืชชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายหูดที่ขึ้นตามผิวหนัง มักเจริญเติบโตในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นหรือมีความชุ่มชื้น ผักชนิดนี้จึงเป็นที่รู้จักและใช้กันมากในภาคเหนือ โดยส่วนที่มีรสชาติคล้ายวาซาบิคือใบดิบและฝักดิบ มีรสเผ็ดและกลิ่นฉุน แต่เมื่อนำไปปรุงสุกแล้วจะออกรสหวานมันจึงนิยมนำมารับประทานทั้งแบบดิบและลวกคู่กับน้ำพริก
ผักขี้หูดมีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร ใช้เป็นยาสมุนไพรแก้หวัด ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และช่วยละลายนิ่ว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และอาจได้รับพิษตกค้างจากผัก