ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับลูกแฝดเมื่อต้องไปโรงเรียน
การที่คุณจะตัดสินใจแยกโรงเรียนของลูกหรือให้เขาไปโรงเรียนเดียวกันนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของเด็ก ความสามารถ และความต้องการ ทั้งนี้คุณอาจลองสอบถามความคิดเห็นของลูกเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและฟังความต้องการของเด็กว่าพวกเขาอยากอยู่ห้องเดียวกันหรือคนละห้อง อย่างไรก็ดี สำหรับทางเลือกในการแยกลูกแฝดเมื่อเข้าโรงเรียนมี 3 ทางเลือกดังนี้
- ให้ลูกเริ่มเรียนด้วยกันและวางแผนให้เขาอยู่ด้วยกัน
- แยกลูกแฝดตั้งแต่เริ่มต้น
- ให้ลูกเรียนด้วยกันตอนแรกแล้วค่อยแยกกันเรียนในภายหลัง
การให้ฝาแฝดอยู่ด้วยกันที่โรงเรียน
มีงานวิจัยที่ทำโดย Kings College London พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วฝาแฝดที่แยกกันเรียนตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนประถมจะมีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์มากขึ้นเมื่อเทียบกับฝาแฝดที่อยู่ด้วยกัน ซึ่งจะยิ่งสังเกตได้ชัดในแฝดแท้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าฝาแฝดทุกคนจะได้รับผลกระทบ และฝาแฝดบางคู่อาจได้รับประโยชน์จากการอยู่แยกกัน ซึ่งการคำนึงถึงลักษณะนิสัยของลูกเมื่อตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับประโยชน์ของการให้ลูกแฝดอยู่ด้วยกันที่โรงเรียนมีดังนี้
- ฝาแฝดมักปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เร็วหากพวกเขาได้อยู่ด้วยกัน
- ฝาแฝดที่ไม่อยากถูกแยกจากกันอาจไม่มีความสุขหากถูกบังคับให้อยู่ห่างกัน การทำเช่นนี้อาจทำให้พวกเขาต้องการอีกฝ่ายมากขึ้น
- หากฝาแฝดมีความเป็นตัวของตัวเองสูงและจะรู้สึกเสียใจเมื่อต้องแยกจากอีกคนหนึ่ง คุณก็ควรให้พวกเขาอยู่ด้วยกัน
- หากฝาแฝดชอบแข่งขันกัน การแยกพวกเขาไม่ให้อยู่ด้วยกันที่โรงเรียนก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่การแข่งขันแบบระดับเบาสามารถช่วยกระตุ้นเด็กได้
การแยกฝาแฝด
มีฝาแฝดประมาณ 1 ใน 3 ที่ถูกแยกจากกันเมื่อไปโรงเรียน สำหรับประโยชน์ของการแยกฝาแฝดมีดังนี้
- หากมีคนใดคนหนึ่งที่เก่งด้านเข้าสังคมหรือด้านการเรียนมากกว่าอีกคน การแยกฝาแฝดออกจากกันก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการเปรียบเทียบและการแข่งขัน
- การให้ฝาแฝดอยู่ด้วยกันอาจทำให้พวกเขาซุกซนมากกว่าเดิม
- หากแฝดคนหนึ่งพึ่งพาแฝดอีกคนมากเกินไปและไม่ได้แยกจากกันบ้าง มันก็อาจทำให้พวกเขาเข้ากับเด็กคนอื่นๆ ได้ยากขึ้น
- หากเป็นแฝดเหมือน เขาก็อาจใช้ความเหมือนในการทำให้อาจารย์สับสนและสร้างความบันเทิงให้แก่เด็กคนอื่นๆ ซึ่งสามารถทำให้เด็กคนอื่นเสียสมาธิหรือทำให้รบกวนคนอื่นๆ
สำหรับคำแนะนำอื่นๆ ที่ช่วยให้ลูกพร้อมสำหรับการไปโรงเรียนมีดังนี้
- หากคุณตัดสินใจที่จะแยกลูกแฝด คุณควรอธิบายว่าทำไมคุณถึงทำเช่นนี้
- อนุญาตให้ลูกแฝดได้ใช้เวลาร่วมกับปู่ย่าตายาย
- ปรึกษาครูเกี่ยวกับการให้ลูกแฝดที่ต้องแยกจากกันได้มีเวลาเจอกันในระหว่างวัน
การชะลอการแยกฝาแฝด
หากคุณเลือกที่จะชะลอการแยกฝาแฝด คุณก็ควรเลือกเวลาให้เหมาะสม เช่น เมื่อจบปีการศึกษา มิเช่นนั้นจะมีแฝดคนหนึ่งที่ได้อยู่กับเพื่อนและครูคนเดิม ในขณะที่แฝดอีกคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการยอมรับ เพราะถูกแยกไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่
พัฒนาการด้านภาษาของฝาแฝด
โดยเฉลี่ยแล้วฝาแฝดมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้ากว่าทารกที่ไม่มีแฝดประมาณ 6 เดือน สาเหตุที่ทำให้ฝาแฝดพูดได้ช้าและมีทักษะด้านภาษาช้ากว่าปกติประกอบไปด้วย
- ฝาแฝดมีแนวโน้มได้รับความสนใจเมื่อมีการร้องไห้เป็นเวลาสั้นๆ น้อยกว่าทารกที่ไม่มีแฝด
- ผู้ปกครองมักพูดกับแฝดคนหนึ่งในขณะที่ตามองเด็กอีกคน ซึ่งการสบตาเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเด็ก เพราะมันมีส่วนช่วยในพัฒนาการด้านภาษา
- ฝาแฝดมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาร่วมกัน ดังนั้นเขาจะจำคำที่แฝดอีกคนพูดแทนที่จะจำคำพูดจากผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่อยู่รอบตัว
- ฝาแฝดมีเวลาฝึกพูดน้อยลง เพราะพวกเขาอาจพยายามแข่งขันกันฟัง
- ในบางครั้งแฝดคนหนึ่งอาจตอบแทนแฝดอีกคน
อย่างไรก็ดี หากลูกแฝดของคุณพูดช้า คุณไม่ต้องกังวลแต่คุณควรมั่นใจว่าพวกเขามีเวลาเพียงพอที่ได้พูดและแสดงความรู้สึกของตัวเอง
การพูดกับฝาแฝด
ช่วงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมสามารถเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้คุณมีเวลาสนใจลูกทีละคน หรือคุณจะอาบน้ำให้ลูกแยกกันตอนกลางคืนเพื่อที่คุณจะได้มีเวลาพูดคุยกับลูกแต่ละคน นอกจากนี้คุณยังสามารถ
- ปิดโทรทัศน์และวิทยุเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันเพื่อให้ทารกสามารถได้ยินเสียงรอบๆ โดยไม่มีเสียงรบกวน
- ฟังทารกและตอบสนองต่อลูกเมื่อเขาทดลองทำเสียงต่างๆ
- พยายามเล่นและอ่านหนังสือกับลูกทีละคน
- หาเวลาคุยกับลูกทีละคนในแต่ละวันโดยพูดชื่อของเขาและสบตา
- สนับสนุนให้ลูกที่โตกว่า เพื่อน และครอบครัวคุยกับทารกแบบหนึ่งต่อหนึ่ง