N Health
ชื่อผู้สนับสนุน
N Health

ตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคร้าย

รู้ไหม? ร่างกายคุณอาจได้รับสารพิษอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากอาหารที่ปนเปื้อน การสูดดมหรือสัมผัสสารเคมีโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากสะสมมากขึ้น อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้
เผยแพร่ครั้งแรก 6 ส.ค. 2021 อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคร้าย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ชีวิตประจำวันเราต้องเผชิญกับมลพิษ ฝุ่นควัน สารเคมีตลอดเวลา เมื่อร่างกายสะสมสารพิษมากขึ้นจะเป็นอันตรายร้ายแรงได้ การตรวจวัดปริมาณสารพิษในร่างกาย ช่วยป้องกันความเสี่ยงได้
  • การตรวจวัดปริมาณสารพิษในร่างกายมี 2 รูปแบบ คือ การตรวจหาโลหะที่เป็นพิษ และ การตรวจหาสาร PAHs ที่มากับมลภาวะทางอากาศ
  • การตรวจหาโลหะที่เป็นพิษ คือการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดปริมาณโลหะเป็นพิษ ที่มักปนเปื้อนมากับอาหารและเครื่องอื่มที่เรารับประทานเป็นประจำ เช่น ปลาทะเลน้ำลึก เนื้อสัตว์ต่างๆ นับเป็นวิธีที่ได้มาตรฐาน ผลลัพธ์แม่นยำ
  • การตรวจหาสาร PAHs คือการตรวจปัสสาวะ เพื่อหาปริมาณสาร PAHs ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีที่เกิดจาการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของสารประกอบอินทรีย์ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ควันธูป ควันบุหรี่ อาหารรมควัน ปิ้งย่าง 

ฝุ่น PM2.5 ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ สารเคมีที่ปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่ม ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งมลพิษที่เราต้องเผชิญในทุกๆ วัน สำหรับผลกระทบจากสารพิษเหล่านี้ ถ้าหากร่างกายได้รับในปริมาณไม่มากอาจจะไม่เกิดอันตรายรุนแรงแบบเฉียบพลัน แต่ถ้าหากมีการสัมผัสอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ร่างกายสะสมสารพิษในปริมาณที่มากขึ้นจนเป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายหรือทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ สาเหตุหลักของการได้รับสารมลพิษสะสมมักมาจากการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงเป็นประจำ เช่น เขตเมืองที่มีการจราจรแออัด เขตอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยควันพิษ พื้นที่ที่มีควันจากการเผาป่า รวมถึงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนเป็นประจำ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพและลดความเสี่ยงจากการสะสมสารมลพิษจนถึงระดับที่เป็นอันตราย การตรวจวัดปริมาณสารพิษในร่างกายจะเป็นวิธีที่ทำให้ทราบว่าเรามีสารพิษสะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งช่วยให้เราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างของการตรวจหาสารพิษในร่างกายที่ได้รับความนิยมมี 2 รายการ ได้แก่

  1. การตรวจหาโลหะที่เป็นพิษ (Toxic Metal Profile)
  2. การตรวจหาสาร PAHs ที่มากับมลภาวะทางอากาศ

1.1 การตรวจหาโลหะที่เป็นพิษ (Toxic Metal Profile)

การตรวจ Toxic Metal Profile คือ การตรวจวัดปริมาณโลหะที่เป็นพิษที่สะสมในร่างกาย หลายคนอาจคุ้นกับชื่อ “การตรวจโลหะหนัก (Heavy Metals)” แต่ความจริงแล้วโลหะที่เป็นพิษมีหลายชนิด ไม่ใช่เฉพาะแต่โลหะหนักเท่านั้น เช่น อลูมิเนียม (Al) ซึ่งโลหะเหล่านี้หากสะสมในร่างกายในปริมาณมากก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคที่ร้ายแรงต่อร่างกายได้ เช่น โรคมะเร็ง ภาวะตับอักเสบ ภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่มีโลหะที่เป็นพิษสะสมในร่างกายมักเกิดจากการได้รับโลหะนั้นทีละน้อยและได้รับซ้ำๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งการได้รับโลหะรูปแบบนี้ร่างกายจะยังไม่แสดงอาการใดๆ อย่างชัดเจน จนกว่าปริมาณโลหะจะมากจนถึงระดับที่เป็นอันตราย เมื่อถึงจุดนั้นอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนส่งผลให้การรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น

1.2 โลหะและสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?

หลายคนอาจเข้าใจว่าโลหะหรือสารพิษมักพบในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ที่มลภาวะเป็นพิษเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวก็แทบจะไม่มีโอกาสได้รับโลหะหรือสารพิษเหล่านั้น แต่จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันทุกคนมีโอกาสสัมผัสหรือได้รับโลหะหรือสารพิษตลอดเวลาจากการปนเปื้อนมากับสิ่งของเครื่องใช้และปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราบริโภคเป็นประจำ

“ภาชนะพลาสติก จานชามเมลามีน แป้งเด็ก เครื่องสำอาง น้ำมันรถยนต์ ท่อประปา น้ำหมึก สีทาบ้าน สีย้อมผ้า ของเล่นเด็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์”

สิ่งของเครื่องใช้ที่กล่าวมานี้ หากมีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ล้วนมีโอกาสปนเปื้อนโลหะหรือสารพิษได้ทั้งสิ้น

“อาหารทะเลต่างๆ เช่น ปลาทะเล กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก สาหร่ายทะเล เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ รวมถึงผักและผลไม้นานาชนิด”

อาหารที่เรารับประทานเป็นประจำทุกวันก็มีโอกาสปนเปื้อนโลหะหรือสารพิษด้วยเช่นกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆ มีสารพิษตกค้าง เช่น โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียที่มีโลหะหรือสารพิษเจือปนลงในแหล่งน้ำธรรมชาติและไหลออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่เราบริโภค ยิ่งสัตว์น้ำที่มีวงจรชีวิตยืนยาวและขนาดตัวใหญ่มากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะพบโลหะและสารพิษสะสมมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากมีระยะเวลาในการสะสมสารพิษยาวนานนั่นเอง

สำหรับโลหะที่พบในสภาพแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสที่จะสะสมในร่างกายได้มากจนเกิดอันตราย ได้แก่

  • ตะกั่ว (Lead)
  • ปรอท (Mercury)
  • แคดเมียม (Cadmium)
  • แมงกานีส (Manganese)
  • โครเมียม (Chromium)
  • โคบอลต์ (Cobalt)
  • นิกเกิล (Nickel)
  • สารหนู (Arsenic)
  • อลูมิเนียม (Aluminum)

จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของเรามีโอกาสเสี่ยงในการรับโลหะหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัวและหลีกเลี่ยงได้ยาก การตรวจ Toxic Metal Profile หรือตรวจหาโลหะหรือสารพิษสะสมในร่างกายก็เป็นทางเลือกที่ช่วยให้เราสามารถวางแผนป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากโลหะและสารพิษได้

1.3 การตรวจหาโลหะในร่างกายทำได้ด้วยวิธีใด?

การตรวจ Toxic Metal Profile หรือการตรวจหาโลหะที่เป็นพิษต่อร่างกายสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การตรวจในเลือดและการตรวจในปัสสาวะ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ให้ผลที่แม่นยำเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับการแปลผลของแพทย์และความต้องการของผู้เข้ารับบริการ

ในปัจจุบันนี้ วิธีมาตรฐานที่ได้รับความนิยมสำหรับตรวจหาปริมาณโลหะในเลือดหรือในปัสสาวะ คือ Inductively Coupled Plasma-Mass Spectrometry (ICP-MS) ซึ่งสามารถวิเคราะห์ปริมาณโลหะได้อย่างถูกต้องแม่นยำและน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะถ้าดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ผ่านการรับรองระบบมาตรฐาน ISO 15189

2.1 การตรวจสารมลพิษ PAHs จากการได้รับฝุ่น PM2.5

อนุภาคฝุ่น PM2.5 คือชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นมลภาวะทางอากาศที่ใครหลายคนต้องเผชิญในทุกๆ ปี หลายคนอาจเข้าใจว่า PM 2.5 เป็นเพียงฝุ่นขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วบนเม็ดฝุ่นขนาดจิ๋วนี้ยังมีสารพิษอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเกาะอยู่ด้วย เช่น โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งกลุ่ม PAHs

PAHs หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) เป็นกลุ่มสารเคมีที่ เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารประกอบอินทรีย์ เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงและถ่านหิน ไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องยนต์ เขม่าควันไฟ ควันธูป ควันบุหรี่ อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน ยาหรือเครื่องสำอางบางชนิด ซึ่ง PAHs สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ สามารถเข้าสู่ร่างกายเราโดยการสัมผัส สูดดม หรือบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน PAHs ในปริมาณสูง

PAHs มีคุณสมบัติเป็นอนุมูลอิสระ (Free Radical) หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้ เช่น ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลง ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ปอดถูกทำลาย มีอาการคล้ายหอบหืด ส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนชนิดต่างๆ กระทบต่อกระบวนการเจริญเติบโต ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินอาหาร และยังจัดเป็นสารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็งอีกด้วย

2.2 PAHs เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?

PAHs สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่าน 2 ช่องทางหลักๆ ได้แก่

  1. ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ PAHs มักจะเกาะกลุ่มกันเป็นอนุภาคเล็กๆ หรือจับกับฝุ่น PM2.5 และ PM10 แล้วล่องลอยอยู่ในอากาศ ทำให้เรามีโอกาสหายใจเอา PAHs เข้าสู่ร่างกายได้ทุกเมื่อ
  2. ผ่านทางระบบทางเดินอาหาร PAHs มักพบในอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างติดหนัง รวมถึงอาหารรมควันด้วย

2.3 การตรวจหาสาร PAHs ที่ร่างกายรับเข้าไปทำได้ด้วยวิธีใด?

การตรวจหาสาร PAHs ที่ร่างกายรับเข้าไปสามารถตรวจได้จากตัวอย่างปัสสาวะ เนื่องจาก PAHs เข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นสารเมตาบอไลต์ที่มีชื่อว่า 1-Hydroxypyrene (1-OHP) และจะถูกขับออกมาในปัสสาวะ ซึ่งสารนี้สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) สำหรับตรวจติดตามระดับการได้รับสาร PAHs เพื่อประเมินความเสี่ยงและการวางแผนดูแลสุขภาพได้ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Liquid Chromatography Tandem Mass Spectrometry (LC-MS/MS) ซึ่งมีความจำเพาะต่อโมเลกุลของสารที่ตรวจและให้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ

2.4 กำจัดสาร PAHs ออกจากร่างกายได้อย่างไร?

ตามปกติสาร PAHs จะถูกกำจัดโดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของระบบการกำจัดสารพิษในร่างกายและถูกขับออกผ่านทางปัสสาวะหรืออุจจาระ แต่หากได้รับในปริมาณที่มากและต่อเนื่อง อาจทำให้กลไลของร่างกายขับออกไม่ทันและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้นวิธีที่ดีในการดูแลสุขภาพคือป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับสาร PAHs นั่นเอง เช่น การหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการจราจรติดขัด หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อน PAHs ด้วย

การตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย จำเป็นแค่ไหน?

สำหรับผู้ที่ประเมินแล้วว่าในชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงที่จะได้รับโลหะหนักหรือสารมลพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ทำงานหรือพักอาศัยในพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมเป็นพิษ (อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ใจกลางเมืองที่การจราจรแออัด) ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับโลหะหรือสารเคมีเป็นประจำ มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารประเภทเดิมซ้ำๆ ชื่นชอบอาหารปิ้งย่าง อาหารทะเล เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ควรเข้ารับการตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย เพื่อจะได้ทราบว่าสารพิษในร่างกายอยู่ในระดับใด มีแนวโน้มว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ นำมาสู่การวางแผนดูแลสุขภาพหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อร่างกาย

การตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย ควรตรวจบ่อยแค่ไหน?

ความถี่ในการตรวจสารพิษสะสมในร่างกายนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล ผู้ที่มีโอกาสได้รับสารพิษมากก็ควรตรวจบ่อยกว่าผู้ที่มีโอกาสได้รับสารพิษน้อย หรือผู้ที่ตรวจพบว่าสารพิษสะสมในร่างกายมากก็ควรมีการนัดตรวจเพื่อติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินและการวินิจฉัยของแพทย์

การตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย ตรวจได้ที่ไหน?

โรงพยาบาลรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ทั่วไปจะมีบริการตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย พร้อมทั้งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำแนะนำ หรืออีกทางเลือกคือเข้าใช้บริการยังห้องปฏิบัติการที่มีการตรวจวัดระดับโลหะที่เป็นพิษและ PAHs อย่าง N Health ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 15189 จึงมั่นใจในผลการตรวจว่าถูกต้องและเชื่อถือได้ หลังตรวจแล้วจะได้รับรายงานสรุปผลในรูปแบบกราฟฟิกซึ่งสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่ายด้วยตนเอง

การตรวจสารพิษสะสมในร่างกาย หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วนับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะโลหะหนักและสารมลพิษมีอยู่ในสภาพแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลา และอาจกล่าวได้ว่าการสะสมสารพิษในร่างกายทีละเล็กทีละน้อยถือเป็นภัยเงียบที่ร้ายแรง เพราะแรกๆ มักจะไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งเกิดการสะสมจนถึงระดับที่อันตรายต่อสุขภาพหรือทำให้เกิดโรค

*** ข้อมูลโดย ดร.ภูวดล ธรรมราษฎร์ ผู้จัดการอาวุโสห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชะลอวัย N Health


บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)