ภาวะน้ำลายไหล มักเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณรอบปาก และการผลิตน้ำลายของต่อมน้ำลายที่มากเกินไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ และสามารถรักษาให้หายได้ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงนัก
ภาวะน้ำลายไหล (Drooling) คือการที่มีน้ำลายไหลออกมาจากปากโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมักเป็นผลจากการมีกล้ามเนื้อรอบปากอ่อนแรง กล้ามเนื้อรอบปากพัฒนาไม่เต็มที่ หรือเนื่องจากมีน้ำลายมากเกินไป
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
น้ำลายจะถูกสร้างขึ้นจากต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ที่มีทั้งหมด 6 ต่อม กระจายอยู่ในช่องปาก บริเวณแก้ม และใกล้กับฟันหน้า ต่อมน้ำลายสามารถสร้างน้ำลายในปริมาณ 1-2 ลิตรต่อวัน หากต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายมากกว่านี้ ก็อาจทำให้เกิดภาวะน้ำลายไหลได้
ภาวะน้ำลายไหลมักพบได้เป็นปกติในเด็กอายุ 2 ปีแรก เนื่องจากทารกยังมีพัฒนาการกล้ามเนื้อปากไม่สมบูรณ์และไม่สามารถควบคุมการกลืนได้เต็มที่ และอาจพบได้ในคนที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy)
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะน้ำลายไหล
ภาวะน้ำลายไหล อาจเป็นอาการหนึ่งของความผิดปกติทางการแพทย์ การมีพัฒนาการช้า หรือผลจากการใช้ยาบางชนิด ปัจจัยใดก็ตามที่ทำให้เกิดการผลิตน้ำลายมากกว่าปกติ กลืนอาหารได้ยาก หรือเกิดปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อปาก อาจนำไปสู่ภาวะน้ำลายไหลได้ทั้งสิ้น เช่น
- อายุ : ภาวะน้ำลายไหลจะเกิดขึ้นในทารกหลังคลอด และจะพบมากที่สุดเมื่อทารกอายุได้ 3-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีพัฒนาการมากขึ้น การเกิดภาวะน้ำลายไหลในทารกเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อทารกเริ่มมีฟันขึ้น
- อาหาร : อาหารที่เป็นกรดมาก จะทำให้เกิดการสร้างน้ำลายมากขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจทำให้มีภาวะน้ำลายไหลได้เช่นกัน
- ความผิดปกติทางระบบประสาท : ความผิดปกติทางการแพทย์บางอย่าง อาจทำให้เกิดภาวะน้ำลายไหลได้ เช่น ภาวะสมองพิการ โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด ALS หรือภาวะเส้นเลือดในสมองแตก อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ทำให้ไม่สามารถปิดปากและกลืนน้ำลายได้ปกติ
- ปัจจัยอื่นๆ : ภาวะหรือโรคอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้ มะเร็ง และการติดเชื้อในส่วนที่เหนือลำคอขึ้นไป อย่างโรคคออักเสบ ทอนซิลอักเสบ และไซนัสอักเสบ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาในการกลืนอาหารจนทำให้เกิดภาวะนี้ได้
การรักษาภาวะน้ำลายไหล
การรักษาภาวะน้ำลายไหล จะทำเฉพาะในผู้ที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น เช่น มีน้ำลายไหลจากปากลงไปถึงเสื้อผ้า ภาวะดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และสร้างปัญหาในการเข้าสังคม หรือที่รุนแรงที่สุดคือ การมีน้ำลายมากเกินไปจนทำให้เกิดการสูดน้ำลายลงไปสู่ปอด ทำให้เกิดอาการปอดบวม
แพทย์จะทำการตรวจประเมินอาการ และหาแนวทางที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด โดยวิธีรักษาที่แพทย์มักแนะนำ คือ
- การใช้ยา : แพทย์อาจสั่งยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ลดการสร้างน้ำลาย ซึ่งได้แก่
- Scopolamine (Transderm Scop) : อยู่ในรูปแผ่นแปะบนผิวหนัง เพื่อให้ตัวยาค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย แผ่นแปะนี้มีอายุการใช้งาน 72 ชั่วโมง
- Glycopyrrolate (Robinul) : อยู่ในรูปยาฉีดหรือยาเม็ดสำหรับกิน ยาชนิดนี้จะลดการสร้างน้ำลาย แต่อาจมีผลข้างเคียงคือทำให้ปากแห้ง
- Atropine sulfate : เป็นยาสำหรับหยอดปาก มักใช้ในผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีภาวะน้ำลายไหล
- การบำบัด : การบำบัดจะดำเนินการโดยนักอรรถวิทยา หรือนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งจะสอนท่าทางและวิธีในการควบคุมกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปิดปากและกลืนน้ำลายได้
- การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางทันตกรรม : แพทย์อาจให้ใส่อุปกรณ์พิเศษบางอย่างไว้ภายในปาก เพื่อช่วยให้ปากปิดได้สนิทในระหว่างที่กลืนอาหาร เช่น แก้วครอบคาง (Chin Cup) หรืออุปกรณ์ทันตกรรมอื่นๆ เพื่อจัดกล้ามเนื้อปากและตำแหน่งของลิ้นขณะกลืนอาหาร
- การฉีดโบท็อกซ์ : การฉีดโบท็อกซ์จะช่วยบรรเทาอาการน้ำลายไหล เพราะทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าตึงกระชับขึ้น
- การผ่าตัด : โดยทั่วไปแล้วมักผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนช่องทางการหลั่งน้ำลายจากท่อน้ำลายบริเวณหลังช่องปาก เพื่อไม่ให้มีน้ำลายไหลออกมาจากปาก หรือตัดต่อมน้ำลายออกโดยสมบูรณ์ แต่วิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากเท่านั้น
แม้ภาวะน้ำลายไหลจะเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในเด็ก แต่หากสังเกตว่าเด็กมีน้ำลายไหลออกมามากเกินไป หรือมีอาการอื่นๆ ที่น่ากังวล ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะมีความผิดปกติทางการแพทย์หลายอย่างที่ทำให้เกิดภาวะน้ำลายไหลได้
ที่มาของข้อมูล
Healthline, What Causes Drooling? (https://www.healthline.com/symptom/drooling), December 2017