ทำโทษลูกแบบไหน ถึงเป็นวิธีที่ถูกต้อง? ไม่เกิดปมในใจลูก

อยากให้ลูกมีระเบียบวินัย ควรทำโทษลูกให้แรงๆ จะได้หลาบจำ...จริงหรือ? มาดูกันว่าควรทำโทษอย่างไรถึงเหมาะสม ไม่เกิดปมในใจเด็กแต่ละช่วยวัย
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ทำโทษลูกแบบไหน ถึงเป็นวิธีที่ถูกต้อง? ไม่เกิดปมในใจลูก

การอบรมสั่งสอนลูก เป็นอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งของคุณพ่อคุณแม่ที่จะทำให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพ แต่บางครั้งลูกก็ไม่ได้ทำตามที่ใจคุณพ่อคุณแม่ต้องการเสมอ ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจมีอารมณ์หงุดหงิด โมโห ไม่พอใจ

จนบางครั้งเกิดการทะเลาะกัน ขึ้นเสียงโวยวาย จบท้ายด้วยการทำโทษด้วยการตี เพื่อคาดหวังว่าลูกจะไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาดอีก

เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้อาจสร้างแผลในใจให้กับลูก และส่งผลเสียต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกได้เมื่อลูกโตขึ้น

การทำโทษลูก เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่?

การทำโทษหรือการลงโทษ เป็นรูปแบบหนึ่งของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้พฤติกรรมที่ไม่ดีลดหายไป และมีพฤติกรรมที่ดีๆ เกิดขึ้นทดแทน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นเป็นหนึ่งในหลักที่ใช้สร้างวินัยให้เด็ก

การทำโทษมี 2 แบบ ได้แก่

  1. การทำโทษทางบวก (Positive punishment) เป็นการให้สิ่งเร้าที่ลูกไม่พึงพอใจ เพื่อทำให้พฤติกรรมของลูกลดลง เช่น การตี
  2. การทำโทษทางลบ (Negative punishment) การนำสิ่งเร้าที่ลูกพึงพอใจหรือสิ่งเสริมแรงออกไป ทำให้พฤติกรรมของลูกลดลง เช่น การงดเวลาในการดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมส์

อย่างไรก็ตาม การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกให้ดี มีระเบียบวินัยขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำโทษเพียงอย่างเดียว การอบรมสั่งสอนลูกก็มีหลากหลายวิธีให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูสามารถนำไปปรับใช้ได้

เช่น การให้แรงเสริมทางบวก การให้เด็กเรียนรู้ผ่านผลของการกระทำ เป็นต้น

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกเกิดปมในใจ?

คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูมักจะคาดหวังให้ลูกทำในสิ่งที่ตนต้องการ ไม่ดื้อ ไม่ซน และอยู่ในระเบียบวินัยที่พ่อแม่ตั้งกฎเกณฑ์ไว้

เมื่อลูกไม่ปฏิบัติตามนั้น แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูก็จะรู้สึกไม่ดี อาจใช้การบ่น ดุ ว่า หรือตะโกนใส่ลูก

บางคนเลือกใช้การทำโทษทางกาย เช่น การตี เพื่อให้ลูกสำนึกผิดและหวังผลให้ไม่ทำพฤติกรรมนั้นๆ ซ้ำอีก

การกระทำของคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูทั้งหลายเหล่านี้จะส่งผลต่อสมองส่วนจำให้จดจำเหตุการณ์ด้านลบมากขึ้น ยิ่งทำซ้ำๆ สมองก็ยิ่งจำมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการกระทำหรือพฤติกรรมของเด็กเมื่อเด็กโตขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลถึงสมองส่วนอารมณ์และจิตใจทำให้เกิดความเครียด นำมาซึ่งปัญหาทางอารมณ์และปัญหาทางจิตใจได้

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว เมื่อลูกทำผิดร่วมกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูอยากอบรมสั่งสอนลูก จึงควรปฏิบัติดังนี้

  1. ควบคุมอารมณ์ของตนเอง ไม่ให้โกรธ อาละวาด หรือโมโหจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรใจเย็น และให้เด็กได้แสดงความรู้สึกของตนเองออกมาก่อน
  2. พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลเมื่อลูกสงบลง โดยใช้คำพูดและประโยคให้เหมาะสมกับความเข้าใจตามวัยของลูก
  3. รับฟังลูก อย่าตัดสินลูกจากมุมมองของตนเองเพียงฝ่ายเดียว
  4. หาข้อตกลงร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และวางแผนแนวทางในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในครั้งต่อๆ ไป
  5. ควรหลีกเลี่ยงการนำเรื่องไม่ดีหรือพฤติกรรมไม่เหมาะสมของลูกไปเล่าสู่ให้บุคคลอื่นฟังจนเกินไป หรือพูดคุยเปรียบเทียบเด็กคนอื่นให้ลูกฟัง เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกอับอาย น้อยใจ และมองเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง
  6. ชมเชยลูกเมื่อลูกทำสิ่งที่เหมาะสมและมีพฤติกรรมที่ดี เพื่อให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเองและส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่เหมาะสมมากขึ้น

วิธีทำโทษลูกแบบไหนถึงเหมาะสม และได้ผลดี?

คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรให้การอบรมสั่งสอนเด็ก โดยใช้วิธีการฝึกวินัยเชิงบวก มากกว่าการบังคับให้เด็กทำตามที่เราต้องการ

เพราะการบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ ถึงแม้ว่าลูกอาจจะยอมทำตาม แต่จะเป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ และการบังคับไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้หรือควบคุมวินัยด้วยตัวของตัวเอง

บางครั้งจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกต่อต้านและเกิดปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาทางอารมณ์ตามมาได้

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรฝึกลูกให้รู้จักระเบียบวินัยโดยใช้ความเข้าใจ ใส่ใจ ใจเย็น และมีเหตุผล รวมทั้งเมื่อลูกทำผิดก็ควรเลือกวิธีการจัดการกับพฤติกรรมดังกล่าวให้เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงวัย ดังนี้

การทำโทษเด็กเล็กแรกเกิดจนถึง 1 ปี

คำแนะนำสำหรับการปรับพฤติกรรมเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • เรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น การกิน การนอน การเล่นและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู เป็นเรื่องหลักที่ต้องคำนึงถึง เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ร้องไห้โวยวายมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรหาสาเหตุและแก้ไขที่สาเหตุดังกล่าว
  • ควรจัดตารางกิจกรรมที่ให้สม่ำเสมอในแต่ละวัน เพื่อให้ลูกคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ และรู้สึกมั่นคงปลอดภัย
  • ไม่ควรสอนหรือทำโทษโดยการทำ Time-out การตี หรือให้ลูกเรียนรู้จากผลของการกระทำ เพราะลูกยังเล็กเกินไป

การทำโทษเด็กวัย 1-2 ปี

คำแนะนำสำหรับการปรับพฤติกรรมเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง มีพัฒนาการทางร่างกายเพิ่มมากขึ้น อยากค้นหาสิ่งใหม่ๆ เสมอ และเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรใช้วิธีการทำโทษโดยให้ลูกเรียนรู้จากผลของการกระทำ โดยอยู่ภายใต้การดูแลความปลอดภัยจากผู้เลี้ยงดู
  • คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูจะต้องมีความอดทนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็กวัยนี้มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นลงง่าย
  • ใช้วิธี Time-out ได้ แต่ผู้ปกครองควรอยู่กับลูกด้วยเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการอธิบายเรื่องเหตุและผลที่มากเกินไปให้ลูกรับฟัง เพราะวัยนี้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องเหตุและผลได้

การทำโทษเด็กวัย 2-3 ปี

คำแนะนำสำหรับการปรับพฤติกรรมเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • เด็กวัยนี้เริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรเข้าใจและยอมรับพัฒนาการตามช่วงวัย ควรเชื่อมโยงเหตุการณ์กับพฤติกรรมที่ลูกกระทำ หาสาเหตุและแก้ไข เพื่อจัดการกับพฤติกรรมนั้นๆ ไม่ให้เกิดซ้ำ
  • ใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อเกิดพฤติกรรมร้องกรี๊ดอาละวาด
  • เริ่มพูดคุยโดยใช้เหตุและผล และอธิบายสิ่งที่ควรปฏิบัติให้ลูกฟังเมื่อลูกสงบลง

การทำโทษเด็กวัย 3-5 ปี

คำแนะนำสำหรับการปรับพฤติกรรมเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • เด็กวัยนี้เริ่มยอมรับ ควบคุมอารมณ์ และความต้องการของตนเองได้ การพูดคุยโดยใช้เหตุและผลสามารถทำได้มากขึ้น
  • เด็กวัยนี้ยังต้องการแบบอย่างที่ดีและแบบอย่างที่ควรปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้
  • การให้คำชมเชยและรางวัลเมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ดีๆ จะส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีมากขึ้น

การทำโทษเด็กวัย 6-12 ปี

คำแนะนำสำหรับการปรับพฤติกรรมเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรปล่อยให้เด็กได้คิดและตัดสินใจด้วยตัวของตัวเอง ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากตน
  • ควรพูดคุยโดยให้เหตุและผลแก่ลูก ให้ลูกเรียนรู้จากผลของการกระทำ เช่น “หนูเล่นของเล่นแรงๆ จนพัง หนูก็จะไม่มีของเล่นไว้เล่นอีก”
  • ชมเชยและให้รางวัลเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดีๆ
  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก
  • เลือกใช้วิธีการทำโทษ โดยงดเว้นสิ่งที่ลูกพึงพอใจหรือสิ่งที่ลูกต้องการเมื่อทำผิด เช่น “วันนี้หนูไม่ยอมทำการบ้าน แม่จะไม่ให้หนูโทรทัศน์ 2 วัน” เป็นต้น

การทำโทษเด็กวัยรุ่น

คำแนะนำสำหรับการปรับพฤติกรรมเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • เด็กวัยนี้จะยึดถือกลุ่มเพื่อนและแบบอย่างจากบุคคลที่ตนเองชื่นชอบเป็นหลัก ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ปกครองเริ่มลดลง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรให้ความมั่นใจและความเชื่อใจกับลูกว่าตนยังอยู่เคียงข้างลูกเสมอ
  • สร้างกฎ กติกาจากการหาข้อตกลงร่วมกัน โดยหลีกเลี่ยงการตัดสินจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู
  • หลีกเลี่ยงการทำโทษทางกายโดยการตี หรือการทำร้ายร่างกาย
  • คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเลือกวิธีการแก้ไขปัญหา หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตนเองภายใต้ผลของการกระทำที่ยอมรับได้

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Pediatrics Child Health, Effective discipline for children (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2719514/), January 2004.
Healthy Children, 10 Tips to Prevent Aggressive Toddler Behavior (https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/toddler/Pages/Aggressive-Behavior.aspx), 5 December 2018.
American Academy of Pediatrics, AAP recommends positive discipline rather than physical (verbal punishmenthttps://www.aappublications.org/news/2018/11/05/nce18discipline110518), 5 November 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)