รอยสัก ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับเรือนร่างของตัวเอง และสักเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการเป็นคนรักกัน โดยอวัยวะที่นิยมสัก ได้แก่ ข้อเท้า แขน หน้าท้อง หัวไหล่ หลัง และเนินอก
เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนอาจต้องพบกับความยุ่งยากในการลบรอยสักด้วยเรื่องของการสมัครเรียน หรือสมัครงาน ขณะที่บางคนก็ต้องการลบรอยสักออก เนื่องจากเลิกรากับคนรักเก่าไปแล้ว วิธีการลบรอยสักในปัจจุบันนี้มีให้เลือกมากมาย แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการลบรอยสักด้วยเลเซอร์
ลบรอยสักวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 751 บาท ลดสูงสุด 81%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
การลบรอยสักด้วยวิธีต่างๆ
วิธีการลบรอยสักที่พบเห็นได้ทั่วไป มีดังต่อไปนี้
- การใช้น้ำยาลบรอยสัก น้ำยาชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไป มีราคาไม่สูงมาก ส่วนมากมักจะทำจากกรดที่มีฤทธิ์กัดผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีผู้นำยางมะละกอมาใช้แทนน้ำยาลบรอยสัก เมื่อนำมาใช้อาจทำให้รอยสักจางลงบ้าง แต่ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือรอยแผลเป็น หรือแผลคีลอยด์ ถ้าหากใช้ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดบาดแผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- การสักสีเนื้อทับ วิธีนี้เหมาะสำหรับรอยสักที่มีขนาดเล็กมาก เช่น การสักคิ้ว หากเป็นรอยสักขนาดใหญ่ จะทำให้รอยสักจางลงไปเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้บริเวณที่มีการสักทับนูนขึ้น และทำให้ผิวส่วนนั้นดูไม่เรียบเนียนเป็นธรรมชาติ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร
- การผ่าตัดลบรอยสัก วิธีนี้เป็นการลอกผิวหนังส่วนที่มีรอยสักออก แล้วเย็บผิวหนังปิดเข้าด้วยกัน เหมาะสำหรับรอยสักที่มีขนาดเล็ก แต่ภายหลังจากการักษาด้วยวิธีนี้จะต้องดูแลแผลตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง วิธีนี้เป็นวิธีลบรอยสักที่ได้ผลค่อนข้างดี แต่มีข้อเสียคือทิ้งรอยแผลเป็นไว้ และมีราคาค่อนข้างแพง
- การขัดผิวหนัง วิธีนี้จะเริ่มต้นด้วยการทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีรอยสักเกิดอาการชาจากยา หรือความเย็น จากนั้นอาจจะมีการใช้สารเคมีบางอย่าง พร้อมกับเครื่องมือขัดผิวที่มีความเร็วสูงขัดหมึกที่สักออกจากผิวหนัง วิธีนี้เหมาะสำหรับรอยสักขนาดเล็กเช่นกัน เพราะหารขัดรอยสักขนาดใหญ่จะต้องขัดลงลึก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บแสบอย่างรุนแรง และอาจทำให้ผิวมีรอยด่าง วิธีนี้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
- การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ การยิงเลเซอร์จะทำให้หมึกที่ใช้สักแตกตัว และจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ อุจจาระและเหงื่อ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนลบรอยสักด้วยวิธีนี้ทุกครั้ง เนื่องจากสีของรอยสักแต่ละสี ต้องใช้เลเซอร์ที่ไม่เหมือนกัน สีดำหรือสีโทนเข้มจะลบได้ง่ายกว่าสีสว่าง เช่น สีแดง สีฟ้า หรือสีเหลือง ข้อดีคือราคาไม่สูงมาก สามารถลบรอยสักออกได้อย่างถาวรโดยไม่ทำให้ผิวได้รับความเสียหายในระยะยาว
วิธีการลบรอยสักด้วยเลเซอร์
เมื่อแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาแล้วว่าสามารถลบรอยสักได้ จะมีการทายาชาทิ้งไว้บริเวณที่มีรอยสักประมาณ 1 ชั่วโมง หรือถ้าหากทนเจ็บได้ก็สามารถรยิงเลเซอร์ได้เลย โดยเลเซอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการลบรอยสักคือเลเซอร์แบบ Q-Switched ซึ่งจะเป็นพลังงานแสงชนิดหนึ่งที่ทำให้เม็ดสีที่ใช้ในการสักแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ เพื่อให้ร่างกายดูดซึมและขับออกไปพร้อมกับของเสีย เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ
ส่วนมากแล้ว ผู้ที่ต้องการลบรอยสักจะต้องเข้ารับการยิงเลเซอร์อย่างน้อย 2-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสีและความลึกของเม็ดสีที่สัก เพราะเลเซอร์ 1 เครื่องสามารถรบรอยสักได้เพียงไม่กี่สี หากรอยสักมีหลายสีก็ต้องยิงเลเซอร์หลายครั้งหรือหลายเครื่อง รอยสักที่มีสีดำ สีเขียว และสีโทนเข้ม จะสามารถลบออกได้ง่ายที่สุด และอาจเห็นผลตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ารับการรักษา
การดูแลบาดแผลหลังจากลบรอยสักด้วยเลเซอร์
หลังจากการยิงเลเซอร์ อาจพบว่าผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีเลือดซึมบ้างเล็กน้อย ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดครีมให้ทาทุกวัน ระหว่างนี้ห้ามให้บาดแผลโดนน้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือจนกว่าแผลจะแห้ง เมื่อแผลเริ่มตกสะเก็ด ห้ามแกะแผลโดยเด็ดขาด ให้รอจนกว่าสะเก็ดจะหลุดไปเอง และจะเข้ารับการยิงเลเซอร์ครั้งใหม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป 6-8 สัปดาห์
หากพบว่าบาดแผลยังมีเลือดไหลอย่างต่อเนื่อง มีอาการบวม แดง คัน หรือมีรอยแผลนูนขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่รักษาทันที เพราะอาจเกิดจากการติดเชื้อได้
ข้อควรระวังในการลบรอยสัก
- ควรไปลบรอยสักกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง พร้อมกับเครื่องมือที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือถูกออกแบบมาเพื่อลบรอยสักโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นขณะลบรอยสัก
- ไม่แนะนำให้ลบรอยสักด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังติดเชื้อ ซึ่งอาจลุกลามเข้ากระดูกและกระแสเลือด