ดอกชบา (Shoe flower)

ข้อมูลดอกชบา ดอกไม้ที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ มากกว่าสีสันสดใส มารู้จักสรรพคุณ ประโยชน์ และวิธีใช้เพื่อสุขภาพของดอกไม้ชนิดนี้
เผยแพร่ครั้งแรก 18 มี.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ดอกชบา (Shoe flower)

ชบา จัดเป็นไม้ประดับดอกที่มีหลากหลายสี เช่น สีขาว แดง แสด เหลือง ม่วง และชมพู นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในแถบประเทศเขตร้อนของอเมริกาและแอฟริกา

นอกจากนี้ยังมีการนำส่วนต่างๆ ของชบามาใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรและความงามอีกด้วย

ทำความรู้จักดอกชบา

ชบา มีชื่อสามัญว่า Shoe flower, Hibiscus, Chinese rose จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ได้แก่ ชบา (ภาคกลาง) ใหม่ หรือ ใหม่แดง (ภาคเหนือ) บา (ภาคใต้) และชุมเบา (จังหวัดปัตตานี)

ต้นชบามีต้นกำเนิดจากประเทศจีน อินเดีย และหมู่เกาะฮาวาย เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย จาไมก้า รวมไปถึงรัฐฮาวาย ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำมาทัดหูหรือแซมผม

ในต่างประเทศให้สมญานามดอกชบาว่าเป็น ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน (Queen of Tropic Flower)

สรรพคุณและประโยชน์ของชบา

ชบาเป็นไม้ประดับประเภทดอกที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ดอกมีขนาดใหญ่ กลีบดอกสีสันสวยงาม สรรพคุณและประโยชน์ของชบา มีดังนี้

  • ช่วยบำรุงผิวพรรณและบำรุงผมให้ดกดำเงางาม
  • ช่วยฟอกโลหิตและบรรเทาอาการของโรคที่เกี่ยวกับไต
  • ช่วยดับร้อนในร่างกาย แก้กระหาย และแก้ไข้
  • ช่วยเรียกน้ำย่อย ทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น และใช้เป็นสีผสมอาหารจากธรรมชาติ
  • ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีระดูขาว
  • ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา รวมทั้งรักษาฝี
  • สามารถใช้ทอเสื้อผ้า ตาข่ายหรือทำกระดาษ จากเปลือกของชบา
  • สามารถนำมาใช้เป็นตัวทดสอบความเป็นกรด-เบส (pH indicator)

ส่วนไหนของชบา ที่นำมาทำยาได้?

ทุกส่วนประกอบของชบาล้วนมีประโยชน์ สามารถนำมาดัดแปลงปรุงเป็นเป็นยารักษาโรคได้ต่างๆ บางสูตรยาใช้หลายส่วนของชบามาผสมกัน ดังนี้

  • รากหรือดอกชบา หากต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ลดไข้ และช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
  • ชบาดอกสีขาว เมื่อนำมาคั้นน้ำ ใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับความเจ็บปวดจากแผลร้อนใน อาการของโรคคล้ายกับการติดเชื้อราในช่องปาก รักษาโรคบิดสปรู (โรคระบาดที่มีอาการท้องร่วง และอาเจียนร่วมด้วย) และรักษาโรคคอตีบ
  • ชบาดอกสีขาวและสีแดง ชาวกลันตันในรัฐกลันตันนำมาต้มน้ำ ใช้รักษาอาการพิษ ถอนพิษ ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไข้หวัดใหญ่
  • ดอกชบา เมื่อชงน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบ และขับเสมหะ แต่หลังจากทิ้งน้ำที่ชงจากดอกชบาไว้ชั่วข้ามคืนหนึ่ง เพื่อให้ได้สัมผัสกับหยาดน้ำค้าง สามารถรักษาโรคหนองในได้อีกด้วย
  • ใบชบา ต้มกับน้ำ ใช้ประคบบริเวณศีรษะหรือแผลที่เกิดอาการฟกช้ำ เพื่อบรรเทาอาการปวด หรือชงน้ำดื่ม เพื่อใช้รักษาอาการปวดศีรษะ ชาวมลายูนำใบชบามาต้มน้ำทำโลชัน สำหรับทาเพื่อบรรเทาอาการไข้
  • เปลือกชบา ใช้เป็นยาขับประจำเดือน
  • รากชบา ใช้ทำยาหยอดตา รักษาอาการระคายเคืองหรือเจ็บตา นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการไอหรืออาการต่อมทอนซิลอักเสบ หากนำน้ำต้มนั้นมาอาบ ช่วยรักษาผดผื่นคัน และโรคผิวหนังจากเชื้อราชนิดต่างๆ
  • รากชบาดอกสีขาว เมื่อต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โรคผิวหนัง แผลในปากที่เกิดจากอาการร้อนใน และโรคกามโรค
  • เปลือกรากชบา ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประใช้แช่ในน้ำ ทิ้งไว้ชั่วข้ามคืน ดื่มขณะท้องว่าง ใช้รักษาฝี

วิธีการใช้ดอกชบาเพื่อสุขภาพ

จากสรรพคุณและประโยชน์ต่างๆ ของชบา สามารถยกตัวอย่างวิธีการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพได้ดังนี้

1. ชบา นำมาชงหรือต้มดื่ม

ใช้ใบหรือดอกชบาสดหรือตากแห้ง 3-5 ใบ ถ้าเป็นรากต้นชบาขาวประมาณ 1 กำมือ มาทุบพอแหลก แล้วนำมาต้มกับน้ำปริมาณ 1 ลิตร ให้เดือดประมาณ 20 นาที รอให้อุ่น แล้วนำมากรอง ดื่มครั้งละครึ่งแก้วชา วันละ 2 เวลา หลังอาหาร

2. ชบา นำมาผสมอาหาร

ใช้เฉพาะส่วนดอก 5-10 ดอก นำมาขยำ และคั้นแยกเอาเฉพาะน้ำที่เป็นสีมาใช้

3. ชบา นำมาทาหรือประคบ

ใช้ใบหรือดอกชบาประมาณ 3-5 ใบ มาขยำ และผสมน้ำเล็กน้อย ทาหรือประคบบริเวณที่มีอาการ

4. ชบา นำมาใช้สระหรือชโลมผม

ใบชบาขนาดพอประมาณ มาขยำในน้ำให้เข้ากันจนน้ำเป็นสีเขียวหรือน้ำเมือกเหนียวจากใบออกมา นำมากรอง แล้วนำมาใส่ผม หมักทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

5. ชบา นำมาอาบ

นำใบหรือดอกอย่างละ 10-20 ใบ/ดอก มาต้มน้ำอาบ

ข้อควรระวังจากชบา

แม้ว่าชบาจะเป็นไม้ประดับที่มีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็มีโทษได้เช่นกัน

คำแนะนำเพื่อการใช้ชบาเพื่อสุขภาพอย่างปลอดภัย เช่น ไม่ใช้ยาจากชบาในขณะตั้งครรภ์ เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้ หรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อุทยานหลวงราชพฤกษ์, เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๕ (http://www.royalparkrajapruek.org/Knowledge/view/31).
สมุนไพร อภัยภูเบศร, ชบา คุณค่าปลอบประโลม (http://aph.ijustdemo.com/blog/2017/02/herbal-02).
ที่มาของข้อมูล ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ, ดอกชบา (http://srdi.yru.ac.th/bcqy/view/168_ดอกชบา)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)