โรคงูสวัดในเด็ก แม้จะพบได้ไม่บ่อย และมักไม่มีอาการรุนแรงอย่างงูสวัดในผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นโรคที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย
เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดงูสวัด และอีสุกอีใสเป็นชนิดเดียวกัน ทำให้เด็กๆ ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ในวันหน้า งูสวัดเกิดจากอะไร ป้องกันและรักษาอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ไว้เพื่อป้องกันลูกน้อยให้ปลอดภัยจากโรคนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ความหมายของโรคงูสวัด
โรคงูสวัด (Shingles) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส
โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้หลังจากก่อโรคอีสุกอีใสในผู้ป่วยคนใดคนหนึ่งแล้ว เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคจนเป็นปกติ เชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังไม่หายไปในทันที แต่จะยังซ่อนตัวอยู่ในปมประสาท
เมื่อไรที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อ่อนเพลีย อายุมากขึ้น ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม หรือมีโรคประจำตัว เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็จะออกมาจากปมประสาท และก่อโรคงูสวัดขึ้น
และถึงแม้คุณจะไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส แต่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน ก็ยังมีความเสี่ยงที่คุณจะป่วยเป็นโรคงูสวัดได้
กล่าวคือ ไม่ว่าคุณจะเคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่ หรือเคยได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อนแล้ว ก็ล้วนมีความเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดกันได้ทั้งนั้น เพียงแต่ระดับความเสี่ยงจะต่างกันเท่านั้น
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคงูสวัดในเด็ก
โรคงูสวัดมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และมีความเสี่ยงสูง เช่นเด็กที่มีภาวะต่อไปนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- เคยเป็นโรคอีสุกอีใสก่อน 1 ขวบ
- แม่ของเด็กเป็นโรคอีสุกอีใสในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์
- เด็กป่วยเป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง
- มีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้เด็กแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรอยู่ให้ห่างจากผู้ป่วยโรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใสไว้เป็นดีที่สุด เพราะจะเสี่ยงติดเชื้อ โดยอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการโรคงูสวัดในเด็ก
อาการของโรคงูสวัดในเด็กไม่แตกต่างไปจากอาการของผู้ป่วยโรคงูสวัดวัยอื่นนัก โดยลำดับอาการมีดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกชา ปวดเสียว รู้สึกคันตามร่างกายบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ผู้ป่วยเด็กโรคงูสวัดมักไม่มีอาการเจ็บปวดผิวหนังเหมือนผู้ป่วยวัยอื่น
- ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ หรืออาจเพียงภายใน 2-3 วัน จะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง โดยผื่นอาจมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ หรืออาจเป็นแถบผื่นกว้าง ยาว ตำแหน่งของร่างกายที่ผื่นขึ้น คือ แนวเส้นประสาทที่เชื้อไวรัสซ่อนตัวอยู่
- ผื่นแดงเริ่มเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพอง มีหนองอยู่ข้างในคล้ายตุ่มน้ำในโรคอีสุกอีใส ร่วมกับมีอาการระคายเคืองผิวหนัง
- ตุ่มพุพองกระจายตัวไปทั่วพื้นที่ที่มีผื่นแดง แต่จะไม่ลุกลามไปที่ร่างกายอีกซีกหนึ่ง
- ตุ่มพุพองเริ่มแตก และของเหลวข้างในจะไหลออกมาจนแผลกลายเป็นแผลแห้งตกสะเก็ด ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้ายของการเกิดผื่นแล้ว แต่อาการเจ็บแสบ ระคายเคืองผิวหนังจะยังคงอยู่กับผู้ป่วยเป็นเดือน หรือเป็นปี
ในช่วงที่เกิดอาการผื่น และตุ่มพุพองเด็กอาจมีอาการไข้ขึ้น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ และปวดแสบตามตุ่มผื่นด้วย
อาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัดในเด็กจะเหมือนกับกลุ่มผู้ป่วยโรคงูสวัดวัยอื่นๆ แต่มักพบได้น้อยกว่า โดยหากผื่นงูสวัดขึ้นบริเวณใดของร่างกาย บริเวณนั้นก็เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหนัก เช่น
- หากเกิดผื่นที่ดวงตา ก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อดวงตา และกระจกตาจนตาบอด เกิดอัมพาตครึ่งหน้า ไม่สามารถเคี้ยวอาหาร หรือหลับตาได้ตามปกติ
- หากเกิดผื่นที่หู ก็เสี่ยงที่การได้ยินจะลดลง หรืออาจสูญเสียการได้ยินไปเลย รวมถึงเสียการทรงตัวด้วย
นอกจากนี้หลังจากผื่นโรคงูสวัดหายดีแล้วแล้ว เด็กอาจยังคงรู้สึกเจ็บตามแนวเส้นประสาทที่เกิดผื่นงูสวัดได้ โดยอาการนี้จะเรียกว่า “อาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด (Postherpetic neuralgia)”
โรคงูสวัดในเด็กทารก
หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน หรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเลย คือ กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคงูสวัดในระหว่างตั้งครรภ์ได้ผ่านการติดเชื้อไวรัสจากผู้อื่นในขณะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอขณะตั้งครรภ์
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อย่างไรก็ตาม อาการของโรคงูสวัดในหญิงตั้งครรภ์มักไม่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารก แต่หากหญิงตั้งครรภ์รายนั้นป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสแทน นั่นถือเป็นสัญญาณอันตรายมากกว่าโรคงูสวัดเสียอีก
เพราะอาการของโรคงูสวัดในหญิงตั้งครรภ์จะไม่แตกต่างจากอาการของผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงมีระยะเวลาของโรคประมาณ 2-4 สัปดาห์ก็อาการดีขึ้นแล้ว แต่โรคอีสุกอีใสในหญิงตั้งครรภ์สามารถทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย เช่น
- เป็นโรคอีสุกอีใสแต่กำเนิด (Foetal varicella syndrome) มักพบในทารกที่มารดาป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย
- ต้องคลอดก่อนกำเนิด
- ติดเชื้ออีสุกอีใสชนิดรุนแรงจนเสียชีวิต พบมากในเด็กทารกที่มารดาป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสก่อน หรือหลังคลอด 7 วัน
ดังนั้นอาการของโรคงูสวัดในเด็กทารกจึงไม่รุนแรงเท่าโรคอีสุกอีใสซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน
ผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรจึงต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัส VZV ในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้การตั้งครรภ์มีอันตราย
โรคงูสวัดในเด็กเล็ก
เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ และเด็กที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับสุขภาพบางอย่าง คือ กลุ่มเด็กที่เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ง่ายกว่าเด็กปกติทั่วไป โดยมีสาเหตุหลักดังต่อไปนี้
- ยังไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน
- มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ร่างกายไม่แข็งแรง
- ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง
- ต้องรักษาโรคประจำตัวซึ่งวิธีรักษานั้นส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน การใช้รังสีรักษา หรือทำเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
- มารดาป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์
- เคยเป็นโรคอีสุกอีใสก่อนอายุ 1 ขวบ
อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเรียบร้อยแล้ว ก็ยังเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้อยู่ แต่ความเสี่ยงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย และความเสี่ยงนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น
ทางที่ดี คุณควรให้เด็กในบ้านไปรับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยในระยะยาว
เมื่อไรควรพาลูกไปพบแพทย์?
คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้
- มีผื่นขึ้นตามใบหน้า หรือรอบดวงตา เพราะเด็กเสี่ยงตาบอด หรือเป็นโรคแทรกซ้อนรุนแรงในดวงตา
- เด็กมีไข้สูง รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด
- เด็กร้องว่า ผื่นทำให้รู้สึกคัน และเจ็บปวด
- สังเกตเห็นผื่น หรือตุ่มพุพองที่คาดว่า อาจเกิดจากงูสวัด
- ตุ่มผื่นเกิดขึ้นนานกว่า 2 สัปดาห์
- ตุ่มดูคล้ายมีการติดเชื้อ หรือเด็กมีไข้ร่วมด้วย
วิธีรักษา และดูแลผู้ป่วยเด็กโรคงูสวัด
เมื่อเด็กป่วยเป็นโรคงูสวัด แพทย์จะจ่ายต้านไวรัสร่วมกับยาลดอาการของโรค
ตัวยาจะช่วยลดความรุนแรง และอาการแทรกซ้อนจากโรคได้ดี แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคงูสวัดให้หมดไปได้ เช่น ยาแก้อักเสบ ครีมลดผื่นให้กับผู้ป่วย ยาแก้ปวดชนิดรับประทานอย่างยาพาราเซตามอล โดยยายอดนิยมที่มักใช้รักษาโรคงูสวัด คือ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)
ส่วนวิธีดูแลแผลโรคงูสวัดก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการดูแลแผลของผู้ป่วยวัยอื่นๆ เช่น
- หมั่นทำความสะอาดแผลผู้ป่วยให้สะอาด อย่าปล่อยให้อับชื้น โดยให้ใช้สบู่อ่อนๆ หรือน้ำสะอาดก็พอ
- ไม่เกา หรือแกะแผล เพราะจะยิ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อ
- ประคบเย็น หรือประคบอุ่นที่แผลเพื่อลดอาการปวด และอักเสบจากผื่น
- ปิดแผลให้มิดชิดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- ให้เด็กใส่เสื้อผ้าสบายๆ ทำจากผ้าใยธรรมชาติ เพื่อลดความระคายเคืองผิวบริเวณที่มีผื่น
- ใช้ยาทา หรือครีมรักษาแผลตามแพทย์สั่งเท่านั้น อย่าใช้สมุนไพรทาบริเวณแผลเอง เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียจนแผลหายช้ากว่าเดิม และจะทำให้เด็กมีแผลเป็นตามตัวในภายหลัง
- ให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าแผลจะตกสะเก็ด และแห้งสนิทดี
วิธีป้องกันโรคงูสวัดในเด็ก
หากลูกของคุณยังไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส ให้รีบพาเขาไปรับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเมื่ออายุครบกำหนดทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดทั้งโรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัดในภายหลัง
โดยอายุเด็กที่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใสเข็มแรกได้ คือ อายุ 12-18 เดือน หรือตอนอายุครบ 1 ขวบก็ได้
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ตัววัคซีนอาจป้องกันโรคไม่ได้ 100% แต่ก็ลดความเสี่ยงทำให้เกิดโรคไปได้ถึง 50% และยังทำให้อาการของโรคไม่รุนแรงจนเป็นอันตรายด้วย
อีกทั้งในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแยกออกมาจากวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสอีกอย่างด้วย แต่แพทย์มักไม่แนะนำให้ผู้ที่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดด้วย
อีกทั้งวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดมักแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมากกว่า เด็กๆ ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดมากนัก เนื่องจากโรคงูสวัดในวัยเด็กจะไม่รุนแรงเท่าโรคงูสวัดที่เกิดในวัยผู้ใหญ่
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเด็กที่มีอาการภูมิแพ้วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือมีภาวะร่างกายที่ไม่พร้อมต่อการรับวัคซีน เช่น เป็นโรคมะเร็ง ภูมิคุ้มกันร่างกายมีปัญหา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่พบได้แต่น้อย
ในกรณีนี้ผู้ปกครองอาจต้องปรึกษากับแพทย์เป็นพิเศษ ว่ามีแนวทางป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างไร
นอกจากการรับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว ผู้ปกครองยังต้องดูแลให้เด็กมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสม เพื่อให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงด้วย เช่น
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- ไม่นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- รักษาสุขอนามัยร่างกายให้สะอาดเป็นประจำ
โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัดเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันได้หากคุณรู้จักศึกษาวิธีรับมือ และป้องกันการเกิดโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพียงเท่านี้ความเสี่ยงของการเกิดโรคก็จะลดลง และอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาของโรคจนทำให้เกิดความเสียต่อร่างกายก็จะไม่เกิดขึ้น
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android