นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป
เขียนโดย
นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป

ประสาทหูเสื่อม (Sensorineural hearing loss)

เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ปัจจุบันประชากรประมาณ 5% ของโลก หรือคิดเป็น 360 ล้านคนบนโลกกำลังประสบปัญหาการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ใหญ่ประมาณ 328 ล้านคน และเด็กประมาณ 32 ล้านคน การสูญเสียการได้ยินแบ่งได้เป็นสามประเภท คือ สูญเสียจากการนำเสียงบกพร่อง (Conductive hearing loss) สูญเสียจากประสาทหูเสื่อม (Sensorineural hearing loss) และสูญเสียแบบผสม (Mixed hearing loss) ซึ่งการสูญเสียการได้ยินจากประสาทหูเสื่อมคิดเป็นจำนวนมากถึง 90% ของการสูญเสียการได้ยินในผู้ใหญ่

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าประสาทหูเสื่อมเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่ และประสาทหูเสื่อมแบบฉับพลันเป็นอย่างไร สามารถหาคำตอบได้จากบทความดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สาเหตุของประสาทหูเสื่อม

ประสาทหูเสื่อมเกิดจากการเสียหายของเซลล์ประสาทรับเสียงในหูชั้นใน และ/หรือเส้นประสาทเกี่ยวกับการได้ยิน (Auditory nerve) ทำให้คลื่นเสียงที่เคลื่อนผ่านมายังบริเวณหูชั้นในไม่สามารถถูกเปลี่ยนเป็นกระแสประสาท หรือไม่สามารถจะนำกระแสประสาทไปยังสมองได้ จึงทำให้สูญเสียการได้ยินหรือได้ยินลดลง

สาเหตุที่ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิด (Congenital cause) เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิดในมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ทำให้ติดเชื้อและเกิดความผิดปกติของหูชั้นใน การเจริญของหูชั้นในผิดปกติแต่กำเนิด พันธุกรรม การขาดออกซิเจนในขณะคลอด เป็นต้น
  2. ประสาทหูเสื่อมที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired cause) เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิดทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมแบบฉับพลัน ความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น การได้รับเสียงที่ดังเกินไป (Acoustic trauma) การได้รับบาดเจ็บบริเวณหูและศีรษะ การมีภูมิคุ้นกันต่อเซลล์ตนเอง (Autoimmune inner ear disease) น้ำในหูชั้นในผิดปกติ (Meniere's disease) การมีเนื้องอกบริเวณเส้นประสาทรับเสียง เป็นต้น

อาการของประสาทหูเสื่อม

อาการของประสาทหูเสื่อม ถ้าพบในเด็กแรกเกิดอาจจะทำให้เป็นใบ้ มีปัญหาในการสื่อสารด้วยเสียง เนื่องจากไม่ได้ยินเสียงทำให้มีปัญหาด้านการฟัง การพูด พัฒนาการ และการเรียนรู้ ส่วนอาการของประสาทหูเสื่อมที่พบในผู้ใหญ่ ได้แก่ ได้ยินเสียงน้อยลงหรือไม่ได้ยินเสียง อาจจะเกิดขึ้นฉับพลันหรือค่อยๆ รับรู้เสียงน้อยลงก็ได้ อาการหูอื้อ อาการหูตึง เข้าใจภาษาพูดได้ลำบากขึ้น มีเสียงดังผิดปกติในหู เวียนศีรษะ เป็นต้น ทั้งนี้อาจพบเพียงอาการเดียว หรือหลายๆ อาการร่วมกันได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดประสาทหูเสื่อม

ประสาทหูเสื่อมแบบธรรมดากับแบบเฉียบพลันต่างกันอย่างไร?

ประสาทหูเสื่อมแบบธรรมดากับแบบฉับพลันมีลักษณะอาการที่ใกล้เคียงกัน แตกต่างกันที่ระดับความรุนแรง ช่วงเวลาในการสูญเสียการได้ยิน และความถี่ในการสูญเสียการได้ยิน นอกจากนี้ประสาทหูเสื่อมแบบฉับพลันมักจะพบในหูข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว

การวินิจฉัยประสาทหูเสื่อมแบบฉับพลันอาศัยเกณฑ์ดังนี้

  1. สูญเสียการได้ยินมากกว่าหรือเท่ากับ 30 เดซิเบลของระดับความเข้มเสียงปกติของผู้ป่วยที่เคยได้ยิน
  2. สูญเสียการได้ยินใน 3 ช่วงความถี่เสียงที่ต่อเนื่องกัน
  3. สูญเสียการได้ยินเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน

ประสาทหูเสื่อม รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

หากมีการสูญเสียการได้ยิน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและให้การรักษาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากประสาทหูเสื่อมที่เกิดจากบางสาเหตุสามารถรักษาให้หายขาดได้ และป้องกันการสูญเสียการได้ยินในประสาทหูเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาประสาทหูเสื่อมมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดประสาทหูเสื่อม ได้แก่

  • การรักษาโดยใช้ยา เช่น การให้สเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อลดอาการบวมและอักเสบของหูชั้นในจากการได้รับเสียงที่ดังเกินไป การให้ยาขับน้ำ (Diuretics) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ (Meniere's disease) เป็นต้น
  • การใส่เครื่องช่วยฟัง เพื่อทำการขยายสัญญาณเสียงส่งให้หูชั้นในมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสประสาทไปยังสมอง
  • การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดประสาทหูเสื่อม หรือทำการใส่อุปกรณ์เทียมต่างๆ

ถ้าเป็นประสาทหูเสื่อม ต้องทำ-ไม่ทำ อะไรบ้าง ขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่?

สิ่งที่ต้องทำในผู้ป่วยประสาทหูเสื่อมคือการรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่สาเหตุ และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายอื่นๆกับหูและภายในหู หลีกเลี่ยงการได้รับเสียงที่ดังมากเกินไป ระมัดระวังการบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะและอวัยวะรับเสียง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสต่างๆ

โดยตัวโรคแล้ว ประสาทหูเสื่อมเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันอากาศในขณะขึ้นเครื่องบินซึ่งจะมีผลต่อหูชั้นกลาง ผู้ป่วยโรคประสาทหูเสื่อมจึงสามารถโดยสารเครื่องบินได้ปกติ


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน, จะทำอย่างไรถ้าเป็น…….ประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=777), 23/11/2553

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้