ผู้สูงอายุ มักมีอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง ทำให้ต้องพบแพทย์หลายแผนกบ่อย ๆ ได้รับยาหลายชนิด อีกทั้งผู้สูงอายุยังมีปัญหาด้านการสื่อสาร การมองเห็น การได้ยิน และความจำ นอกจากนี้ยังอาจมีเวลาพบแพทย์ไม่มาก ทั้งต้องเดินทางไกล และนั่งรอตรวจอยู่นาน ทำให้บางครั้งเมื่อเข้าไปพบแพทย์แล้ว อาจนึกคำถามที่ตั้งใจปรึกษาแพทย์ไม่ออก
สิ่งที่ควรเตรียมตัวเมื่อผู้สูงอายุไปพบแพทย์
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- จดประเด็นที่กังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่ต้องการปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันลืมในเวลาที่เข้าพบแพทย์
- หากมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลและไขมัน ต้องเตรียมงดน้ำและอาหารมาอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง
- นำข้อมูลทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเอกซเรย์ และอื่น ๆ ไปด้วย เพื่อแพทย์จะได้ใช้ประกอบการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง
- ควรนำรายการยาทั้งหมดพร้อมฉลากยา ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้จากแพทย์ที่ใด หรือยาที่ซื้อมากินเอง เพื่อให้แพทย์ทราบว่ากินยาอะไรอยู่บ้างเพราะอาการเจ็บป่วยที่เป็น อาจเกิดจากผลข้างเคียงยา และแพทย์จะได้แก้ไขได้ตรงประเด็น นอกจากนั้นแพทย์ยังสามารถหลีกเลี่ยงการสั่งใช้ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยาที่ท่านกินอยู่เดิม หากรับการรักษาที่อื่นใดด้วยหรือใช้ยา ยาสมุนไพร อาหารเสริมใดอยู่ด้วย ควรแจ้งแพทย์ด้วยเช่นกัน
- ควรมีญาติที่ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลที่รู้อาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยไปด้วย นอกจากจะช่วยติดต่อประสาน ยังสามารถช่วยประคองหากเดินไม่มั่นคงให้ข้อมูลประวัติของผู้ป่วยและรับรู้ผลการตรวจและวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ในผู้ป่วยที่มีอาการหลงลืม การมีญาติใกล้ชิดไปด้วยมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยอาจให้ข้อมูลการเจ็บป่วยได้ไม่ถูกต้องและอาจไม่เข้าใจ หรือจำข้อมูลที่ทางโรงพยาบาลแนะนำไม่ได้ นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาการมองเห็น การได้ยิน การใช้ภาษาไทย และเดินไม่มั่นคง ก็ควรมีญาติไปด้วยเช่นกัน
- รายงานการเปลี่ยนแปลง และการดูแลตัวเองไปตามความเป็นจริง เช่น หากกินยาไม่สม่ำเสมอหรือคุมอาหารได้ไม่ดี เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงประเด็น
- เตรียมแว่นตาและเครื่องช่วยฟังไปด้วย (ถ้าใช้) เพื่อช่วยให้การพูดคุยสื่อสาร และรับข้อมูลจากแพทย์ได้ถูกต้อง
- หากมีปัญหาเรื่องการทรงตัว ให้นำไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดินมาด้วย และสามารถขอรถเข็นหรือเปลนอนจากทางโรงพยาบาลเพื่อนำไปส่ง ณ ห้องตรวจแพทย์ได้
- นำบัตรแสดงสิทธิการรักษาพยาบาล บัตรประชาชน บัตรประจำตัวผู้ป่วย และบัตรแสดงรายชื่อยาที่แพ้ติดตัวไปด้วย
- หากต้องการเปลี่ยนไปรักษายังโรงพยาบาลใกล้บ้าน ควรขอข้อมูลการเจ็บป่วยและผลการตรวจของท่านจากแพทย์ เพื่อนำไปใช้ติดตามการรักษาต่อเนื่องรักษาใกล้บ้าน
- หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจในข้อมูลที่ทางโรงพยาบาลแจ้ง ควรสอบถามให้แน่ชัดก่อนกลับ
- หากต้องการใบรับรองแพทย์ เพื่อนำไปใช้ประกอบการเบิกค่ารักษาพยาบาล แจ้งได้ที่พยาบาลประจำห้องตรวจ