หญิงที่ตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8-9 มักจะมีอาการมดลูกหดเกร็ง ทำให้มีอาการปวดบ้างเล็กน้อยซึ่งเป็นการเจ็บเตือน และจะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้จะคลอด โดยจะมีอาการต่างๆ คอยเตือนว่า เป็นการเจ็บเตือน หรือเจ็บท้องจะคลอดจริงๆ
คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะสับสนว่า เจ็บแบบไหนเจ็บเตือนแบบไหนเป็นการเจ็บท้องคลอดจริง ทำให้เกิดความวิตกกังวล ดังนั้นคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายควรเรียนรู้ถึงอาการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อจะได้ตัดสินใจถูกต้อง และต้องไปตรวจสุขภาพบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์แข็งแรงด้วย
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ลักษณะอาการเตือนก่อนคลอด
อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และนำไปสู่อาการเตือนก่อนคลอด อาการเหล่านี้จะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอดจริง ได้แก่
- อาการท้องลด และการเคลื่อนต่ำของส่วนนำเข้าสู่อุ้งเชิงกราน เกิดขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด ทารกในครรภ์จะเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้ความสูงของยอดมดลูกลดลงเล็กน้อย อาการนี้เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด
- ปวดท้องน้อย และทวารหนัก จะรู้สึกเหมือนมีอะไรกดทับบริเวณขาหนีบ และปวดหลังส่วนล่างตลอดเวลา
- น้ำหนักตัวคงที่ หรือลดลงเล็กน้อย โดยปกติหญิงตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม แต่ในระยะใกล้คลอดสามารถลดลงถึง 1 กิโลกรัม
- รู้สึกเหมือนหมดแรง ลื่นล้มง่าย ชอบอยู่นิ่งๆ เพื่อเตรียมพลังเพื่อเลี้ยงลูก
- มูกในช่องคลอดเหนียว และข้นมากขึ้น
- มูกที่อุดปากมดลูกหลุด แต่อาจอยู่ในช่องคลอดโดยจะขับออกมาเมื่อน้ำเดินหรือเจ็บครรภ์จริง ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากหลุดจากปากมดลูก
- มีมูกเลือดปน เนื่องจากการเปิดของปากมดลูกจะมีการฉีกขาดของเยื่อบุ และหลอดเลือดฝอยบริเวณนั้น ทำให้มีเลือดปนออกมา หากมีอาการนี้เกิดขึ้นแสดงว่า จะมีการคลอดเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางรายอาจจะเลื่อนออกไปได้อีกหลายวัน
- การหดรัดตัวของมดลูกจะแรง และบ่อยขึ้น จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด
- ท้องเสีย เนื่องจากลำไส้ส่วนล่างถูกรบกวน
ลักษณะอาการเจ็บเตือน
อาการเจ็บเตือน (False Labor) คือ อาการเจ็บจากมดลูกที่ขยายตัวเต็มที่ และเคลื่อนลงต่ำพร้อมจะคลอดแล้ว อาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด
- จะเกิดขึ้นแบบไม่สม่ำเสมอ ส่วนความแรงของการหดรัดตัวจะคงที่ ไม่เจ็บเพิ่มขึ้น
- จะเจ็บบริเวณท้องน้อยเป็นส่วนใหญ่ ไม่ปวดร้าวไปด้านหลัง
- อาการเจ็บจะดีขึ้นเมื่อเดินรอบ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ
- ลักษณะมูกจะออกเป็นเลือดเก่า คือ สีจะเข้ม ไม่เป็นสีชมพูสด หรือแดงสด
- การดิ้นของทารกจะแรงขึ้น
- เปลี่ยนท่าทางของร่างกายแล้วอาการหดรัดตัวของมดลูกลดลง หรืออาจหายไป
- บรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาแก้ปวด
- ปากมดลูกไม่เปิดขยาย
ลักษณะอาการเจ็บท้องคลอดจริง
- อาการแข็งตัวของมดลูกเพิ่มขึ้น เจ็บนานขึ้น และถี่ขึ้น แม้ว่า จะเปลี่ยนอิริยาบถ หรือนอนพักอาการปวดก็ไม่ดีขึ้น
- อาการเจ็บจะเริ่มที่หลังแล้วปวดร้าวมาถึงด้านหน้าบริเวณหัวหน่าว และท้องน้อย บางครั้งจะปวดร้าวลงขา และอาจมีอาการปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระ และถ่ายบ่อย
- มีมูกเลือดปนออกมาเป็นเลือดสด สีจะแดงสด
- มีถุงน้ำแตก
- ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาแก้ปวด
- มีการเปิดขยายของปากมดลูก
อาการเจ็บครรภ์ที่จะต้องไปโรงพยาบาล
หากมีอาการเจ็บครรภ์ในระดับที่เจ็บถี่ทุก 10-15 นาที มีอาการน้ำคร่ำเดิน เพียงมี 2 อาการนี้ก็ควรรีบพาแม่เด็กส่งโรงพยาบาลเพื่อเตรียมคลอด หรือให้แพทย์ตรวจเพื่อให้แน่ใจว่า อาการเจ็บครรภ์พร้อมคลอดแล้วหรือไม่ หรือมีความผิดปกติใดเกิดขึ้น
อาการเจ็บครรภ์จะเกิดขึ้นหลายครั้ง และอาจสร้างความสับสนให้กับคุณแม่ที่กำลังเตรียมคลอด ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้อยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะคุณพ่อ จะต้องคอยสังเกตอาการเจ็บครรภ์อย่างใกล้ชิด เพื่อที่เมื่อถึงเวลาคลอด หรือเกิดความผิดปกติใดๆ กับแม่ และเด็ก จะได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจครรภ์ คลอดบุตร จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android