เมื่อเราพูดถึงความคาดหวังต่อเด็กเล็กในโรงเรียนเตรียมอนุบาลและอนุบาลปัจจุบัน คำนิยามที่อาจจะได้นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่มากและเร็วเกินไป ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของโรงเรียนอนุบาลหรือแม้กระทั่งเตรียมอนุบาลเป็นไปในแนวของการใช้เวลากับทางด้านวิชาการมากกว่าการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมและอารมณ์ผ่านการเล่นแบบอิสระและกิจกรรมอื่น ๆ มีการศึกษาที่พบว่าเด็กอนุบาลในปัจจุบันก็คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แบบใหม่ และเด็กนักเรียนในโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นกำลังมีการบ้านมากเกินกว่าที่ควรจะเป็นและรู้สึกเครียด แต่สำหรับเด็กเตรียมอนุบาลและอนุบาลหลายคน การกระโดดเข้าไปสู่ด้านวิชาการโดยไม่ได้ใช้เวลากับการเข้าสังคมนั้นก็เหมือนกับการเข็นรถไปก่อนม้า
ผลที่เกิดจากการทำงานที่มากขึ้นและการเล่นที่ลดลง
น่าแปลกใจที่การลดเวลาเล่นลงและเพิ่มเวลาในการเรียนนั้นอาจจะเป็นการขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าการส่งเสริมทักษะทางวิชาการ อ้างอิงจากการศึกษาโดยนักวิจัยจาก Michigan State University เมื่อเดือนตุลาคม 2016 มีเด็กเล็กหลายคนที่อาจยังไม่พร้อมสำหรับทักษะยาก ๆ เช่น การควบคุมตัวเอง จนกว่าจะโตขึ้นประมาณชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป ซึ่งทักษะนี้เป็นทักษะที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทั้งทางด้านสังคมและอารมณ์
การมุ่งเน้นด้านวิชาการมากกว่าการสร้างเครื่องมือให้เด็กฝึกฝนการควบคุมตนเองอาจจะขัดขวางการเรียนรู้ของพวกเขา เนื่องจากการศึกษาพบว่าการควบคุมตนเองนั้นมีความเชื่อมโยงกับความสำเร็จในด้านวิชาการ มีทักษะการเข้าสังคมที่ดีกว่า พัฒนาการด้านภาษาดีขึ้นและยังมีผลดีอีกมากมายในการเรียนและการใช้ชีวิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Bowles แห่งภาควิชาการพัฒนามนุษย์และครอบครัว Michigan State University หนึ่งในผู้ทำการศึกษา ได้กล่าวโดยสรุปไว้ว่าถึงแม้เด็กบางคนอาจจะสามารถควบคุมตัวเอง ทำตามคำสั่ง และพร้อมที่จะเรียนในห้องเรียน แต่อีกหลายคนอาจไม่สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ขึ้นมาได้เมื่ออายุมากขึ้น
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่าอย่างไร?
นักวิจัยจาก Michigan State ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษา 3 ชิ้นที่วัดการพัฒนาของการควบคุมตนเองในเด็กอายุระหว่าง 3-7 ปี งานวิจัยได้ทำการประเมินเด็กทั้งหมด 1,386 คนที่มีที่มาต่างกัน (ทางด้านฐานะ เชื้อชาติ และอื่น ๆ ) เกี่ยวกับเรื่องการควบคุมพฤติกรรม โดยวัดจากการเล่นเกม “Head, Toes, Knees and Shoulders” (ตัวอย่างเช่น หากบอกให้แตะที่หัว พวกเขาก็ต้องแตะที่นิ้วเท้าแทน) เกมนี้จะวัดหลายทักษะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเอง ซึ่งรวมถึงความสามารถในการหยุดพฤติกรรมที่ต้องการจะทำและทำตามคำสั่ง, ความสามารถในการจำ การมีสมาธิ และความตื่นตัว
ผลลัพธ์ที่ได้นั้นค่อนข้างชัดเจนคือแม้ว่าเด็กเตรียมอนุบาลและอนุบาลบางคนจะเริ่มสามารถควบคุมตัวเองได้ แต่เด็กคนอื่น ๆ ก็ยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้ Dr.Bowles กล่าวว่าสามารถแบ่งเด็ก ๆ ออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พัฒนาเร็ว (คนที่สามารถทำตามคำสั่งและพร้อมที่จะเรียนรู้ในชั้นเรียน) พัฒนาได้ปานกลาง (ในช่วงแรกอาจจะเรียนรู้ช้าแต่ต่อมาจะทำได้ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ชั้นอนุบาล) และกลุ่มพัฒนาภายหลัง (คือเด็กที่มีปัญหาและไม่สามารถควบคุมตนเองเพื่อให้รับทักษะทางวิชาการได้)
Dr, Bowles ยังกล่าวอีกว่า ผลการแบ่งกลุ่มนี้เป็นเหมือนกันในการศึกษาทั้ง 3 ชิ้นซึ่งน่าประทับใจมาก
ทิ้งท้าย
แล้วนี่หมายความว่าอะไรสำหรับพ่อแม่ ? มีบางอย่างที่สำคัญที่พ่อแม่ควรรู้จากการศึกษานี้
- เด็กเตรียมอนุบาลหรือแม้กระทั่งอนุบาลซึ่งในอดีตเคยเป็นช่วงเวลาได้พบปะเพื่อนและคุณครูระหว่างที่พัฒนาทักษะด้านสังคมและอารมณ์ แต่ในปัจจุบันมีการมุ่งเน้นไปที่วิชาการมากขึ้นทำให้มีเวลาในการพัฒนาทักษะเหล่านี้น้อยลง
- เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะยังไม่พร้อมในการพัฒนาทักษะการควบคุมตนเอง การศึกษาพบว่ามีเด็ก 1/5 ของทั้งหมดในการศึกษาที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านการควบคุมตัวเองได้สำเร็จในชั้นเตรียมอนุบาล
- การเน้นด้านวิชาการตั้งแต่วัยเด็กหมายความว่าเด็กหลายคนจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ได้ และถึงแม้ว่าการสอน ABC ให้กับเด็กเล็กและคาดหวังว่าพวกเขาจะพร้อมทั้งทางด้านอารมณ์และสังคมในการเข้าชั้นเรียนนั้นจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ทำให้เด็กหลายคนถูกทอดทิ้ง การพัฒนาด้านวิชาการนั้นควรจะสมดุลกับเวลาที่ใช้เล่นและเข้าสังคม
- พ่อแม่สามารถมีส่วนในการส่งเสริมการพัฒนาเรื่องการควบคุมตนเองในเด็กได้โดยการพาลูก ๆ ไปอยู่ในสถานการณ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน เช่น การเล่น play dates กับเพื่อน การพาไปพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่เรียนรู้อื่น ๆ และใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว
พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกแสดงมารยาทที่ดีและมีน้ำใจได้เมื่อปฏิบัติต่อคนอื่น แสดงให้พวกเขาเห็นถึงวิธีการที่จะเป็นคนมีน้ำใจและเป็นอาสาสมัคร รวมทั้งเรียนรู้คุณค่าของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา พ่อแม่สามารถหยุดพฤติกรรมแย่ ๆ ได้เมื่อพบเห็นและอธิบายเพื่อหาทางออกที่ดีให้กับเด็กในการจัดการกับความหงุดหงิดหรืออุปสรรค และยังสามารถส่งเสริมให้เด็กพูดเมื่ออยู่ที่โต๊ะอาหารเย็นและเรียนรู้ทักษะที่สำคัญ เช่น เรียนรู้ที่จะรอให้ถึงตาของตัวเองแล้วจึงพูด, การฟังผู้อื่น และเคารพหากไม่เห็นด้วย