การแพทย์แผนไทยที่เคยรุ่งเรืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้ลดบทบาทลงไปและถูกกดทางอ้อมโดย พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ในระยะแรกนั้นหมอไทยส่วนมากที่ไม่ทราบข้อมูล และไม่สามารถสอบได้ใบประกอบโรคศิลปะต่างก็เลิกอาชีพ และเผาตำราไปเป็นอันมากด้วยความเข้าใจผิด และเกรงว่าอาจจะถูกจับ ส่วนผู้ที่เหลืออยู่ชรามาก
ปัจจุบันมีผู้สอบได้ใบประกอบโรคศิลปะประมาณ 29,999 คน (ยอดสะสม) และส่วนหนึ่งก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังคงประกอบอาชีพนี้จำนวนน้อย คาดว่ามีจำนวนไม่ถึง 18,000 คน สำหรับหมอพื้นบ้านที่ยังมีความสามารถรักษาโรคได้ เช่น หมอยาสมุนไพร หมอยาฝน หมอป่า หมอนวด หมอพระ หมอผี อีกเป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วประเทศ คาดว่ามีประมาณ 1-3 คนต่อหมู่บ้าน นับเป็นความโชคดีที่หากเราฟื้นฟูบทบาท และจัดระบบการเรียนการสอนเพื่อให้มีการฟื้นฟูความรู้กันอย่างจริงจังก็จะเป็นการพัฒนาให้บุคคลเหล่านี้ให้มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ระดับหนึ่ง
ในขณะที่บุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยที่ดีมีคุณค่าเหลืออยู่น้อย ภาพลักษณ์ของการแพทย์แผนไทยในด้านอื่น ๆ ก็ยังคงต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับปัญหา เช่น องค์ความรู้ ตำรา ขาดการรวบรวม การทำยาขาดคุณภาพ วัตถุดิบขาดแคลน เพราะส่วนใหญ่นำมาจากป่า โดยมิได้มีการปลูกทดแทน ป่าจึงถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าเพียงร้อยละ 26 พื้นที่ที่เป็นยา จึงนับวันจะสูญหายและสูญพันธุ์ไปในที่สุด นอกจากนี้สถานบริการด้านการแพทย์แผนไทยที่มีคุณภาพมีน้อยมาก สถานบริการของรัฐ ยังให้ความสนใจไม่มากพอ จึงเป็นเรื่องที่มีความยากลำบาก ในการฟื้นฟูบูรณะการการแพทย์แผนไทยในยุคปัจจุบัน