เคี้ยวหรือไม่เคี้ยวยาดี

เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
เคี้ยวหรือไม่เคี้ยวยาดี

ในขณะที่หลายคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ มักจะร้องยี้กับการรับประทานยาเม็ดใหญ่ ๆ ที่ทั้งขมและกลืนยาก แต่ผู้ป่วยบางคนที่ดิฉันเคยเจอ กลับยืดอกอย่างภูมิใจพร้อมกับบอกมาเสียงดังฟังชัดว่าเคี้ยวยาเม็ดทุกอย่างก่อนกลืนเสมอ เพราะอยากให้ยาออกฤทธิ์ดี ๆ

ฟังแล้วได้แต่เอามือทาบอก ทำท่าตกใจแบบนางเอกละคร (ฮ่า) กลุ้มใจไปกับความเข้าใจผิด ๆ อย่างนั้น ธ่อ... นอกจากจะไม่ดี บางทีจะยิ่งแย่น่ะสิคะ

 เพราะยาเม็ดบางประเภทออกแบบมาให้มีคุณสมบัติพิเศษ หรือหวังผลการออกฤทธิ์บางอย่างที่ต่างไปจากปกติ การหัก แบ่ง บด เคี้ยว หรือทำให้เม็ดยาแตก อาจเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์ของยา ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีตามที่ต้องการ หรืออาจเกิดอันตรายจากยาได้นะคะ

ตัวอย่างเช่น

  1. ยาที่ถูกออกแบบให้ออกฤทธิ์นาน ซึ่งจะค่อย ๆ ปลดปล่อยตัวยาออกมา หากมีหักแบ่งหรือบดเคี้ยว ก็จะทำให้สูญเสียคุณสมบัตินั้นไป และทำให้ระดับยาสูงมากจนอาจเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยาในรูปแบบนี้บางตัว ในกรณีที่จำเป็นสามารถหักแบ่งเม็ดยาได้ค่ะ แต่ก็ห้ามบดหรือเคี้ยวยาโดยเด็ดขาด
  2. ยาบางชนิดจะชื้นง่ายเมื่อสัมผัสอากาศ การหักแบ่งหรือบดจะทำให้ยาเหนียว และอาจเสื่อมคุณภาพได้
  3. ยาที่อยู่ในรูปแบบเม็ดเคลือบป้องกันการแตกตัวในกระเพาะอาหาร การหักแบ่งจะทำให้เกิดการระคายเคือง, ปั่นป่วนไม่สบายท้อง หรือบางชนิดก็อาจถูกทำลายด้วยกรดในกระเพาะอาหาร
  4. ยาอมใต้ลิ้น หวังผลให้มีการดูดซึมยาจากร่างแหเส้นเลือดฝอยที่มีหนาแน่นบริเวณใต้ลิ้น เพื่อเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงโดยไม่ผ่านตับก่อน จะได้ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว หากเคี้ยวและกลืนยาตามวิธีปกติ นอกจากจะทำให้ออกฤทธิ์ช้าแล้ว ตัวยายังถูกทำลายมากจนออกฤทธิ์ได้ไม่ดีตามที่ต้องการอีกด้วย
  5. ยาที่มีฤทธิ์ก่อมะเร็ง หรืออาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น เจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแล โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสยา และหากจำเป็นต้องบดหรือหักแบ่งก็ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเสมอ
  6. หรือยาบางตัวที่ห้ามเคี้ยวก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากมันขมมากกกกกกกกกกก...(ก.ไก่เก้าล้านแปดแสนตัว) เลยไม่รู้จะเคี้ยวไปทำไมให้ลำบากต่อมรับรส (ฮ่า)

 ดังนั้น ถ้าคำแนะนำในฉลากยาไม่ได้ระบุให้เคี้ยว ก็หลับหูหลับตากลืนเม็ดยาไปเถอะนะคะ (ฮ่า) จะไปเคี้ยวให้ยุ่งยากทำไมกัน

แต่หากมีความจำเป็นจะต้องหัก แบ่ง บด เพราะกลืนลำบาก หรือต้องให้ยาทางสายยาง หรืออยากเคี้ยวยาเพราะเป็นความพอใจส่วนตัว (ฮ่า) กรุณาปรึกษาเภสัชกรก่อนนะคะ


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Two tricks to make it easier to swallow pills. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/blog/two-tricks-make-easier-swallow-pills-201411137515)
Can I crush medicines before taking them?. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/common-health-questions/medicines/can-i-crush-medicines-before-taking-them/)
How to Crush Pills Safely and Correctly. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/how-to-crush-pills-513966)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)