ลีน่าร์ กาซอ
เขียนโดย
ลีน่าร์ กาซอ

น้ำแข็ง ตัวช่วยคลายร้อน แต่ต้องรับประทานให้ถูกสุขอนามัย

รู้จักน้ำแข็งก้อนแรกของไทย 5 ชนิดยอดนิยม และวิธีรับประทานอย่างปลอดภัย
เผยแพร่ครั้งแรก 3 ก.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
น้ำแข็ง ตัวช่วยคลายร้อน แต่ต้องรับประทานให้ถูกสุขอนามัย

น้ำแข็ง เกิดจากการลดอุณหภูมิน้ำลงจนเปลี่ยนสถานะจากของเหลวให้กลายเป็นของแข็ง ไม่ว่าจะเป็นแบบทำเองในตู้เย็นที่บ้านหรือซื้อจากร้านค้า น้ำแข็งหลายรูปทรงต่างก็มีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันของเมืองร้อนอย่างประเทศไทยมายาวนาน

น้ำแข็งไม่เพียงแต่เอาไว้เพิ่มความเย็นในเครื่องดื่ม แต่ยังถูกนำไปใช้ในการถนอมอาหารและในอุตสาหกรรมด้วย

ที่มาของน้ำแข็ง

ปีค.ศ. 1806 เฟรเดอริก ทูดอร์ (Frederic Tudor) ชาวอเมริกาได้บรรทุกน้ำแข็งจากธรรมชาติ 130 ตันลงเรือไปขายที่หมู่เกาะอินเดียตะวันตก แต่ต้องล้มเหลวในครั้งแรกเพราะไม่รู้จักการเก็บน้ำแข็ง

30 ปีต่อมา เขาค่อยสามารถส่งน้ำแข็งเกือบ 12,000 ตันออกไปขายกว่าครึ่งโลก โดยใช้ขี้เลื่อยของต้นสนหุ้มท่อไว้ไม่ให้น้ำแข็งละลาย และกลายเป็นราชาน้ำแข็ง (Ice King) ก่อนจะเลิกกิจการไปเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมน้ำแข็งเกิดขึ้น และ ดร. จอห์น กอร์รี (John Gorrie) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกา ได้สร้างและจดทะบียนตู้เย็นเครื่องแรกของโลกในปี ค.ศ. 1844

สำหรับประเทศไทย จากบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ น้ำแข็งก้อนแรกอาจเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2405-2411 พร้อมกับเรือกลไฟชื่อ เจ้าพระยา ของพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) โดยใส่มาในหีบไม้ฉำฉาและกลบด้วยขี้เลื่อยเพื่อรักษาอุณหภูมิ

ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำแข็งได้เองในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยโรงน้ำแข็งแห่งแรกของไทยชื่อ น้ำแข็งสยาม โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง หรือที่ผู้คนในสมัยนั้นเรียกกันติดปากว่า โรงน้ำแข็งนายเลิศ

น้ำแข็งมีกี่ชนิด?

ปัจจุบันน้ำแข็งมีหลายชนิด แบ่งตามรูปทรงที่ได้รับความนิยมได้เป็น 4 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1. น้ำแข็งสี่เหลี่ยม (Cube)

เป็นน้ำแข็งที่ได้รับความนิยมสูง มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีให้เลือก 2 แบบคือ แบบเต็มก้อน (Full Cubes) และครึ่งก้อน (Half Cubes) มีความหนาแน่นสูงทำให้ละลายช้ากว่าน้ำแข็งประเภทอื่น สามารถรักษาความเย็นไว้ได้นาน แต่ไม่เหมาะสำหรับเคี้ยว

น้ำแข็งสี่เหลี่ยมเหมาะสำหรับเครื่องดื่มที่ต้องการคงความเย็นโดยไม่ต้องการให้น้ำแข็งทำลายรสชาติ เช่น ค้อกเทล กาแฟเย็น โกโก้เย็น

2. น้ำแข็งเกล็ดกรอบ (Nugget)

เป็นน้ำแข็งแบบบด รูปทรงคล้ายกับนักเก็ต มีขนาดเล็ก ไม่แข็งมาก ทำให้เคี้ยวหรือปั่นได้ง่าย แต่เพราะความหนาแน่นไม่มากทำให้ละลายค่อนข้างเร็ว

น้ำแข็งแบบเกล็ดกรอบเหมาะสำหรับเครื่องดื่มที่ต้องการให้เย็นเร็ว เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำแข็งไส สมูทที

3. น้ำแข็งถ้วย (Gourmet)

เป็นน้ำแข็งรูปทรงกระบอก มีขนาดใหญ่และหนา ผลิตจากบล็อกน้ำแข็งทำให้ลักษณะและขนาดที่แน่นอน ไม่มีรูตรงกลางเหมือนน้ำแข็งทั่วไปจึงทำให้น้ำแข็งละลายช้ามาก ไม่ทำให้รสชาติของเครื่องดื่มเปลี่ยนไป

ความแวววาวของก้อนน้ำแข็งทำให้มักถูกนำไปใส่ในเครื่องดื่มราคาแพง

น้ำแข็งถ้วยเหมาะสำหรับเครื่องดื่มพิเศษที่มีรสชาติเฉพาะตัว เช่น วิสกี้ บรั่นดี ค็อกเทลบางประเภท

4. น้ำแข็งแผ่น (Flake)

แม้นำแข็งชนิดนี้จะมีความกรอบและความหนาแน่นของน้ำไม่มาก เช่นเดียวกับน้ำแข็งเกล็ดกรอบ แต่น้ำแข็งแผ่นมีลักษณะเป็นแผ่นและบางกว่า เป็นน้ำแข็งชนิดที่ไม่นิยมนำมารับประทาน มักใช้แช่อาหาร เพราะน้ำแข็งชนิดนี้ไม่มีความคมเหมือนน้ำแข็งบดทั่วไป ทำให้อาหารไม่มีรอยช้ำและสดใหม่เสมอ

น้ำแข็งแผ่นเหมาะสำหรับแช่อาหารสดต่างๆ ผักและผลไม้ รวมถึงการจัดอาหารโชว์หน้าร้านอาหารทั่วไปหรือตามร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ อุตสาหกรรมผลิตอาหาร หรือห้องเย็น

ข้อควรระวังในการรับประทานน้ำแข็ง

ถึงจะเย็นชื่นใจแต่หลายครั้งที่น้ำแข็งเองก็ปนเปื้อนเชื้อโรคจนทำให้ร่างกายเจ็บป่วยตามมา ซึ่งการปนเปื้อนอาจเกิดได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบรรจุ และการเคลื่อนย้าย แม้กระทั่งน้ำแข็งในตู้เย็นที่บ้านก็ตาม

จึงมีข้อสังเกตและข้อควรระวังในการรับประทานน้ำแข็งอย่างถูกสุขอนามัย ดังนี้

  • สังเกตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ของคณะกรรมการอาหารและยา ได้แก่
  1. แสดงรายละเอียดการผลิตชัดเจน มีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” และผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  2. ถุงที่บรรจุต้องสะอาด ไม่ฉีกขาด
  3. น้ำแข็งต้องใส สะอาด ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เมื่อละลายแล้วไม่มีตะกอนนอนก้น
  • หากเป็นน้ำแข็งที่ตักขาย ควรสังเกตสถานที่เก็บน้ำแข็ง ภาชนะที่บรรจุต้องมีฝาปิดมิดชิด ไม่มีอาหารอื่นเก็บปะปนกับน้ำแข็ง ก้อนน้ำแข็งต้องใสสะอาด และต้องใช้ที่ตักน้ำแข็งแบบมีด้ามเท่านั้น
  • หากเป็นน้ำแข็งซองหรือน้ำแข็งก้อนใหญ่ ควรนำมาล้างก่อนทุบหรือบด
  • ห้ามรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กระป๋อง ขวดน้ำ
  • หากทำน้ำแข็งเองก็ควรทำความสะอาดตู้เย็นและละลายน้ำแข็งหากมีน้ำแข็งเกาะตัวในช่องแช่แข็งจนหนา รวมถึงทำความสะอาดภาชนะใส่น้ำแข็งด้วย

6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, คู่มือการแสดงฉลากของอาหารกลุ่ม 2 : อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน (http://www.fda.moph.go.th/sites/food/Permission/4.2.7-Aw_food2.pdf)
webstaurantstore, Types of Ice (https://www.webstaurantstore.com/article/380/types-of-ice.html), 1 September 2019
นันทลักษณ์ คีรีมา, 50 สิ่งแรกในเมืองไทย (http://203.131.219.167/km2559/tag/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%87/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)