วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
ทพญ.สิริพัชร ชำนาญเวช
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทพญ.สิริพัชร ชำนาญเวช

ใส่ฟันปลอม มีกี่แบบ ดูแลอย่างไร

รวมข้อมูลการใส่ฟันปลอม เจ็บไหม มีกี่แบบ แล้วต้องดูแลตนเองอย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 19 ต.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 14 ม.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ใส่ฟันปลอม มีกี่แบบ ดูแลอย่างไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ฟันปลอมเป็นอุปกรณ์สำหรับทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป แบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ ประเภทถอดได้และประเภทติดแน่น
  • ฟันปลอมประเภทถอดได้ยังจำแนกออกได้อีก 2 แบบ ได้แก่ แบบทั้งปาก และแบบบางส่วน วัสดุที่มักใช้ทำฐานมี 2 อย่าง คือ พลาสติกกับโลหะ
  • ฟันปลอมประเภทติดแน่น คือ ฟันปลอมที่ไม่สามารถถอดออกได้ เช่น ครอบฟัน สะพานฟัน เป็นประเภทของฟันปลอมที่จะต้องมีเนื้อฟันธรรมชาติหลงเหลือไว้สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ฟันปลอมด้วย
  • คุณยังต้องดูแลรักษาฟันปลอมอย่างระมัดระวัง เช่น อย่าให้ฟันปลอมเสียรูปร่าง หรือแตกหัก หลีกเลี่ยงการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ในระหว่างนอนหลับเพื่อให้เนื้อเยื่อช่องปากได้พัก ไม่ใช้ฟันปลอมเคี้ยวอาหารที่แข็ง หรือเหนียวเกินไป 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำฟันปลอมแบบต่างๆ 

ใครที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านคงเคยพบเห็นฟันปลอมอยู่บ้าง แต่นอกจากตัวผู้สูงอายุที่ต้องเป็นผู้ใช้ฟันปลอมเองแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ฟันปลอมมีวิธีการใช้อย่างไร แล้วมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไรให้ที่เหมาะสม แล้วนอกจากผู้สูงอายุ ใครอีกบ้างที่มีความเสี่ยงต้องใส่ฟันปลอมอีก

เพราะไม่แน่ว่า วันหนึ่งอาจมีเหตุทำให้คุณต้องใช้ฟันฟลอมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุก็เป็นได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ทำฟันปลอมวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2,425 บาท ลดสูงสุด 42%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ความหมายของฟันปลอม

ฟันปลอม (Denture) หมายถึง ฟันที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปตามอายุที่มากขึ้น หรือการสูญเสียจากโรคเกี่ยวกับช่องปาก เช่น โรคเหงือก โรคปริทันต์ รวมทั้งอุบัติเหตุที่ทำให้ต้องสูญเสียฟันไป

หน้าที่สำคัญของฟันปลอมคือ ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยให้สามารถออกเสียงคำต่างๆ ได้ชัดเจน ป้องกันสันเหงือกที่ไม่มีฟันเหลืออยู่แล้วไม่ให้บาดเจ็บจากการเคี้ยวอาหาร และยังช่วยเสริมความมั่นใจในการมีฟันหน้าครบถ้วน (กรณีที่ฟันหน้าหายไป) ถึงแม้จะไม่ใช่ฟันธรรมชาติแท้ๆ ก็ตาม

ประเภทของฟันปลอม

เราสามารถจำแนกฟันปลอมออกได้ 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  1. ฟันปลอมประเภทถอดได้ โดยจะมีแบบฟันปลอมทั้งปาก (Complete denture) เป็นลักษณะฟันปลอมที่พบเห็นได้บ่อย เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันหมดทุกซี่แล้ว

    อีกแบบคือ ฟันปลอมแบบบางส่วน (Removable Partial denture) เป็นฟันปลอมที่เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันไปบางส่วนบางซี่ วัสดุที่ใช้ทำฐานฟันปลอมแบบนี้มีทั้งจากพลาสติกและโลหะซึ่งฟันปลอมทั้งแบบถอดได้ และฟันปลอมบางส่วนจะมีจุดเด่น-จุดด้อยต่างกัน

    ฟันปลอมที่ทำจากฐานพลาสติกจะราคาถูกกว่า แต่แข็งแรงน้อยกว่า สีของฐานไม่ติดแน่นคงทน เมื่อเทียบกับฟันปลอมที่ทำจากฐานโลหะที่ใส่แล้วรู้สึกสบายกว่า เบากว่า

    อีกทั้งฟันปลอมที่ทำจากฐานโลหะยังสามารถส่งผ่านอุณหภูมิร้อน-เย็นของอาหาร หรือเครื่องดื่มที่รับประทานเข้าไปในเนื้อเยื่อเหงือกได้ดีกว่าด้วย ทำให้ผู้ใส่รู้สึกถึงอุณหภูมิได้ราวกับยังมีฟันธรรมชาติอยู่

  2. ฟันปลอมประเภทติดแน่น หรืออีกชื่อว่า “สะพานฟันติดแน่น” เป็นการใส่ฟันปลอมแบบถาวร ไม่สามารถถอดออกได้ 

    ฟันปลอมประเภทติดแน่น เป็นประเภทของฟันปลอมที่มักใช้เพื่อทดแทนฟันบางซี่ที่สูญเสียไป และจะต้องมีรากฟันธรรมชาติหลงเหลืออยู่บ้างเพื่อรองรับครอบฟันและสะพานฟัน แต่สำหรับรากฟันเทียม ไม่จำเป็นต้องเหลือรากฟันธรรมชาติใดๆ

การใส่ฟันปลอมแต่ละประเภท

1. ฟันปลอมแบบประเภทถอดได้ 

หากเป็นฟันหน้าผู้ที่ต้องใส่ฟันปลอมแบบถอดได้มักจะได้รับฟันปลอมแบบชั่วคราวไปใส่ก่อนกรณีที่ฟันถูกถอน หรืออยู่ในช่วงเตรียมตัวใส่ฟันปลอม

ผู้เข้ารับบริการยังอาจต้องให้ทันตแพทย์ปรับแต่งลักษณะฟันปลอม หรือฐานฟันปลอมแบบชั่วคราวเป็นระยะๆ ด้วย เพราะเหงือก และกระดูกบริเวณที่ใส่ฟันปลอมจะมีการปรับรูปร่างให้เข้ากับช่องปากที่ฟันธรรมชาติหายไป

เมื่อได้รับตัวฟันปลอมของจริงแล้ว ทันตแพทย์จะสอนวิธีใส่และถอดฟันปลอมให้ รวมทั้งทันตแพทย์อาจสอนวิธีใช้กาวติดฟันปลอมก่อนใส่ฟันปลอมเข้าไปในช่องปากด้วย เพื่อยึดไม่ให้ฟันปลอมหลุดออกมาจากปากได้ง่าย หรือสอนวิธีใช้ตะขอโลหะยึดกับเนื้อฟันธรรมชาติส่วนที่เหลืออยู่

แต่โดยปกติในช่วงแรกๆ ทันตแพทย์จะให้ผู้เข้ารับบริการใส่ฟันปลอมเอาไว้ตลอด ยกเว้นเวลาแปรงฟันเละเวลานอนหลับเพื่อความเคยชิน และจะได้รู้ว่า ต้องมีการปรับโครงฟันปลอมเพิ่มเติมตรงไหนให้เข้ากับลักษณะช่องปากอีก เพื่อที่ฟันปลอมจะได้ไม่หลวม หรือคับแน่นมากเกินไป

ในช่วงแรกๆ ที่ใส่ฟันปลอม ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกไม่ชิน เคี้ยวอาหารช้า มีน้ำลายมากกว่าปกติ พูดไม่ชัด รู้สึกเจ็บ หรือระคายเคืองเหงือกบริเวณที่สัมผัสกับตัวฟันปลอม แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ - 1 เดือน ส่วนมากผู้ใส่ฟันปลอมก็จะเริ่มชินกับการใส่ฟันปลอมไปเอง

2. ฟันปลอมประเภทติดแน่น 

ด้วยลักษณะการใส่ฟันปลอมประเภทนี้ที่เป็นการใส่แบบถาวร ไม่มีถอดเข้าออกแบบชั่วคราว 

ดังนั้นการใส่ฟันปลอมประเภทติดแน่นจึงจะมีเพียงครั้งเดียว คือ ใส่กับทันตแพทย์ในวันที่ติดตั้งอุปกรณ์ โดยจะมีการกรอตกแต่งเนื้อฟันธรรมชาติให้เหมาะสมกับฟันปลอมก่อน แล้วจึงเริ่มติดตั้งฟันปลอมเข้าไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ทำฟันปลอมวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 2,425 บาท ลดสูงสุด 42%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การเข้ารับบริการทำรากฟันเทียม ทำสะพานฟัน หรือที่ตัวครอบฟันมีค่าใช้จ่ายในการทำที่สูง ผู้ที่ต้องทำฟันปลอมประเภทติดแน่นต้องรู้จักดูแลสุขภาพฟันให้ดี เพราะหากไม่ดูแลให้ดี อาจต้องมีการซ่อมแซมอุปกรณ์หรือทำใหม่ ก็อาจส่งผลต่อเนื้อฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่อีก รวมถึงทำให้ต้องเจ็บตัว เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม 

นอกจากนี้ก่อนที่จะทำทันตกรรมทุกชนิด คุณควรศึกษามาตรฐาน และความปลอดภัยของโรงพยาบาล หรือคลินิกทำฟันที่ไปใช้บริการด้วย เพื่อให้ตนเองมีฟันปลอมที่ได้คุณภาพ มีมาตรฐาน และมีทันตแพทย์ที่เชียวชาญคอยติดตามดูอาการ และคุณภาพของอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง

วิธีดูแลรักษาฟันปลอม

วิธีดูแลรักษาฟันปลอมนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของเรานัก หากคุณเป็นผู้ที่กำลังใส่ฟันปลอม หรือมีคนใกล้ชิดใส่ฟันปลอม ให้ดูแลฟันปลอมตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ห้ามดัด หรือตัดแต่งฟันปลอมเอง หากรู้สึกว่า ฟันปลอมที่ใช้อยู่คับแน่น หลวม หรือผิดรูปร่างไปจากเดิม ให้นำฟันปลอมกลับไปหาทันตแพทย์ผู้ทำฟันปลอมให้เพื่อซ่อมแซม หรือปรับโครงฟันปลอมอีกครั้ง

  • ทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มกับสบู่เหลว แปรงที่ด้านใน และด้านนอกตัวฟันปลอม สามารถแช่น้ำยาล้างฟันปลอมเป็นครั้งคราว

    นอกจากนี้ในระหว่างทำความสะอาดควรมีผ้าขนหนู หรือภาชนะรองรับฟันปลอมในกรณีที่หล่นพื้น ฟันปลอมจะได้ไม่แตกเสียหาย

    หากใส่ฟันปลอมประเภทติดแน่นซึ่งไม่สามารถถอดมาทำความสะอาดได้ ให้ทำความสะอาดตามปกติ โดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดร่วมด้วย เพื่อให้ซอกฟันปลอมสะอาด ไม่มีเศษอาหาร หรือสิ่งสกปรกติดค้าง

  • อย่าถือฟันปลอมไว้ในลักษณะกำไว้ในมือ แต่ให้ใช้นิ้วมือจับปลายด้านใดด้านหนึ่ง หรือใส่ตลับเก็บพกพาไว้จะดีที่สุด เพราะมีโอกาสที่ระหว่างกำฟันปลอมไว้ คุณจะเผลอบีบฟันปลอมจนเสียรูปร่าง

  • ไม่ใช้ฟันปลอมเคี้ยวอาหารที่แข็ง หรือเหนียวมากเกินไป เพราะจะทำให้วัสดุฟันปลอมแตกได้ง่าย

  • ในระหว่างที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันปลอมออกมาแช่น้ำ

  • อย่าใส่ฟันปลอมทิ้งไว้ในปากระหว่างนอนหลับในช่วงกลางคืน เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อช่องปากไม่ได้พัก และอาจเกิดการอักเสบได้ง่าย 
  • หากแช่ฟันปลอมไว้กับสารละลายสำหรับแช่ฟันปลอม ให้ล้างน้ำยาด้วยน้ำสะอาดเสียก่อนใส่เข้าปาก มิฉะนั้นน้ำยาอาจทำให้รู้สึกแสบร้อน หรือเจ็บเหงือกหลังจากใส่ฟันปลอมได้

  • ควรไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพฟัน และตรวจดูสภาพฟันปลอมที่ใช้ว่า ยังคงสภาพสมบูรณ์สำหรับใช้งานต่ออยู่หรือไม่ รวมถึงยังพอดีกับช่องปากหรือเปล่า

    เพราะเมื่อคุณใส่ฟันปลอมไปได้ระยะหนึ่ง รวมถึงการใช้งานเป็นเวลานาน สันเหงือกมักจะยุบตัว ทำให้ฐานฟันปลอมไม่สามารถใส่เข้าได้พอดีกับช่องปาก

ฟันปลอมเป็นอุปกรณ์ที่ดูแลรักษาไม่ยาก เพียงแต่ด้วยวัสดุที่ง่ายต่อการแตกหัก อีกทั้งฟันปลอมยังมีรูปร่างที่จะต้องไม่ผิดรูปจากเดิมโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจส่งผลต่อการใส่ และใช้งานได้ คุณจึงต้องระมัดระวังในการใช้ฟันปลอม เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต่อเหงือก และฟันได้

นอกจากนี้คุณยังคงต้องไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจช่องปาก รวมถึงคุณภาพของฟันปลอมให้ยังพร้อมใช้งานแทนที่ฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป เพียงเท่านี้ การเคี้ยวอาหาร การพูด รวมถึงความมั่นใจรอยยิ้มของคุณก็จะยังอยู่ ควบคู่ไปกับคุณภาพของฟันปลอมที่ยังพร้อมสมบูรณ์เช่นเดิม

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำฟันปลอมแบบต่างๆ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สะพานฟันถอดได้ ปีกผีเสื้อ แบบติดข้างเดียว ต่างกันยังไง?, (https://hdmall.co.th/c/dental-bridge-type).
สะพานฟัน คืออะไร? ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร? รวมข้อมูลครบแบบถามตอบเรื่องสะพานฟัน, (https://hdmall.co.th/c/what-you-need-to-know-about-dental-bridge).
H. Al‐Imam, et. al., Oral health‐related quality of life and complications after treatment with partial removable dental prosthesis (https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/joor.12338), 25 December 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ราคาฟันปลอมประมาณเท่าไร? รัฐกับเอกชนแพงกว่ากันมากไหม?
ราคาฟันปลอมประมาณเท่าไร? รัฐกับเอกชนแพงกว่ากันมากไหม?

รวมราคาการทำฟันปลอมกับทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน

อ่านเพิ่ม