วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์

วิธีรับมือเมื่อถูกงูกัด ต้องทำอย่างไร

งูกัดต้องปฐมพยาบาลอย่างไร วิธีแยกระหว่างแผลงูมีพิษกัด กับงูไม่มีพิษ พร้อมตัวอย่างชื่องูมีพิษ และไม่มีพิษในประเทศไทย
เผยแพร่ครั้งแรก 23 มิ.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
วิธีรับมือเมื่อถูกงูกัด ต้องทำอย่างไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • วิธีแยกระหว่างแผลงูมีพิษกับงูไม่มีพิษกัด คือ แผลงูมีพิษจะเป็นรูเขี้ยวพิษกัดอย่างชัดเจน 2 รอยคล้ายถูกเข็มตำ ส่วนแผลจากงูไม่มีพิษจะเป็นรอยฟันหลายรอย มีเลือดออกมากแล้วแต่ว่าถูกฟันงูกัดลึกมากหรือไม่
  • สารพิษจากงูส่งผลต่อหลายระบบในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานล้มเหลว ไตเสื่อมสภาพ 
  • การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด ห้ามใช้ปากดูดพิษเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ปฐมพยาบาลได้รับเชื้อโรคจากแผล และพิษผ่านทางปาก 
  • ชนิดของเซรุ่มแก้พิษงูจะต้องตรงกับชนิดงูที่กัด แต่ผู้ถูกกัดไม่จำเป็นต้องนำซากงูไปด้วย เพราะปัจจุบันแพทย์มักใช้รอยเขี้ยวพิษงูในการวินิจฉัย และการให้เซรุ่มก็อาจต้องให้หลายครั้ง หากพิษงูยังอยู่ในกระแสเลือด
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทั่วไป 

งูแบ่งออกเป็นชนิดมีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งพิษของงูพิษแต่ละชนิดนั้นมีความร้ายแรงแตกต่างกัน บางชนิดก็ส่งผลต่อระบบของร่างกายจนถึงขั้นทำให้พิการ หรือเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าถิ่นที่อยู่ของงูตามธรรมชาติคือป่า แหล่งน้ำ หรือพื้นที่รกร้างห่างไกลผู้คนแล้ว ปัจจุบันด้วยผู้คนขยายพื้นที่การอยู่อาศัยออกไปนอกเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ หรือบ่อยครั้งที่ที่อยู่อาศัยของเราเองก็มีความรกชวนให้เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นั่นจึงไม่แปลกที่บางพื้นที่ในเมืองก็สามารถยังพบเห็นงูได้ แม้แต่ตามบ้านเรือน ตึกอาคารก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนั้นโอกาสที่คนจะเผชิญหน้ากันจึงมีมากขึ้นรวมถึงมีโอกาสถูกงูกัดได้ แต่จะมาก หรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ที่เดินทางไป คุณจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัดไว้ เพื่อจะได้รับมือกับสถานการณ์นั้นได้อย่างถูกต้อง

ตัวอย่างงูมีพิษ และไม่มีพิษในประเทศไทย

คุณอาจยังไม่ทราบว่า งูมีพิษ และงูไม่มีพิษในประเทศไทยมีชื่ออะไรกันบ้าง ซึ่งตัวอย่างงูทั้ง 2 ชนิดมีดังต่อไปนี้

1. งูมีพิษ

  • งูเห่า เรียกได้ว่า เป็นงูพิษร้ายแรง พบได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ลักษณะเด่นคือ เมื่อถูกรบกวน หรือต้องการขู่ จะแผ่แม่เบี้ยออกมา
  • งูจงอาง เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมาก และได้ชื่อว่า "King Cobra" มีจุดเด่น คือ นิสัยดุร้าย เมื่อถูกรบกวน หรือต้องการขู่ จะแผ่แม่เบี้ยออกมา และเมื่อจู่โจม งูจงอางจะพุ่งตัวฉกได้สุดความยาวของตัว
  • งูสามเหลี่ยม มีจุดเด่นคือ แนวกระดูกสันสันหลังยกตัวสูง ลำตัวงูชื่อนี้จึงจะไม่โค้งมน และมีเกล็ดตามแนวสันหลังที่ใหญ่ และชัดเจน
  • งูทับสมิงคลา มีลักษณะแบบเดียวกับงูสามเหลี่ยม
  • งูเขียวหางไหม้ มักพบได้บ่อยๆ ในสวน หรือตามต้นไม้ในบ้าน มีอวัยวะรับความร้อนเป็นร่องลึกระหว่างรูจมูกกับตาทั้ง 2 ข้าง
  • งูแมวเซา เป็นงูที่สามารถฉกกัดได้อย่างรวดเร็วจากท่าขดเป็นวงกลมที่ดูสงบนิ่ง มีจุดเด่นตรงเมื่อถูกรบกวน จะส่งเสียงขู่คล้ายเสียงแมวขู่ฟ่อ และพองลำตัวใหญ่ขึ้นให้ดูน่ากลัว

2. งูไม่มีพิษ

  • งูเหลือม
  • งูหลาม
  • งูสิงหางลาย
  • งูเขียวปากจิ้งจก
  • งูเขียวพระอินทร์
  • งูก้นขบ
  • งูงวงช้าง

ถึงแม้คุณจะสามารถแยกแยะลักษณะงูมีพิษกับงูไม่มีพิษได้ แต่หากคุณถูกงูกัดขึ้นมา ก็จำเป็นต้องปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องทุกครั้ง อย่าละเว้นเพราะคิดว่างูที่กัดไม่มีพิษเด็ดขาด

วิธีแยกระหว่างแผลถูกกัดของงูมีพิษ และไม่มีพิษ

การแยกความแตกต่างของแผลถูกงูกัดว่า มาจากงูมีพิษ หรืองูไม่มีพิษ มีวิธีดูดังนี้

  • แผลถูกกัดจากงูมีพิษ แผลเป็นรูเขี้ยวคล้ายถูกเข็มตำ 2 รอย สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน
  • แผลถูกกัดจากงูไม่มีพิษ แผลมักเป็นรอยฟันหลายรอยเพราะงูไม่มีพิษจะไม่มีเขี้ยวพิษ แต่อาจมีบาดแผลเลือดออกมากเพราะฟันที่แหลมคม และความลึกของบาดแผล

สารพิษจากงูที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

สารพิษจากเขี้ยวพิษงูที่ทำอันตรายต่อร่างกายสามารถแจกแจงได้ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • สารนิวโรทอกซิน (Neurotoxin) มีพิษทำลายระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก พูดไม่ชัด หายใจไม่สะดวก พบได้ในงูจงอาง งูทับสมิงคลา หรืองูทะเล
  • สารฮีมอร์ฮากินส์ (Hemorrhagins) มีพิษทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงเล็ดลอดออกมา และส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น ผิวหนัง ไรฟัน กระเพาะอาหาร ลำไส้ พบได้ในงูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา
  • สารโปรโคแอกกูแลนด์ เอนไซเมส (Procoagulant enzymes) มีพิษเข้าไปกระตุ้นระบบกลายเป็นลิ่มเลือดของหลอดเลือดจนผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกตามที่ต่างๆ พบได้ในงูแมวเซา งูเขียวหางไหม้
  • สารไมโอทอกซิน (Myotoxin) มีพิษทำลายกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มีอาการกล้ามเนื้อแข็ง ปัสสาวะเป็นสีดำ พบได้ในงูทะเล
  • สารไซโตทอกซิน (Cytotoxins) มีพิษทำให้แผลถูกกัดบวมเน่า โดยอาจเน่าลึกไปถึงกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังเป็นแผลตุ่มน้ำเหลืองพุพองผสมกับน้ำเลือด (hemorrhagic blebs) และยังเสี่ยงเกิดการติดเชื้อได้ด้วย
  • สารคาร์ดิโอทอกซิน (Cardiotoxin) มีพิษ ทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ และความดันเลือดต่ำ พบได้ในงูเห่า งูกะปะ
  • สารออโตฟาร์มาโคโลจิคอล ซับสแตนซ์ (Autopharmacological substances) มีพิษทำให้ปวดแผล ปวดท้อง ความดันโลหิตต่ำ เหงื่อออกมาก มีอาการปาก และลิ้นบวม
  • เนโฟรทอกซิน (Nephrotoxin) มีพิษทำลายไต ทำให้ไตเสื่อมสภาพ พบในงูแมวเซา

อาการแสดงเมื่อถูกงูกัด

อาการแสดงของผู้ถูกงูกัดจะขึ้นอยู่กับชนิดของงูที่กัดว่า เป็นงูกลุ่มไหน มีพิษอะไรอยู่ในฟันพิษบ้าง แต่หากจำแนกอาการหลักๆ ของผู้ที่ถูกงูมีพิษกัด จะมีดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะ
  • ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานล้มเหลว
  • เลือดออกตามผิวหนัง ไรฟัน รวมถึงสมอง
  • เลือดไม่แข็งตัว หรือไม่เป็นลิ่มเลือดตามปกติ
  • แผลถูกกัดบวม หรือบวมเน่าลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ
  • หนังตาพร่า ประสิทธิภาพการมองเห็นแย่ลง
  • ตาแดง
  • ลิ้นเกร็ง พูดลำบาก เคี้ยวอาหารไม่ได้
  • น้ำลายฟูมปาก
  • ปวดท้อง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด
  • หมดเรี่ยวแรง
  • รู้สึกชาบริเวณมือ เท้า ขา อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต

การสัมผัสพิษของงูแม้จะไม่ได้ถูกกัด ก็มีอันตรายร้ายแรงเช่นกัน เช่น ถูกพิษของงูเห่าและพิษงูจงอางกระเด็นเข้าตา จะเกิดอาการปวดแสบอย่างรุนแรงที่ดวงตา น้ำตาไหล เยื่อบุตาขาวบวม เกิดแผลถลอกที่ตา เกิดภาวะม่านตาอักเสบ มีหนองในช่องหน้าม่านตา และตาอาจบอดได้

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด

  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด สบู่ หรือน้ำเกลือทันที
  • หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ เหล้า หรือสมุนไพรใดๆ ทาแผล
  • บีบเลือดออกจากแผลให้ได้มากที่สุด แต่ห้ามใช้ปากดูดเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากแผล และพิษของงูเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก
  • รัดแผลด้วยผ้าพันแผล หรือผ้าพันเคล็ดชนิดยืดหยุ่นเพื่อให้อวัยวะที่ถูกกัดอยู่นิ่ง ไม่ใช่เพื่อป้องกันให้พิษไหลเข้าสู่หัวใจอย่างที่เข้าใจผิดกัน โดยให้พันจากรอยแผลถูกกัดต่อไปจนถึงข้อต่อ หรือพันให้สูงเหนือแผลมากที่สุด
    อย่ารัดแผลให้แน่นมาก เพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือด และตายได้
  • หาไม้กระดาน หรือแผ่นวัสดุที่แข็งมาดาม แล้วพันด้วยผ้าพันแผลทับ
  • ให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ อย่าเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้พิษงูเข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น
  • วางอวัยวะที่ถูกกัดต่ำกว่า หรือระดับเดียวกับหัวใจ
  • นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และไม่จำเป็นต้องนำซากงูที่กัดไปด้วย เพราะแพทย์มักดูรอยกัด และลักษณะแผลในการรักษามากกว่า

สิ่งที่ห้ามทำกับบาดแผลถูกงูกัด

มีหลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้องเมื่อถูกงูกัด หรืออาจไปจำมาจากละคร หรือภาพยนต์ ซึ่งใช้หลักการปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง

สิ่งที่คุณไม่ควรทำกับบาดแผลถูกงูกัด มีต่อไปนี้

  • อย่าเปิดปากแผลด้วยของมีคม เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลกว่าเดิม และอาจไปตัดโดนเส้นเลือด และเส้นเอ็นของอวัยวะบริเวณนั้น
  • ห้ามใช้ปากดูดเอาพิษออกเด็ดขาด เพราะในช่องปากของคนจะมีเชื้อโรคอยู่ การดูดพิษงูทางปากจะยิ่งทำให้รับเอาเชื้อโรคจากแผลเข้าไปในร่างกาย รวมถึงพิษงูที่แผลด้วย
  • อย่าให้ผู้ป่วยใช้ยาใดๆ ก่อนไปพบแพทย์ ทั้งยากระตุ้นหัวใจ ยาแก้แพ้ ยาระงับประสาท มอร์ฟีน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยอาเจียน หรือฤทธิ์ยาไปปิดบังอาการแสดงจากพิษงู
    แต่หากรู้สึกปวดแผล ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล (Paracetamol) บรรเทาอาการได้

ขั้นตอนการรักษาบาดแผลถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด แพทย์จะมีขั้นตอนดำเนินการรักษาต่อไปนี้

1. ตรวจสอบว่า ผู้ป่วยถูกงูมีพิษกัดใช่หรือไม่

เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่ได้ถูกงูพิษกัดอย่างที่ตนเองเข้าใจทุกราย ซึ่งหากญาติผู้ป่วยนำซากงูมาโรงพยาบาลด้วย การวินิจฉัยเพื่อรักษาก็จะง่ายขึ้น แต่หากไม่ได้นำซากงูมา แพทย์จะอาศัยหลักฐานทางระบาดวิทยา ลักษณะแผล และอาการผู้ป่วยมาวินิจฉัยว่า น่าจะถูกงูชนิดใดกัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หากทางโรงพยาบาลไม่แน่ใจว่า งูที่กัดมีพิษหรือไม่ ขั้นตอนการรักษาจะเป็นแบบงูมีพิษกัดทุกรายเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แต่ถ้าแน่ใจแล้วว่า เป็นงูไม่มีพิษ ทางโรงพยาบาลจะแนะนำวิธีทำความสะอาดแผล จ่ายยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ หรือฉีดวัคซีนโรคบาดทะยักให้

2. พิจารณาว่า จำเป็นต้องให้เซรุ่มแก้พิษงูหรือไม่

ถึงแม้จะถูกงูมีพิษกัด แต่ผู้ป่วยบางส่วนก็ไม่ได้รับพิษงูเข้าสู่ร่างกายทุกราย หรือได้พิษเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแค่เฉพาะบริเวณที่ถูกกัด

แต่หากผู้ป่วยได้รับพิษงูเข้าสู่กระแสเลือด และมีอาการจากพิษงูชนิดนั้นๆ เช่น ปอดบวม ต่อมน้ำเหลืองบวม คลื่นไส้อาเจียน เลือดออกตามร่างกาย หน้า ปากบวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำลายฟูมปาก ไม่หายใจ ก็จำเป็นต้องรับเซรุ่มแก้พิษงู (Activenom)

ชนิดของเซรุ่มแก้พิษงูจะต้องตรงกับชนิดของงู และปริมาณต้องมากพอที่จะทำลายพิษออกจากกระแสเลือดได้ โดยครั้งแรกที่ให้เซรุ่มจะให้ทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออาจดูดซึมยาได้ไม่ดีพอ

นอกจากนี้การให้เซรุ่มแก้พิษงูยังอาจต้องให้ซ้ำอีกหลายครั้งทุกๆ 2-6 ชั่วโมง หากแพทย์ตรวจพบว่า พิษงูยังคงอยู่ในกระแสเลือด หรือมีพิษทางประสาท ต่อการแข็งตัวของเลือด

3. รักษา ทำความสะอาดแผล และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ในขั้นตอนนี้ แพทย์จะจ่ายยาเพิ่มเติมให้ผู้ป่วย ทำความสะอาดแผลเพิ่มเติม รวมถึงแนะนำวิธีดูแลตนเองให้ผู้ป่วย

ในกรณีที่จ่ายยาแก้ปวด แพทย์มักจ่ายยาพาราเซตามอลให้มากกว่ายาแอสไพริน (Aspirin) เพราะยาแอสไพรินอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร และอาจพิจารณาฉีดยาป้องกันโรคบาดทะยักให้ด้วย

หากผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก มือ และแขนบวมมาก แพทย์จะให้เครื่องช่วยหายใจ และหนุนอวัยวะที่บวมให้สูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสบายตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาแผลถูกกัดเน่า แพทย์อาจต้องตัดเนื้อตายส่วนนั้นออก เพื่อให้เลือดสามารถไหลไปหล่อเลี้ยงบาดแผลส่วนอื่นๆ ได้ แล้วปลูกถ่ายผิวหนัง (Skin grafts) ใหม่ในภายหลัง

ผู้ป่วยถูกงูกัดบางรายที่แพ้เซรุ่มแก้พิษงู (Serum sickness) โดยหลังจากฉีดเซรุ่มแล้ว จะมีอาการมีไข้ มีผื่นคัน ปวดตามข้อ ชาตามปลายมือ และเท้า ต่อมน้ำเหลืองโต 

หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับยาแก้แพ้ หรืออาจใช้ร่วมกับยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ซึ่งเป็นยากลุ่มสเตียรอยด์สำหรับใช้รักษาอาการแพ้ด้วย

วิธีป้องกันไม่ให้ถูกงูกัด

เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ถูกงูกัด คุณจำเป็นต้องปรับสภาพแวดล้อมรอบตัว ระมัดระวังไม่ให้งูอยู่ใกล้ตัวได้ หรือรู้วิธีจัดการเมื่อเห็นงูเข้ามาในที่อยู่อาศัย ได้แก่

  • อย่าปล่อยให้สวน สนามหญ้า หรือข้าวของในบ้านรก เพราะสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของงู รวมถึงหนูซึ่งเป็นอาหารของงู
  • หากต้องเดินออกข้างนอกในยามกลางคืน ควรพกไฟฉายไปด้วย หรือเดินในที่ที่มีแสงสว่างมากพอ
  • หากต้องเดินเข้าป่า ที่ที่มีงูชุกชุม ควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้น พยายามเคลื่อนไหวใช้มือแกว่งไปมาระหว่างเดิน หรือใช้ไม้เคาะตามพื้นรอบตัวเพื่อให้งูได้ยินเสียงแล้วหนีไปก่อน
  • หลีกเลี่ยงก็งัด แงะ ล้วงมือเข้าไปในขอนไม้ โพรง เพราะอาจมีงูหลบซ่อนอยู่ นอกจากนี้งูยังมักชอบซ่อนตัวอยู่ในที่อบอุ่นอย่างกองผ้า ที่นอน กองหมอน หากห้องมีหน้าต่าง หรือช่องทางที่งูสามารถเข้ามาได้ ควรตรวจเช็กเตียงนอนและห้องนอนก่อนทุกครั้ง
  • หากพบงูในระยะห่าง อย่าเข้าใกล้งูเพราะนิสัยปกติของงู หากไม่มีอะไรเข้ามาทำร้าย หรือคล้ายจะคุกคามมัน งูก็ไม่ทำร้ายกลับเช่นกัน แต่กลับจะหนีเพื่อเอาตัวรอดมากกว่า
  • หากพบงูในระยะใกล้ ให้อยู่นิ่งๆ ค่อยๆ ก้าวขาถอยหลังอย่างช้าๆ หากงูไม่ยอมเลื้อยหนีไปไหน พยายามอยู่ให้ห่างงูในระยะ 2 เมตรขึ้นไป เพราะเป็นระยะที่พ้นการฉกกัดของงู

สิ่งที่สำคัญเมื่อคุณต้องเผชิญสถานการณ์เกี่ยวกับงู ไม่ว่าจะเจองู หรือถูกงูกัด ให้ตั้งสติไว้ แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำที่เคยศึกษา เพราะหลายคนเมื่อเผชิญหน้ากับงูก็จะเกิดความกลัวและลนลานจนทำตัวไม่ถูก และมีโอกาสถูกงูกัดได้ในที่สุด

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, คู่มือป้องกันงูพิษในสถานการณ์ฉุกเฉิน (https://www.saovabha.com/Flipbook/pdf/JAN08.pdf), 17 มิถุนายน 2563.
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, งูพิษกัด (https://www.saovabha.com/th/clinicpoison01.asp?nTopic=4), 17 มิถุนายน 2563.
ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, งูพิษ (https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/snake), 17 มิถุนายน 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาการเจ็บหน้าอกนี้ เป็นโรคหัวใจ หรือกรดไหลย้อน
อาการเจ็บหน้าอกนี้ เป็นโรคหัวใจ หรือกรดไหลย้อน

อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากอะไร? อ่านสาเหตุและโรคเสี่ยงจากการเจ็บหน้าอกพร้อมวิธีรักษา

อ่านเพิ่ม