กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

วิธีการถอดเข็มยาคุม ถอดก่อนกำหนดหรือหลังกำหนดมีอันตรายหรือไม่ การเตรียมตัวและวิธีดูแลตัวเองหลังถอดเข็มยาคุม

การถอดเข็มยาคุมสามารถถอดได้ตลอดเวลา โดยจะต้องไปถอดที่โรงพยาบาล ไม่มีอันตราย และไม่ต้องเตรียมตัวใดๆ ทั้งสิ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 27 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
วิธีการถอดเข็มยาคุม ถอดก่อนกำหนดหรือหลังกำหนดมีอันตรายหรือไม่ การเตรียมตัวและวิธีดูแลตัวเองหลังถอดเข็มยาคุม

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การคุมกำเนิดแบบฝังเข็มยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการฝังหนึ่งครั้งสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวยาที่ฝัง
  • การถอดเข็มยาคุม สามารถทำได้ตลอดเวลา โดยจะต้องไปถอดที่โรงพยาบาล ไม่ต้องเตรียมตัว และไม่เป็นอันตราย
  • หลังจากถอดเข็มยาคุม จะมีการตกไข่ และพร้อมมีบุตรภายใน 1-3 เดือน
  • คุณควรไปถอดเข็มยาคุม หากรู้สึกปวดไมเกรน มีอาการโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมอง เป็นดีซ่าน ซึมเศร้า และภาวะความดันโลหิตสูง
  • ถึงแม้การฝังเข็มยาคุมจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ (ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่เห็นผลลัพธ์ได้ชัดและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด คือ การคุมกำเนิดแบบฝังเข็มยาคุม แต่เมื่อฝังไปสักระยะแล้วผู้ฝังต้องการเอาออกมักจะมีข้อสงสัยว่า ถ้าถอดเข็มยาคุมออกแล้วจะเป็นอย่างไร สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้ 

การทำงานของยาคุมแบบฝังเข็มยาคุม

การคุมกำเนิดแบบฝังเข็มยาคุมสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เป็นเวลา 3 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของตัวยาที่ฝัง 

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังนี้จะประกอบไปด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) บรรจุไว้ในหลอดที่จะทำการฝัง และเมื่อฝังเข้าภายใต้ผิวหนังแล้ว ฮอร์โมนจะค่อยๆ ปล่อยออกเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไม่เกิดการตกไข่ หรือไข่พัฒนาไม่สมบูรณ์พอที่จะผสมกับอสุจิได้

นอกจากนี้ยังทำให้ปากมดลูกมีลักษณะเหนียวข้น สภาพไม่เหมาะที่จะทำให้อสุจิเดินทางไปผสมกับไข่ได้ง่ายๆ ซึ่งหากมีการผสมเกิดขึ้น ไข่ที่ถูกผสมก็ไม่สามารถเกาะผนังมดลูกได้อีกเช่นกัน

วิธีการถอดเข็มยาคุม และเมื่อไรถึงจะตั้งครรภ์ได้

การถอดยาคุมแบบฝังเข็มสามารถถอดออกได้ทุกเวลาเมื่อต้องการกลับมามีบุตร และเมื่อเอายาคุมออกแล้วก็จะทำให้ร่างกายมีสภาพปกติ กล่าวคือ สามารถมีการตกไข่ และพร้อมที่จะมีบุตรได้ภายใน 1 – 3 เดือน หลังการถอดเข็มยาคุม

วิธีการถอดเข็มยาคุมนั้นทำได้ง่าย ด้วยการทำความสะอาดบริเวณที่ฝังหลอดยาไว้ จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาก่อน แล้วค่อยใช้มีดกรีดเพื่อเปิดแผลให้เลยปลายแท่งยาประมาณ 1 ซม. ก่อนที่จะใช้ Ring clamp สอดเข้าไปเพื่อจับหลอดยา แล้วใช้มืออีกด้านช่วยดันหลอดยา 

หลังจากนั้น แพทย์จะเย็บปิดแผล เป็นรอยเล็กๆ ขนาด 0.5 – 1 ซม. โดยใช้เวลาในการนำเข็มยาคุมออกเพียง 5 – 10 นาที และไม่รู้สึกเจ็บมากนักอีกด้วย

การถอดยาคุมแบบฝังก่อนกำหนดหรือหลังกำหนดมีอันตรายหรือไม่?

การถอดเข็มยาคุมแบบก่อนกำหนดสามารถทำได้ และควรไปถอดหากรู้สึกปวดไมเกรน มีอาการโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดในสมอง เป็นดีซ่าน ซึมเศร้า ภาวะความดันโลหิตสูง หลังจากฝังยาคุม ซึ่งไม่มีอันตรายแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ การถอดเข็มยาคุมหลังกำหนดก็ไม่มีอันตรายด้วยเช่นกัน แต่การคุมกำเนิดจะไม่ได้ผลเพราะฮอร์โมนที่ฝังอยู่หมดไปแล้ว 

ดังนั้นถ้าเราถอดเข็มยาคุมช้ากว่ากำหนดก็จำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์

การเตรียมตัวก่อนถอดเข็มยาคุม

การถอดเข็มยาคุมสามารถทำได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งสามารถถอดออกได้ทันทีที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก โดยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวใดๆ เพราะไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และไม่ต้องดมยาสลบ 

แต่จะใช้ยาชาฉีดเฉพาะที่แล้วใช้มีดกรีดเป็นบาดแผลเล็กๆ และควรรัดแผลด้วยผ้าพันแผลไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ระมัดระวังไม่ควรให้แผลถูกน้ำ หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกบริเวณแผลจะได้ไม่เกิดการอักเสบ เมื่อถึงเวลาตัดไหมก็ให้ไปพบแพทย์ตามนัด 

วิธีการดูแลตัวเองหลังถอดเข็มยาคุม

หลังจากการถอดเข็มยาคุมออกเรียบร้อยแล้ว หากต้องการคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุมแบบเดิมหลังการถอดก็สามารถทำได้เลย แต่ถ้าไม่ต้องการจะต้องหาวิธีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นด้วย เมื่อยังไม่ต้องการมีบุตรขณะนั้น

การถอดเข็มยาคุมออก เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่พบข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้นหากต้องการเอาออก แต่ทั้งนี้การฝังยาคุมจะมีข้อจำกัดกับบางคนเท่านั้น ดังนั้นก่อนการฝังยาคุมควรปรึกษาแพทย์รวมทั้งศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดผลเสียจนต้องมาถอดออกให้เสียเวลาในภายหลังนั่นเอง

ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Birth control shot vs. the pill: Which is better?. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324716)
Implantable Contraception (for Teens). Nemours KidsHealth. (https://kidshealth.org/en/teens/contraception-implantable.html)
Birth Control Pill vs. Birth Control Shot: Pros and Cons. Healthline. (https://www.healthline.com/health/birth-control/birth-control-pill-vs-shot)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)