เด็กขาดความมั่นใจ ลูกไม่กล้าแสดงออก ทำอย่างไรดี?

เด็กขาดความมั่นใจ ลูกไม่กล้าแสดงออก เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป มาดูวิธีที่จะช่วยให้ลูกมั่นใจมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการเข้าสังคมและปรับตัวในอนาคต
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เด็กขาดความมั่นใจ ลูกไม่กล้าแสดงออก ทำอย่างไรดี?

เมื่อลูกเข้าโรงเรียน พบเจอกับคนที่ไม่คุ้นเคย ต้องแสดงออกหน้าชั้นเรียน คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจพบว่าลูกขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจ ขี้อาย ไม่กล้าเข้าหาสิ่งใหม่ๆ หรือทำเรื่องที่ท้าทาย

สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เจอได้ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่บางคนก็อาจจะเป็นปัญหาหนักอกหนักใจว่าจะทำอย่างไรให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น กล้าแสดงออกและกล้าเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากขึ้น

เด็กขี้อาย ขี้กังวล เป็นเรื่องปกติหรือไม่?

เรื่องของความขี้อายหรือกังวลนั้นเป็นพัฒนาการของเด็กที่เจอได้ตั้งแต่อายุประมาณ 7-9 เดือน โดยเด็กจะเริ่มกังวลและกลัวคนแปลกหน้าที่ไม่ใช้ผู้เลี้ยงดูที่สนิท

เมื่อติดตามไป เด็กส่วนมากมักจะไม่มีความบกพร่องในการปรับตัวเมื่อต้องเจอสถานการณ์ใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรควิตกกังวล หรือคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูแบบปกป้องลูกมากเกินไป หรือวิตกกังวลกับสิ่งต่างๆ รอบตัวลูก ก็สามารถทำให้เด็กมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้

ในเด็กก่อนวัยเรียนมักจะมีความกลัวหรือความกังวลเมื่ออยู่ท่ามกลางความมืด เจอสัตว์บางชนิด หรืออยู่ในสถานการณ์บางอย่างที่เด็กจินตนาการเอง

ในเด็กวัยเข้าเรียนอาจกังวลกับการมีเพื่อนใหม่ๆ ในวัยรุ่นอาจมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์ของตนเอง มุมมองที่คนอื่นจะมองตน และกังวลในศักยภาพของตนเอง

ทำไมเด็กถึงขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก

เด็กที่ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก มักมาจากสาเหตุต่อไปนี้

  1. เป็นลักษณะพื้นอารมณ์ของเด็กที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ประมาณ 20-48% ของประชากรจะมีพื้นฐานอารมณ์ไม่กล้า หรือขี้อายเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ
  2. มีประสบการณ์หรือความทรงจำที่ไม่ดีกับเรื่องนั้นๆ มาก่อน
  3. อยู่ในวัยที่มีความกลัวหรือกังวลต่อสถานการณ์รอบตัว
  4. ขาดทักษะการปรับตัวและจัดการกับสถานการณ์ใหม่ ๆ

หากเด็กขี้อายมากๆ ไม่กล้าแสดงออก จะส่งผลเสียอย่างไร

เด็กที่ขี้อายมากๆ ไม่กล้าแสดงออก จะมีความบกพร่องในการปรับตัวเมื่อเทียบกับเพื่อนในชั้นเรียน

เมื่อต้องแสดงกิจกรรมหน้าชั้นเรียนจะรู้สึกเป็นกังวล ไม่สบายตัว บางคนอาจร้องไห้เพราะกลัว

เมื่ออยู่ในบริเวณสนามเด็กเล่น เด็กที่ขี้อายมากๆ หรือกังวลจะไม่กล้าเข้าไปเล่นกับเพื่อน เพราะกลัวตัวเองเล่นไม่ดี ทำไม่ได้ กลัวเพื่อนว่าหรือล้อ

หากอาการเหล่านี้ยังคงอยู่เรื่อยๆ จะทำให้เด็กปรับตัวได้ยากลำบากยิ่งขึ้น และอาจมีพฤติกรรมหลีกหนี จนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ จะเข้ากับผู้อื่นยาก มีปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

บางครั้งเด็กที่มีความขี้อายมากๆ ไม่กล้าแสดงออก อาจมีภาวะโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ซ่อนอยู่

เด็กขี้อายจะสามารถกลายเป็นคนที่กล้าแสดงออกได้หรือไม่?

สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูต้องมีความเข้าใจและยอมรับตัวตนของลูกว่ามีพื้นอารมณ์หรือลักษณะเฉพาะตนอย่างไร

ไม่บีบบังคับหรือคาดหวังให้ลูกต้องแสดงออกตามที่ใจเราต้องการ ใช้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันเพื่อสร้างความไว้วางใจ และฝึกฝนทักษะการปรับตัวเมื่อต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบและสถานการณ์ใหม่ๆ

ในที่สุดลูกจะค่อยๆ ปรับตัวและรู้ว่าในสถานการณ์ต่างๆ นั้นควรทำตัวอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้อย่างไร?

การจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบตัวนั้น ต้องอาศัยทักษะหลายด้านประกอบกัน

คุณพ่อคุณแม่ควรจะส่งเสริม ฝึกฝน และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก เพื่อสร้างเสริมความกล้าในใจให้ลูกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ

โดยสามารถใช้การเล่านิทาน สถานการณ์สมมติ พูดคุย หรือค่อยๆ สอดแทรกในเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มทักษะการจัดการต่างๆ ของลูก เช่น

  • ฝึกทักษะการจัดการความกังวลและความล้มเหลว
  • ฝึกทักษะการจัดการเมื่อถูกปฏิเสธหรือหยอกล้อ
  • ฝึกทักษะการจัดการเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
  • สอนลูกให้การจัดการความโกรธ การให้อภัย ให้รู้จักการขอโทษ
  • สอนลูกว่าไม่จำเป็นต้องกล้าในทุกๆ สถานการณ์
  • ให้ลูกได้เลือกทำสิ่งที่ชอบและทำให้รู้สึกสนุกทดแทน
  • ให้ลูกได้ฝึกแสดงความรู้สึกต่อผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอันตราย
  • ฝึกให้ลูกรู้จักการแบ่งปันร่วมกับผู้อื่น
  • ฝึกให้ลูกมีทักษะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • อาจแนะนำให้ลูกหาตัวช่วย เวลาต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือความกังวล เช่น ให้เวลาค่อยๆ ปรับตัว มีตุ๊กตาตัวเล็กๆ ช่วยเพิ่มพลังใจ มีเพื่อนที่สนิทและกล้าแสดงออกออกไปหน้าชั้นเรียนด้วย
  • ฝึกให้ลูกมีทักษะการขอบคุณคนอื่น
  • ไม่จำเป็นต้องบอกคนอื่นๆ ถึงความกลัวหรือความกังวลของลูก ยิ่งคนรู้น้อยที่สุดยิ่งดี เลือกบอกเฉพาะคนที่จะช่วยเหลือลูกได้
  • ลดความกดดันลูกและกดดันตัวคุณพ่อคุณแม่เอง
  • ชมเชยและให้กำลังใจลูก เมื่อลูกกล้าทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น

ลูกขาดความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออกมากแค่ไหน ถึงควรพาไปพบแพทย์?

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ลูกขี้อาย กังวล ไม่มั่นใจ และไม่กล้าแสดงออก เป็นภาวะที่เจอได้ในเด็กปกติทั่วไป

อย่างไรก็ตาม หากความกังวลหรือความขี้อายดังกล่าวเกิดพร้อมๆ กับมีความบกพร่องในการเข้าสังคม ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่มีเพื่อน โดนเพื่อนปฏิเสธเข้ากลุ่ม มีภาวะอารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง นอนไม่หลับ รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง มีอาการเหงื่อแตก ใจสั่นร่วมด้วย

หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในครอบครัว เช่น คุณพ่อคุณแม่หย่าร้าง เกิดการสูญเสียหรือเสียชีวิตของคนที่สนิทในครอบครัว

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณของกลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety disorder)

หากมี คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การช่วยเหลือดูแลรักษาต่อไป


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMd, Tips to Parent Your Shy Child (https://www.webmd.com/parenting/features/parent-shy-child#1), 28 October 2013.
Nelson Textbook of Pediatrics (20th Edition), Behavioral and psychiatric disorder.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)