ห้องมีเชื้อรามีผลต่อสุขภาพอย่างไร และมีวิธีกำจัดเชื้อราอย่างไรบ้าง

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ห้องมีเชื้อรามีผลต่อสุขภาพอย่างไร และมีวิธีกำจัดเชื้อราอย่างไรบ้าง

เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สามารถพบได้ในธรรมชาติทั่วไป ซึ่งให้ทั้งคุณประโยชน์และโทษแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นการย่อยสลายสิ่งเน่าเสีย หรือแม้แต่เป็นสาเหตุของการก่อโรคบางโรค แต่ถ้าบ้านหรือที่พักอาศัยของเรานั้นเต็มไปด้วยห้องมีเชื้อราก็ย่อมมีผลต่อสุขภาพอย่างแน่นอน หากเราไม่กำจัดเชื้อราตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่มีในห้อง

 สาเหตุที่ทำให้ห้องมีเชื้อรา

อันดับแรกที่เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตก็คือ “ความชื้น” ซึ่งมักจะพบมากในบริเวณบ้านที่มีความอับชื้น เช่น หลังคาที่มีรอยรั่ว ที่ตั้งเครื่องปรับอากาศ ผนังห้องน้ำ ขอบหน้าต่างหรือประตู และฝ้าเพดาน จึงทำให้ห้องมีเชื้อราสะสมจำนวนมากและกำจัดออกได้ยาก ถ้าปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

 ผลเสียต่อสุขภาพจากห้องมีเชื้อรา

เมื่อภายในห้องมีเชื้อราในปริมาณมาก จะทำให้เชื้อรามีการสร้างสปอร์ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ผื่นคัน มีอาการระคายเคืองต่อตา จมูก และหลอดลม หรือรู้สึกปวดศีรษะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวประเภทโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ (Allergic reactions) หรือโรคปอดอักเสบจากอาการภูมิแพ้ (Hypersensitivity Pneumonitis) ที่อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 วิธีกำจัดเชื้อราภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัย

การกำจัดเชื้อราอย่างถูกวิธีสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อรา และลดความเสี่ยงเกี่ยวกับอาการของโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดได้พอสมควร อีกทั้งยังเป็นการช่วยถนอมเครื่องเรือนและวัสดุเฟอร์นิเจอร์ให้ได้รับความเสียหายน้อยลงด้วยเช่นกัน ด้วยวิธีกำจัดเชื้อราดังต่อไปนี้

  • ที่นอน ฝ้าเพดาน และพรม วิธีที่ดีที่สุดคือทิ้งของเก่าแล้วเปลี่ยนใหม่ เนื่องจากวัสดุที่นำมาผลิตของใช้ประเภทนี้เป็นชนิดมีรู ทำให้ล้างหรือกำจัดเชื้อราออกยากมากๆ และไม่สามารถกำจัดให้หมดเกลี้ยงได้ หากเรายังฝืนใช้ต่อไปจะยิ่งส่งผลให้เชื้อราขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น แล้วเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยในที่สุด
  • ผนังที่มีเชื้อรา ควรขัดล้างผนังให้สะอาดเสียก่อนแล้วค่อยทาสีหรือแล็กเกอร์ ซึ่งควรจำไว้เสมอว่าจะต้องไม่ทาสีหรือแล็กเกอร์ทับผนังที่มีเชื้อราโดยเด็ดขาด เพราะไม่ใช่วิธีกำจัดเชื้อราอย่างถูกต้อง และยังทำให้เชื้อราคงอยู่ไม่หายไปไหน
  • ผนังวอลล์เปเปอร์ นำกรดซาลิไซลิกผสมกับแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1 : 5 และใช้ผ้าสะอาดชุบแล้วเช็ดผนังวอลล์เปเปอร์ประมาณ 2 รอบ หรือจนกว่าเชื้อราจะหายไป แต่ถ้าเช็ดเท่าไรก็ไม่หายก็ควรเปลี่ยนวอลล์เปเปอร์ใหม่
  • เฟอร์นิเจอร์ ถ้าห้องมีเชื้อราก็อาจจะส่งผลให้เฟอร์นิเจอร์มีเชื้อราไปด้วย หากได้รับความชื้นในปริมาณมากพอ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ประเภทไม้เนื้ออ่อนที่จะเกิดเชื้อราได้ง่าย เมื่อไม่ทำความสะอาดแล้วทำให้แห้งสนิทภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ดังนั้นจึงควรทิ้งเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นเพราะเชื้อราจะฝังลงเนื้อไม้ ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะกำจัดเชื้อรา
  • นำเครื่องใช้ตากแดด กรณีที่เราสามารถทำความสะอาดหรือกำจัดเชื้อราในเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของได้แล้ว ให้นำออกไปตากบริเวณที่แสงแดดส่องถึงประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นการกำจัดสปอร์ที่อาจจะทำให้ห้องมีเชื้อราได้
  • เครื่องหนัง นำผ้าสะอาดชุบกับน้ำส้มสายชูมาเช็ดเครื่องหนังหลายๆ ครั้ง จนกว่ารอยเชื้อราเหล่านั้นจะหายไป จากนั้นจึงค่อยเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดแล้วทำให้เครื่องหนังแห้งสนิท
  • ชุดแต่งกาย ผ้าห่ม และผ้าม่าน การแช่น้ำร้อนเป็นวิธีกำจัดเชื้อราอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี โดยนำผ้าที่มีเชื้อราไปแช่น้ำร้อนแล้วซักให้สะอาด จากนั้นตากแดดจัดๆ เพื่อฆ่าเชื้อรา
  • วัสดุที่มีพื้นผิวแข็งๆ ใช้แอลกอฮอล์ น้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างห้องน้ำราดบนพื้นที่มีเชื้อรา แล้วใช้แปรงที่มีขนแปรงแข็งๆ ขัดให้สะอาด จากนั้นเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดจนกว่าจะหมดรอยเชื้อรา

 สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้ห้องมีเชื้อรา คือการทำความสะอาดบ้านและข้าวของเครื่องใช้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความชื้น ก็จะช่วยให้เราปลอดภัยจากอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราได้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Fungi: Hazards and health applications. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/158134)
Fungal Infections - Fungi - Fungus - MedlinePlus (https://medlineplus.gov/fungalinfections.html)
Fungal Infections - Protect Your Health | Fungal Diseases. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/fungal/features/fungal-infections.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)