อาการปวดหลังจนชาหรือร้าวลงไปที่แขนหรือขา เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกถึงภาวะกระดูกทับเส้นประสาท อาการกระดูกทับเส้นในแต่ละส่วนมีความแตกต่างกัน มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง HD มีคำตอบ
ก่อนจะรู้จักอาการกระดูกทับเส้น เข้าใจลักษณะกระดูกสันหลังเสียก่อน
กระดูกสันหลังเป็นกระดูกแกนกลาง ยาวตั้งแต่ใต้กะโหลกศีรษะลงไปถึงกระเบนเหน็บ เป็นกระดูกที่เชื่อมศีรษะ แขน ขา ไว้ด้วยกัน มีบทบาทด้านช่วยในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย
กระดูกสันหลังมีลักษณะเป็นชิ้นปล้องๆ ต่อกัน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
- ส่วนคอ มี 7 ปล้อง รับน้ำหนักศีรษะและเกี่ยวข้องการเคลื่อนไหวของศีรษะและคอ
- ส่วนอก มี 11 ปล้อง เป็นที่เกาะกับกระดูกซี่โครง ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว จึงไม่ค่อยพบหมอนรองกระดูกเคลื่อนบริเวณนี้
- ส่วนเอว มี 5 ปล้อง รับน้ำหนักร่างกายส่วนบนทั้งหมด เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายมากที่สุด จึงพบหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้บ่อยที่สุดบริเวณนี้
- ส่วนกระเบนเหน็บ เป็นกระดูกเพียง 1 ชิ้น ไม่มีการเคลื่อนไหว แต่เป็นตัวเชื่อมกับกระดูกเชิงกรานซึ่งเชื่อมต่อไปยังขา
หมอนรองกระดูก คืออะไร?
หมอนรองกระดูก คือตัวเชื่อมระหว่างปล้องของกระดูกสันหลังทางด้านหน้า ประกอบด้วย 2 ส่วน ชั้นนอกเป็นผังผืดหนาๆ (Annulus fibrosus) ที่ช่วยเสริมความแข็งแรง ป้องกันไม่ให้ชั้นด้านในที่มีลักษณะเป็นวุ้นๆ (Nucleus pulposus) ทำหน้าที่คอยรับน้ำหนักปลิ้นออกมาได้
หมอนรองกระดูกจึงทำหน้าที่เหมือนโช้กอัปของรถยนต์คอยรับน้ำหนักเมื่อมีแรงกระแทก
ทางด้านหลังของปล้องกระดูกสันหลังจะมีข้อต่อเล็กๆ ซ้ายขวา เชื่อมกระดูกสันหลังแต่ละปล้องเข้าด้วยกันทางด้านหลัง ซึ่งระหว่างหมอนรองกระดูกด้านหน้ากับข้อต่อด้านหลังนี้จะมีช่องว่างตรงกลางเป็นโพรงยาวตามแนวกระดูกสันหลัง เป็นที่อยู่ของไขสันหลังและเส้นประสาท
ซึ่งตามกายวิภาคแล้ว เส้นประสาทจะอยู่ใกล้กับหมอนรองกระดูกมาก เมื่อมีความเสื่อมของส่วนชั้นนอกหมอนรองกระดูกเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม ส่วนที่มีลักษณะเป็นวุ้นด้านใดก็จะเคลื่อนที่ออกมา และหากไปกดทับที่เส้นประสาทเหล่านั้นก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า กระดูกทับเส้น ขึ้น
สาเหตุที่มีผลทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมจนเป็นสาเหตุของกระดูกทับเส้น ได้แก่ การอยู่ในท่านั่งนานๆ เช่น นั่งทำงานหรือขับรถ การทำงานที่ต้องยกของบ่อยๆ การไม่ออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่
อาการกระดูกทับเส้นที่ส่วนต่างๆ เป็นอย่างไร?
ในส่วนนี้จะเน้นอาการที่ส่วนคอและหลัง เนื่องจากเป็นส่วนที่เกิดกระดูกทับเส้นได้บ่อย
อาการกระดูกทับเส้นที่คอ มีดังนี้
- ปวดบริเวณต้นคอ สะบัก
- ปวดร้าวลงไหล่ แขน
- มือและแขนมีอาการชา
- มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและมือ ในกรณีที่เป็นไม่มากให้สังเกตจากการใช้งาน เช่น ติดกระดุมลำบาก เขียนหนังสือไม่ได้
- มีอาการสั่นเวลาเดิน
อาการกระดูกทับเส้นที่หลัง มีดังนี้
- ปวดหลัง
- ปวดสะโพกร้าวลงขา
- ขาและเท้ามีอาการชา
- กล้ามเนื้อขาและเท้าอ่อนแรง เช่นเดียวกับที่คอ หากเป็นไม่มากให้สังเกตจากการใช้งาน เช่น เดินสะดุด เดินแล้วรองเท้าหลุด
- อุจจาระและปัสสาวะลำบาก
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นกระดูกทับเส้น สัญญาณอาการกระดูกทับเส้น ที่ควรระวัง
อาการปวดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่อาการที่เฉพาะเจาะจงว่าเกิดจากกระดูกทับเส้น เพราะหากมีหมอนรองกระดูกเคลื่อนก็เกิดอาการปวดแล้ว
สิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออาการปวดร้าวไปที่แขนหรือขา และอาการอื่นๆ ที่บ่งบอกว่าเส้นประสาทมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น ได้แก่ อาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาในเรื่องการขับถ่าย
หากมีอาการเหล่านี้ให้สงสัยว่าน่าจะเป็นกระดูกทับเส้น ควรรีบไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์จะทำการส่งตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
ดูแพ็กเกจตรวจกระดูก เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android