Herd Immunity (ภูมิคุ้มกันกลุ่ม) คืออะไร จะช่วยให้สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นได้จริงหรือ?

รู้จักแนวคิด Herd Immunity (ภูมิคุ้มกันกลุ่ม) ที่บางประเทศเลือกใช้ต่อสู้กับ COVID-19 ว่าจะได้ผลหรือไม่ และเคยมีการทำแบบนี้มาก่อนไหม?
เผยแพร่ครั้งแรก 27 มี.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
Herd Immunity (ภูมิคุ้มกันกลุ่ม) คืออะไร จะช่วยให้สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นได้จริงหรือ?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ในสถานการณ์ COVID-19 ระบาด บางประเทศเลือกแนวทางการต่อสู้กับโรคที่แปลกจากที่อื่น เรียกว่า Herd Immunity หรือ ภูมิคุ้มกันกลุ่ม
  • Herd Immunity เป็นการทำให้คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรค จนมีการระบาดน้อยลงไปเอง
  • ตามปกติ Herd Immunity จะมาจากการให้วัคซีนคนส่วนมาก จนบางโรคน้อยลงมากกระทั่งหายไป เช่น โปลิโอ
  • แต่สำหรับ COVID-19 ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การจะเกิด Herd Immunity ได้ จะต้องให้คนที่แข็งแรงส่วนมากรับเชื้อแล้วร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นตามธรรมชาติ จัดว่ามีความเสี่ยง เพราะคนที่สร้างกายสู้ไม่ไหวอาจได้รับผลกระทบรุนแรง
  • ดูแหล่งรวมข้อมูล COVID-19 กด ที่นี่

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจไปทั่วโลก หลายประเทศมีการรับมือที่แตกต่างกัน หลายประเทศในยุโรปเลือกใช้วิธีให้เกิดภูมิคุ้มกันในชุมชนเพื่อป้องกันคนที่ยังไม่ป่วยด้วยวิธีที่เรียกว่า Herd Immunity

เข้าใจเรื่องภูมิคุ้มกันกันก่อน

ภูมิคุ้มกัน (Immunity) คือระบบการป้องกันตัวของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือด สารเคมีจากเม็ดเลือด โปรตีนและเอนไซม์หลายชนิด

ร่างกายใช้ระบบการป้องกันนี้ต่อสู้กับเชื้อโรค โดยระบบภูมิคุ้มกันนี้แบ่งได้ออกเป็นสองกลุ่ม คือ

  1. ภูมิคุ้มกันตั้งแต่เกิด (Innate immunity) เป็นระบบที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมโดยไม่เลือกชนิด ขอเพียงระบบนี้ตรวจจับได้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม จะเริ่มทำงานทันที ปฏิกิริยาจะรวดเร็วและเป็นด่านหน้าด่านแรกของการป้องกันตัวในร่างกาย
  2. ภูมิคุ้มกันที่มีการปรับตัว (Adaptive immunity) เป็นระบบที่ตอบสนองเฉพาะตัวสิ่งแปลกปลอมแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ร่างกายจะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมจากระบบการส่งต่อข้อมูลจากระบบภูมิคุ้มกันตั้งแต่เกิด (Innate immunity) จะสร้างแอนติบอดีเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้น จึงต้องอาศัยเวลาที่นานกว่าระบบภูมิคุ้มกันแต่เกิด

ในกรณีร่างกายมีการสัมผัสเชื้อโรค หากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายยังเป็นปกติ ร่างกายจะใช้ระบบภูมิคุ้มกันทั้งสองเพื่อต่อต้านเชื้อโรค และจดจำเอาไว้เพื่อจะได้สร้างภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น

แอนติบอดีและเซลล์ที่ทำหน้าที่จดจำจะยังอยู่ในร่างกายในระยะยาว ทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำ หรือลดความรุนแรงในการติดเชื้อ และประเด็นสำคัญอันหนึ่งคือ สามารถลดภาวะพาหะและการแพร่กระจายเชื้อได้อีกด้วย

แนวคิด Herd immunity ที่อาจใช้เพื่อแก้ปัญหา COVID-19

แนวคิดหลักคือ สร้างภูมิคุ้มกันในคนหมู่มากเพื่อลดการติดเชื้อในคนที่ยังไม่เป็นโรค เพราะหากผู้ที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันแล้ว จะลดความสามารถในการแพร่กระจายให้กับคนรอบข้าง คนรอบข้างจะติดเชื้อน้อยลงหรือมีความรุนแรงน้อยลงทั้งๆ ที่ยังไม่ต้องมีภูมิคุ้มกันหรือเคยติดเชื้อเลย

Herd immunity เกิดได้จากวิธีใด?

Herd immunity โดยหลักการและสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน คือ การสร้างภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีนให้คนหมู่มาก จนคนหมู่มากมีภูมิคุ้มกันที่มากกว่าระดับความสามารถในการแพร่เชื้อในวงกว้าง

ดังนั้นเมื่อเกิดโรคระบาดหรือมีการติดเชื้อ ร่างกายคนที่มี Herd immunity จะสามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อโรคได้ดีในคนนั้น โอกาสที่เชื้อจะแพร่ออกไปสู่คนอื่นน้อยมาก คนรอบตัวของคนที่มี Herd immunity จึงลดโอกาสการติดเชื้อลงมาก เรียกว่า Cocooning effect

ข้อพิสูจน์เรื่อง Herd immunity ที่ชัดเจนใน 2 โรค ได้แก่

1. โรคโปลิโอ

มีการปูพรมหยอดวัคซีนไปทั่วโลก จนการติดเชื้อใหม่น้อยลง แม้แต่คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ติดเชื้อน้อยลง ตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ จนโรคลดลงและหายไปในที่สุด

2. โรคปอดอักเสบ

การเพิ่มการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ Conjugated pneumococcal vaccine ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อฉีดถึงปริมาณมากพอ ประมาณ 60% ของผู้ที่เสี่ยงจะแพร่กระจายเชื้อ พบว่าผู้สูงวัยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่และอัตราการเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบลดลงไปด้วย ไม่เพียงแค่ผู้ที่ฉีดวัคซีนเท่านั้น

Herd immunity จากภูมิคุ้มกันที่เกิดตามธรรมชาติจากการติดเชื้อ

การติดเชื้อตามธรรมชาติ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันและแอนติบอดีเช่นกัน ลักษณะการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ได้ต่างจากการรับวัคซีน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาจะแตกต่างกัน เพราะชนิดหรือสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่ติดเข้ามาในแต่ละคนไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และปฏิกิริยารวมถึงสารเคมีที่สร้างก็ต่างกันตามปัจเจกบุคคล

ส่วนการรับวัคซีนจะได้เชื้อกระตุ้นแบบเดียวกันทั้งหมด ความแปรปรวนของการสร้างภูมิคุ้มกันจึงไม่มากนัก พอคาดเดาการตอบสนองได้

ดังนั้นการเกิด Herd immunity จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ จะต้องใช้ระยะเวลาการเกิดภูมิคุ้มกันที่นานกว่า คนทั่วไปจึงจะมีภูมิคุ้มกันมากพอ และเกินระดับที่อัตราการติดเชื้อจะรุนแรงได้

นอกจากนี้ยังมีความปรวนแปรที่คาดเดาได้ยากว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะเป็น Protective antibody ที่ช่วยกำจัดเชื้อได้หรือไม่ เพราะมีภูมิคุ้มกันบางอย่างที่ร่างกายสร้างขึ้นตอบสนองต่อการติดเชื้อ แต่ตัวมันเองกลับขาดสมบัติในการทำลายและป้องกัน เช่น ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี

ส่วนการเกิด Herd immunity จากการรับวัคซีนนั้นผ่านการทดสอบว่าแล้วว่า ภูมิคุ้มกันที่สร้างได้จะเป็นภูมิคุ้มกันที่เป็น Protective antibody

กรณีของ Herd immunity จากภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ที่เคยมีในอดีต

กรณีการระบาดของโรคในอดีตจนเกิด Herd immunity คือ โรคไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ที่ตอนแรกยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากไวรัสและอนามัยที่ไม่ดี

เมื่อการระบาดถึงระดับมากพอสมควร ผู้ที่ป่วยรุนแรงภูมิคุ้มกันไม่สามารถสู้ได้จะเสียชีวิต ส่วนคนที่แข็งแรงและภูมิคุ้มกันดีจะอยู่รอด

เมื่อมีการติดเชื้อต่อไป คนที่แข็งแรงจะไม่เป็นโรคและไม่แพร่กระจายโรค ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อจึงอยู่รอดและไม่ติดเชื้อ โรคจึงลดลง

แต่กว่าจะเกิด Herd immunity จะต้องใช้เวลานานพอสมควร และอาจต้องคัดเลือกคนที่อ่อนแอให้หมดไปประมาณหนึ่งทีเดียว โดยทั่วไปจึงใช้ Herd immunity ในความหมายของการรับวัคซีนเป็นหลัก

การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 นี้ มีการแพร่กระจายรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของโรคไม่มาก แสดงว่าโอกาสเกิดภูมิคุ้มกันสูงมาก และคนที่เกิดภูมิจะอยู่รอดต่อไป

การเกิด Herd immunity จึงเกิดได้เร็วกว่าโรคที่รุนแรงและมีอัตราการตายสูง คงต้องติดตามเรื่องราวของ Herd immunity ต่อโรคนี้ต่อไปว่าจะได้ผลหรือไม่ หรือจะมีผลกระทบใดบ้าง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ทวีศักดิ์ ตีระวัฒนพงษ์. ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ใน วิทยาภูมิคุ้มกันพื้นฐานและคลินิก. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพ.: คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Paul Fine, Ken Eames, David L Heymann. “Herd Immunity” : A Rough Guide. CID 2011: 52
C J Metcalf, M Ferrari, A L Graham, et al. Understanding Herd Immunity. Trends in Immunology. December 2015 vol 36 : No12; 753-55

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)