ลูกโตแล้ว แต่ไม่ยอมแยกห้องนอน พ่อแม่ควรทำอย่างไร?

อธิบายสาเหตุที่ลูกไม่อยากแยกห้องนอน และวิธีรับมือที่เหมาะสม ให้ลูกรู้สึกมั่นใจและดูแลตัวเองได้เมื่อต้องอยู่คนเดียว
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลูกโตแล้ว แต่ไม่ยอมแยกห้องนอน พ่อแม่ควรทำอย่างไร?

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่อยากจะฝึกให้ลูกแยกห้องนอนและนอนหลับในห้องส่วนตัวของตนเอง บางครอบครัวเริ่มฝึกลูกแยกห้องนอนตั้งแต่เล็กๆ แต่บางครอบครัวยังชอบการนอนกับลูกและเริ่มแยกห้องนอนเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม การฝึกลูกแยกห้องนอนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูอาจต้องใช้ความพยายามและความอดทนหลายครั้งในการฝึกลูกเพื่อให้นอนหลับคนเดียวได้

ลูกติดนอนกับพ่อแม่ ลูกโตแล้ว แต่ไม่ยอมแยกห้องนอนสักที เป็นเพราะอะไร?

รูปแบบการนอนของลูกมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเชื่อวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ รวมถึงสภาพแวดล้อม ความเหมาะสมของแต่ละบ้าน เช่น การนอนเตียงของตนเองในห้องพ่อแม่ การนอนบนเตียงร่วมกับพ่อแม่ หรือแยกห้องนอนเป็นของตนเอง

สำหรับครอบครัวคนไทยส่วนมาก เด็ก ๆ มักจะนอนร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็อยากฝึกให้ลูกนอนห้องของตนเอง เพื่อให้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง มีความเป็นส่วนตัว และฝึกความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายครั้งที่พยายามให้ลูกนอนห้องตนเอง แต่ลูกก็กลับมานอนร่วมกับคุณพ่อคุณแม่เสมอ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสำหรับเด็ก การแยกห้องนอนเป็นการแยกจากบุคคลใกล้ชิดที่คุ้นเคย เด็กจึงรู้สึกวิตกกังวล ไม่ปลอดภัย และขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

นอกจากนี้หากอยู่ในช่วงวัยเด็กเล็กที่เด็กมีจินตนาการต่างๆ เด็กอาจรู้สึกกลัวความมืด รู้สึกว่ามีสัตว์ประหลาด อยากเล่น หรือกลัวว่าพ่อแม่จะหายไป

ดังนั้นเมื่อพยายามให้ลูกแยกห้องนอนแล้วลูกไม่ยอม คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูจึงควรสอบถามถึงสาเหตุด้วยความอ่อนโยน ไม่ลงโทษดุด่า และแสดงความอบอุ่นปลอดภัยเมื่อลูกอยากกลับมานอนกับตนเอง ไม่ผลักไส ค่อยๆ ให้เวลา เตรียมความพร้อมและยืนยันกับลูกเมื่อต้องแยกห้องนอน

พ่อแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมแยกห้องนอน?

เมื่อคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูอยากฝึกให้เด็กแยกห้องนอน ควรพูดคุยกับเด็ก ทำข้อตกลงให้ลูกมีส่วนร่วมในการตกแต่งและเลือกของใช้ในห้องนอน

หลีกเลี่ยงการนำของเล่น สิ่งของต่างๆ โทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าห้องนอนมีไว้สำหรับนอนหลับพักผ่อนอย่างเดียว

สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือควรทำกิจวัตรประจำตัวก่อนนอนของลูกสม่ำเสมอเช่นเดียวกับตอนที่ยังไม่แยกห้องนอน เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และเตรียมพร้อมสำหรับการนอนด้วยตนเอง

เมื่อพาลูกเข้านอนที่ห้องของตนเอง คุณแม่คุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. เมื่อเสร็จกิจวัตรประจำวันก่อนนอน พาลูกเข้าห้องนอนและบอกลูกว่าให้ลูกอยู่บนเตียงจนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะกลับมาหาอีกครั้ง
  2. ถ้าลูกลุกออกมาจากเตียง คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรเข้าไปหาลูก พูดด้วยเสียงอ่อนโยนว่าลูกต้องอยู่บนเตียงและพาลูกกลับเข้านอน
  3. เมื่อลูกกลับขึ้นเตียงนอน ให้คุณพ่อคุณแม่ชมเชยลูกว่าลูกทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง หลังจากนั้นค่อยๆ เดินกลับห้องของตนเอง
  4. บอกลูกอีกครั้งว่าคุณพ่อคุณแม่จะกลับมาและคอยตรวจดูว่าลูกนอนหลับอย่างดีตลอดคืน เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจในการนอนคนเดียวมากขึ้น

นอกจากนั้นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรคำนึงถึงความปลอดภัยภายในห้องนอนและนอกห้องนอน หากลูกลุกขึ้นมากลางดึก เช่น เก็บสิ่งของที่ลูกอาจเดินชนให้เรียบร้อย มีประตูป้องกันระหว่างชั้นบนสุดของบันไดเพื่อไม่ให้ลูกพลัดตกลงไป ปิดล็อกตู้หรือชั้นที่ไม่ได้ใช้ให้เรียบร้อย งดการล็อคประตูห้องอยู่คนเดียว เป็นต้น

หากลูกตื่นกลางคืนแล้วรู้สึกกลัวหรือกังวล คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูอาจให้ตุ๊กตาที่เด็กชอบ หรือผ้าห่มผืนโปรดแก่ลูกเพื่อช่วยให้ลูกคลายความกังวลและกล่อมตนเองจนนอนหลับต่อได้

หลีกเลี่ยงการลงโทษ ดุด่าหากลูกร้องไห้ งอแง ไม่ยอมแยกห้องนอน และไม่ควรให้รางวัลที่มีราคามากมายหรือสิ่งของเพื่อแลกกับการที่ลูกยอมแยกห้องนอน

ควรใช้การชมเชย กอด หอมเพื่อแสดงว่าคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูชื่นชมที่ลูกสามารถนอนห้องของตนเองได้สำเร็จ

กิจวัตรประจำวันที่ควรทำก่อนพาลูกเข้านอนมีอะไรบ้าง?

เพื่อให้ลูกน้อยเข้านอนได้เร็ว นอนหลับได้ดีตลอดคืน และมีคุณภาพการนอนที่ดี คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรฝึกให้ลูกมีกิจวัตรประจำวันก่อนนอนอย่างสม่ำเสมอ ดังต่อไปนี้

  1. อาบน้ำก่อนนอน เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกของร่างกายและทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้านอน และเป็นสัญญาณบ่งบอกลูกว่าใกล้ถึงเวลาเข้านอนแล้ว
  2. ใส่เสื้อผ้าที่ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ปรับอุณหภูมิห้องนอนให้เหมาะสม
  3. จัดห้องนอนให้ไม่สว่างจนเกินไป เงียบ และมีเสียงรบกวนน้อยที่สุด เพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อใหญ่หรือขนมปริมาณมากก่อนนอน งดกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
  5. ทำความสะอาดช่องปากโดยการแปรงฟัน โดยพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรเลือกใช้แปรงสีฟันและยาสีฟันให้เหมาะตามวัยของเด็ก การแปรงฟันหลังจากรับประทานอาหารทุกอย่างเสร็จจะทำให้ลูกเรียนรู้ว่ากำลังจะเข้านอน และไม่ควรกินอาหารอื่นๆ อีกหลังแปรงฟันแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันฟันผุด้วยเช่นกัน
  6. อ่านหนังสือนิทานกับลูกก่อนนอน เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้เลี้ยงดูและลูก เป็นการเรียนรู้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน อาจชี้รูปภาพในนิทานเล่าเรื่องราวร่วมกัน เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้ลูกด้วย
  7. พาลูกเข้านอน ขณะที่ลูกเคลิ้มหลับ ให้ลูกเรียนรู้การนอนหลับด้วยตนเอง

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, 9 Ways to Make a Child's Bedtime Easy (https://www.webmd.com/parenting/raising-fit-kids/recharge/bedtime-routine-tips#3), 10 December 2019.
Healthy Children, Big Kid Beds: When to Make the Switch (https://www.healthychildren.org/English/healthy-living/sleep/Pages/Big-Kid-Beds-When-To-Make-the-Switch.aspx), 5 September 2013.
Healthy Children, The 4’s B of Bedtime (https://www.healthychildren.org/English/healthy-living/sleep/Pages/The-4-Bs-of-Bedtime.aspx), 26 March 2012.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)