"เท้า" เป็นอวัยวะที่มีบทบาทความสำคัญไม่น้อย เพราะแทบทุกการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ว่าจะยืน เดิน วิ่ง ล้วนต้องมีเท้าเป็นองค์ประกอบด้วยทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี เท้าก็เหมือนเครื่องจักรที่ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสื่อมตามมามากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งหนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของเท้า ก็คือ "ส้นเท้าแตก" ซึ่งหากมองเผินๆ อาจดูไม่สำคัญ แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะทำให้ฝ่าเท้าหนาขึ้น และแตกเป็นร่องลึก หรือมีเลือดออกจนทำให้รู้สึกเจ็บได้ ร้ายไปกว่านั้นส้นเท้าแตกยังอาจนำไปสูการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ความหมายส้นเท้าแตก
ส้นเท้าแตก (Cracked heels) หมายถึง ผิวหนังบริเวณส้นเท้าที่มีความแห้ง หยาบกระด้าง ลักษณะเป็นแผ่นแข็ง อาการส้นเท้าแตกที่พบบ่อย ได้แก่ ส้นเท้าบวมแดง มีรอยแตกตื้นๆ กระจายในส่วนที่รับน้ำหนัก
หากส้นเท้าของคุณแตกแล้วปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รักษา ร่องผิวบริเวณที่แตกก็อาจจะลึกมากขึ้น และมีเลือดไหลซึมออกมาได้ อาการดังกล่าวมักสร้างความเจ็บปวด แสบ จนเดินไม่ไหว อีกทั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สูญเสียความรู้สึกบริเวณส้นเท้า ติดเชื้อในเนื้อเยื่อข้างเคียง มีหนอง
สาเหตุของส้นเท้าแตก
- ดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
- อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแช่น้ำร้อนเป็นเวลานาน
- ใช้สบู่ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำให้ผิวแห้งจัด
- อยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็นเป็นประจำ โดยไม่ทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะทำให้ส้นเท้ารับภาระแบกน้ำหนักมากตามไปด้วย
- ชอบเดินเท้าเปล่าโดยไม่ใส่รองเท้า
- การสวมรองเท้าไม่พอดีกับขนาดเท้า
- การสวมรองเท้าแบบเปิดผิวเท้า หรือพื้นรองเท้าแข็งเกินไป
- เกิดจากการเจ็บป่วยบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง
- เกิดจากการแพ้สารบางชนิด เช่น สารเคมี ปูนซีเมนต์
- เกิดจากกรรมพันธุ์
- สัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังขาดความชุ่นชื้น
การดูแลตนเองเพื่อรักษาส้นเท้าแตก
- ใช้สบู่บำรุงผิว เลือกใช้สบู่ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงและอ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง หรือก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
- ทายาและครีมบำรุงสำหรับส้นเท้า ครีม หรือยาที่มีส่วนประกอบของ “ไดเมทิโคน (Dimethicone)” สามารถช่วยกักเก็บน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ช่วยลดการเกิดหนังที่หนาหรือด้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของส้นเท้าแตก
จากนั้นทาครีมบำรุงผิวประเภทมอยซเจอร์ไรเซอร์เข้มข้น หรือปิโตรเลียมเจลลี่ที่เท้าเป็นประจำ จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวแห้งแตกได้ แล้วสวมถุงเท้าทับก่อนนอนอีกชั้นหนึ่ง - เลือกใช้สบู่และครีมอาบน้ำที่ถนอมผิว
- แช่เท้าในน้ำอุ่น 10-15 นาที แล้วใช้สครับ หินขัดเท้า หรือที่ขูดส้นเท้า สำหรับขัดถูเท้าตอนอาบน้ำ เพื่อให้เซลล์ผิวหนังเก่าหลุดลอกออก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และฟื้นฟูผิวบริเวณที่แห้งแตกให้กลับมาสภาพปกติ
การรักษาส้นเท้าแตก
หากรักษาส้นเท้าแตกในระยะแรกด้วยตัวเองแล้ว อาการยังไม่ทุเลาลงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และปลอดภัย รวมทั้งอาจต้องตรวจหาการติดเชื้อร่วมด้วย โดยวิธีการรักษาที่พบบ่อยได้แก่
- การผ่าตัดเนื้อตายออก แพทย์จะตัดผิวหนังแตกส่วนที่แข็งและหนาออก (ขั้นตอนนี้ไม่ควรทำเองที่บ้าน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย)
- การปิดบาดแผล แพทย์จะใช้ผ้าพันเพื่อปิดบาดแผลที่ส้นเท้าแตก เป็นการช่วยลดแรงกระเทือน หรือการฉีกขาดของผิวหนังจากการเคลื่อนไหวร่างกาย
- การจ่ายยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อระงับอาการปวด และอักเสบ หรืออาจจะมียาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือยูเรีย (Urea) ซึ่งมีสรรพคุณทำให้ส้นเท้านุ่มลง และเรียบขึ้น
- การเสริมพื้นรองเท้า แพทย์จะแนะนำในการใช้แผ่นยางเสริมพื้นรองเท้า เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ลดความรุนแรง และลดแรงกดของน้ำหนักที่ส้นเท้า
การป้องกันส้นเท้าแตก
- การอาบน้ำ ควรอาบน้ำที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่อาบน้ำอุ่น หรือแช่น้ำร้อนนานเกินไป และควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง พร้อมกับทาครีมบำรุงผิวที่เท้า และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น
- รองเท้า พยายามหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะเป็นประจำ หรือรองเท้าที่มีลักษณะเปิดเท้า โดยเลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับ หรือหลวมเกินไป พื้นรองเท้ามีความนุ่มและคุณภาพดี เมื่ออยู่ในบ้านอาจจะเลือกสวมรองเท้าขนนุ่มๆ จะช่วยลดแรงกระแทกได้พอสมควร
- ก่อนสวมรองเท้าควรสวมถุงเท้านุ่มๆ ด้วยทุกครั้ง เพื่อลดแรงกระแทกที่มีต่อฝ่าเท้า และส้นเท้า
- หากมีปัญหาผิวหนังแห้ง ขาดความชุ่มชื้น ควรทาครีมบำรุงเท้าก่อนนอนพร้อมกับสวมถุงเท้าทับด้วย
- หลีกเลี่ยงการเดิน ยืน วิ่งด้วยเท้าเปล่าเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนพื้นผิวแข็ง และมีความร้อน
- เช็คสุขภาพเท้า ควรสังเกต หรือตรวจอาการบวม และรอยแตกของส้นเท้า จากนั้นบำรุงรักษาผิวหนังบริเวณเท้าอย่างถูกวิธี หรืออาจจะไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
อาการส้นเท้าแตกเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อจิตใจไม่น้อยจนอาจสูญเสียความมั่นใจได้ เพราะคนภายนอกที่เห็นอาจคิดว่า คุณไม่ดูแลตนเองได้
นอกจากนี้หากดูแล หรือรักษาส้นเท้าแตกไม่ถูกวิธี นอกจากจะเป็นอาการเรื้อรังแล้ว รอยแตกอาจเพิ่มมากขึ้น ลึกขึ้น ยังอาจนำไปสู่ความเจ็บปวด หรือการติดเชื้อจนเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลังได้นั่นเอง
ดูแพ็กเกจนวด ทำสปาเท้า เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android