การุณยฆาต (Euthanasia) หมายถึง การทำให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด หรือผู้ที่ได้รับความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วยได้จากไปอย่างสงบ ด้วยเหตุนี้การุณยฆาต จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษอีกคำว่าปราณีฆาต (Mercy Killing) จุดประสงค์หลักของการทำการุณยฆาตคือ ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดกับโรคร้ายต่างๆ ได้จากโลกนี้ไปด้วยตัวเองอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ประเภทของการุณยฆาต
การการุณยฆาต สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) คือ การการุณยฆาตที่กระทำโดยการให้วัตถุหรือสารใดๆ เร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ในปัจจุบันนี้มีเพียง 4 ประเทศที่ยอมรับการทำการุณยฆาตประเภทนี้ได้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ส่วนในประเทศไทย แพทย์ที่ทำการุณยฆาตเชิงรุกให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับโทษในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ 289 ซึ่งมีโทษตั้งแต่จำคุก 15 ปี จนถึงประหารชีวิต
- การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia) คือการการุณยฆาตที่กระทำโดยการยุติการรักษาให้แก่ผู้ป่วย การทำการุณยฆาตประเภทนี้เป็นที่ยอมรับได้มากที่สุด และนิยมปฏิบัติกันในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ผู้ป่วยที่ประสงค์จะจากไปอย่างสงบด้วยวิธีนี้ จะต้องแสดงเจตจำนงที่จะไม่รับการรักษาผ่านทางจดหมาย ซึ่งสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตามที่ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 มาตรา 12 ได้ระบุไว้ว่า
"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้"
หากผู้ป่วยได้มีการทำหนังสือแสดงเจตนารมย์ไม่รับการช่วยเหลือตามที่กฎหมายได้ระบุไว้แล้ว หากแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามเจตนารมย์ของผู้ป่วย แม้จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น
สถานที่ใดบ้างที่ให้บริการการุณยฆาตโดยไม่ผิดกฎหมาย
แม้หลายประเทศจะอนุญาตให้ทำการุณยฆาตเชิงรุกได้ โดยมีหลักการพิจารณาอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อแพทย์และผู้ร้องขอมากที่สุด แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมและเรื่องของจริยธรรมอยู่เสมอ
ประเทศที่คนส่วนใหญ่มักนึกถึงเกี่ยวกับเรื่องการทำการุณยฆาตคงหนีไม่พ้นสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากประเทศดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยต่างชาติสามารถเดินทางมาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองแบบไม่ทรมาน ผ่านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีชื่อว่า “Dignitas” (ดิกนิตาส์)
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ดิกนิตาส์เป็นองค์กรที่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจตายด้วยตัวเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยทางจิต รวมถึงผู้สูงวัยที่ไม่อยากทรมาน หรืออยู่เป็นภาระของบุคคลอื่นในครอบครัว แต่เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักกฎหมายภายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การกำหนดวาระสุดท้ายของผู้ป่วย จึงต้องเป็น “การฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์” (Physician-Assisted Suicide: PAS) คือ มีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาบางชนิดที่ทำให้ถึงแก่ความตาย รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์บางอย่างให้เท่านั้น ส่วนผู้ดำเนินการทั้งหมดจะเป็นตัวผู้ป่วยเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยที่ติดต่อมายังดิกนิตาส์ทั้งหมดจะได้สิทธิ์ในการจบชีวิตตัวเอง เพราะดิกนิตาส์กำหนดเงื่อนไขในการรับพิจารณาให้เข้ารับบริการการุณยฆาตไว้ดังต่อไปนี้
ข้อกำหนดเบื้องต้นของผู้ต้องการจบชีวิตตนเองด้วยความช่วยเหลือของดิกนิตาส์
- ผู้ต้องการจบชีวิตตนเองต้องสมัครเป็นสมาชิกของดิกนิตาส์ก่อน ซึ่งในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น ผู้สมัครจะต้องมีอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว และจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ค่าสมัครสมาชิกอยู่ที่ปีละ 80 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 2,600 บาท) หากสมัครสมาชิกแบบตลอดชีพจะเสียค่าสมัครสมาชิกปีละ 200 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 6,500 บาท) ผู้เป็นสมาชิกของดิกนิตาส์จะได้รับคำปรึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวาระสุดท้าย เคยมีกรณีผู้ป่วยโรคเอดส์ชายวัย 34 ปีที่ตั้งใจจะฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่เมื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และแพทย์ เขาก็เปลี่ยนใจไปพบจิตแพทย์แทน และพบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า จึงได้ทำการรักษาและล้มเลิกความคิดที่จะจบชีวิตตนเอง)
- ผู้ต้องการจบชีวิตตนเองต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างครบถ้วน และตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเองได้
- ผู้ต้องการจบชีวิตตนเองต้องยังเคลื่อนไหวร่างกายได้ อย่างน้อยที่สุดคือสามารถรับยาเข้าสู่ร่างกายด้วยตัวเอง
ผู้ที่จะรับยาเพื่อจบชีวิตตัวเองจากดิกนิตาส์ได้ จะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้
- เป็นโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้อย่างแน่นอน
- เป็นผู้ได้รับความเจ็บปวดจากภาวะทุพพลภาพจนไม่สามารถทนได้
- เป็นผู้ได้รับความเจ็บปวดที่ไม่สามารถควบคุมได้ และไม่สามารถทนได้ (ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือไม่เคยพบสาเหตุความเจ็บปวดนี้มาก่อน และไม่มีวิธีใด ๆ ที่จะบรรเทาความเจ็บปวดได้เลย คุณภาพชีวิตก็ลดต่ำลงจากความเจ็บปวดนี้) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
ขั้นตอนการขอรับบริการการุณยฆาต
เมื่อสมัครเป็นสมาชิกดิกนิตาส์แล้ว และได้รับการตรวจสอบว่าร่างกายของผู้ร้องเข้าเงื่อนไขที่จะรับยาเพื่อการจบชีวิตตนเองได้ ผู้ร้องจะต้องส่งเอกสารเพื่อขอให้ดิกนิตาส์ดำเนินเรื่องในการจัดเตรียมสถานที่ และเตรียมความพร้อมสำหรับการทำจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยต้องส่งเอกสารอย่างเป็นทางการ ดังนี้
- จดหมายส่วนตัวของผู้ขอจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ที่มีการลงนามและระบุวันที่อย่างชัดเจนถึงดิกนิตาส์ โดยในจดหมายจะต้องระบุเหตุผลประกอบ อธิบายสภาพร่างกายในปัจจุบันโดยละเอียด และผลกระทบที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน
- จดหมายเพื่ออธิบายคร่าวๆ ถึงชีวิตในวัยเด็กของผู้ต้องการรับบริการ (บอกเล่าชีวิตในโรงเรียน สถานการณ์ในครอบครัว และเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต) นอกจากนี้ควรมีจดหมายรับรองจากบุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่ให้การสนับสนุนให้ผู้ร้องดำเนินเรื่องการจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ รวมถึงรายละเอียดของผู้ที่จะเดินทางมาสวิตเซอร์แลนด์กับผู้ร้อง (ถ้ามี) โดยร่างชีวประวัตินี้จะถูกนำไปประกอบการพิจารณาของแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ด้วย
- รายงานทางการแพทย์ฉบับล่าสุด (อายุไม่เกิน 3-4 เดือนนับตั้งแต่วันที่ส่งเอกสาร) จำนวน 1 ฉบับหรือมากกว่านั้น พร้อมรายงานการแพทย์ฉบับเก่า 2-3 ฉบับ โดยในรายงานต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษา การวินิจฉัย คำแนะนำในการรักษา การวินิจฉัยโรคตามจริง รายงานทุกฉบับต้องสามารถอ่านได้อย่างชัดเจน และจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือเยอรมนีเท่านั้น รายงานทางการแพทย์จัดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเอกสารทั้งหมด และเป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อระยะเวลาในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาเร็วที่สุดที่ทีมแพทย์จะพิจารณาคำร้องอยู่ที่ 3 เดือนขึ้นไป แม้ว่าจะมีเอกสารครบก็ตาม
เมื่อดิกนิตาส์ได้รับเอกสารทั้งหมดแล้ว ก็จะมีการส่งเอกสารต่อไปยังแพทย์ที่ทำงานร่วมกับดิกนิตาส์ เพื่อทำการประเมินและพิจารณา หากแพทย์เห็นด้วยที่จะให้การช่วยเหลือให้ผู้ร้องได้สิทธิ์จบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ซึ่งในที่นี้จะใช้คำเรียกแทนว่า "ไฟเขียวชั่วคราว" ดิกนิตาส์จะแจ้งให้ผู้ร้องทราบ เพื่อที่จะมีการนัดหมายเพื่อพูดคุยรายละเอียดต่างๆ มากขึ้น แต่ไฟเขียวชั่วคราวนี้เป็นเพียงการยินยอมเบื้องต้น ที่ได้จากการพิจารณาเอกสารที่ส่งมาเท่านั้น จะยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ แน่นอน จนกว่าจะมีการพูดคุยรายละเอียดทั้งหมดระหว่างแพทย์กับผู้ขอรับบริการโดยตรง
ค่าใช้จ่ายในการจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์กับดิกนิตาส์
- เมื่อได้รับไฟเขียวชั่วคราวแล้ว ผู้ขอรับบริการจะต้องชำระเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนเงิน 4,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 126,000 บาท) สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคำร้อง อย่างไรก็ตาม การชำระเงินจำนวนนี้ไม่ได้รับประกันว่าผู้ขอรับบริการจะได้สิทธิ์จบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างแน่นอน จนกว่าจะได้มีการเดินทางไปพบปะกับแพทย์เพื่อพูดคุยรายละเอียดต่อไป
- เมื่อผู้ขอรับบริการเดินทางไปพบแพทย์เพื่อพูดคุยรายละเอียดแล้ว จะต้องเตรียมเงินอีก 1,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 32,000 บาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้จะชำระก็ต่อเมื่อแพทย์อนุญาตให้ผู้ขอรับบริการจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า “ไฟเขียวสุดท้าย” ได้
- ก่อนดำเนินการจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ผู้ขอรับบริการจะต้องชำระเงินอีก 2,500 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 77,000 บาท) เพื่อเป็นค่าดำเนินการเรื่องสถานที่และค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และยังต้องชำระเงินเพิ่มอีก 500 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 16,000 บาท) เป็นค่าจัดการศพภายหลังจากการเสียชีวิต โดยจะมีการออกเอกสารเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ ถ้าหากผู้ขอรับบริการต้องการให้มีการเผาศพและส่งอัฐิกลับไปยังครอบครัว จะมีค่าดำเนินการเพิ่มอีก 2,500 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 77,000 บาท)
สรุปค่าใช้จ่ายเบื้องต้นทั้งหมด หากผู้ขอรับบริการต้องการทำจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยไม่ต้องมีการส่งอัฐิกลับไปยังครอบครัว จะคิดเป็นเงิน 8,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 250,000 บาท) แต่ถ้าหากต้องการให้ทำพิธีศพ พร้อมส่งอัฐิกลับไปยังครอบครัว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด 10,500 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 340,000 บาท)
ขั้นตอนในการจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์กับดิกนิตาส์
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หากผู้ขอรับบริการจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ จะสามารถดำเนินการภายในบ้านได้เลย แต่สำหรับชาวต่างประเทศที่ได้รับไฟเขียวชั่วคราวแล้ว จะมีต้องมีการหารือและตกลงร่วมกันอีกครั้ง โดยดิกนิตาส์จะเป็นฝ่ายจัดการสถานที่ให้ หลังจากนั้นแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นผู้เขียนใบสั่งยาที่ทำให้เสียชีวิต ขั้นตอนนี้เรียกได้อีกอย่างว่า "ไฟเขียวสุดท้าย"
โดยจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้ขอรับบริการ รวมถึงพี่เลี้ยง หรือญาติของผู้ร้อง และเจ้าหน้าที่ของดิกนิตาส์มากที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมีการบันทึกวิดีโอ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นพยานด้วย
ผู้ขอรับบริการจะได้รับยาแก้อาเจียน จากนั้นจะได้รับตัวยาชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจใช้วิธีดื่ม รับทางสายยาง หรือฉีดเข้าเส้นเลือด โดยผู้มีความประสงค์จะจบชีวิตตนเองจะต้องลงมือดำเนินการต่างๆ ด้วยตัวเองทุกขั้นตอน (หากไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เองจะถือว่าการขอจบชีวิตตนเองภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ล้มเหลว เพราะดิกนิตาส์จะไม่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น)
หลังจากได้รับยาแล้ว ผู้ขอรับบริการจะหลับสนิทภายในเวลา 2-5 นาที ก่อนจะเข้าสู่อาการโคม่า (Deep Coma) หลังจากนั้นตัวยาจะไปกดศูนย์ทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายเป็นอัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด โดยดิกนิตาส์ได้ยืนยันว่า กระบวนการนี้ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่สร้างความเจ็บปวด
ที่มาของข้อมูล
Angela Morrow, What Is Euthanasia? (https://www.verywellhealth.com/what-is-euthanasia-1132209 ) 12 October 2018
Dignitas, Brochure of DIGNITAS (http://www.dignitas.ch/index.php?option=com_content&view=article&id=22&Itemid=5&lang=en )
New Health Guide, Legality of Euthanasia in Different Countries and States (https://www.newhealthguide.org/Where-Is-Euthanasia-Legal.html)
Penney Lewis, Assisted dying: What does the law in different countries say? ( https://www.bbc.com/news/world-34445715 ), 6 October 2015
National Geography, สิ่งที่ควรรู้หากอยากจบชีวิตในสวิสเซอร์แลนด์ ( https://ngthai.com/cultures/10513/tip-to-know-about-assisted-suicide-in-switzerland/ ) 11 พฤษภาคม 2018
อรรัมภา ไวยมุกข์, อชิรญา ภู่พงศกร, ประลอง ศิริภูล และอารยา เนื่องจำนงค์, การุณยฆาตเชิงรุกโดยสมัครใจกับความรับผิดทางอาญา: ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายไทย - เยอรมัน ( http://www.polsci-law.buu.ac.th/journal/document/9-4/1.pdf )