ปัญหาการถูกสุนัขกัดมีให้พบเห็นอยู่มากและเป็นตัวการที่นำไปสู่การติดเชื้อต่างๆที่เกี่ยวข้องได้ เราจึงควรศึกษาวิธีการปฏิบัติตนเมื่อถูกสุนัขกัดไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาได้อย่างทันท่วงที
ขั้นตอนการปฏิบัติตนเมื่อถูกสุนัขกัด
ไม่ว่าสาเหตุของการโจมตีจากเจ้าตูบคืออะไรและแผลที่ถูกกัดหรือข่วนจะมีขนาดเล็ก-ใหญ่แค่ไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องตั้งสติ และเริ่มปฏิบัติตนตาม 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ขั้นตอนที่ 1: ปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกกัด
ส่วนใหญ่แล้วเราไม่อาจทราบได้ทันทีว่าสุนัขที่กัดหรือข่วนเรามีการติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติเลยคือการปฐมพยาบาลตนเองหรือผู้ที่ถูกกัดเพื่อทำความสะอาดบาดแผลไว้ก่อน ดังนี้
-
ชำระล้างบาดแผล รวมไปถึงอวัยวะส่วนที่สัมผัสกับน้ำลายหรือกรงเล็บสุนัขด้วยน้ำสะอาดและสบู่โดยการถูเบาๆเท่านั้น หากแผลลึกให้ล้างจนถึงก้นแผล
(ในกรณีที่น้ำลายสุนัขเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาเท่านั้น แต่ล้างหลายๆครั้ง)
- ฆ่าเชื้อที่บริเวณบาดแผล โดยใช้สำลีสะอาดชุบแอลกอฮอล์ หรือโพวิโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือฮิบิเทนในน้ำ จากนั้นเช็ดรอบๆบาดแผลที่ถูดกัดและถูกข่วน ระวังอย่าให้แผลช้ำ และไม่ต้องทาครีมใดๆเพิ่มเติม
- พบแพทย์ เพื่อทำการปกปิดบาดแผลที่มีขนาดกว้างหรือลึกมาก โดยแพทย์จะทำการเย็บแผลอย่างหลวมๆเท่านั้น หากบาดแผลมีขนาดเล็ก ควรรอประมาณ 2-3 วันก่อนที่จะรับการเย็บแผล
ขั้นตอนที่ 2: สังเกตลักษณะและอาการของสุนัข
หลังจากที่ได้ทำความสะอาดบาดแผลเบื้องต้นไปแล้ว ให้ทำการเฝ้าสังเกตลักษณะและอาการของสุนัขว่ามีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ภายใน 10 วัน โดยสุนัขที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้านั้นอาจมีอาการแบบดุร้าย หรือแบบเซื่องซึม แต่ส่วนใหญ่คือมีอาการอ้าปากตลอดเวลา มีลิ้นห้อย ลุก-นั่งและเดินวนไป-มาบ่อยครั้ง ในกรณีที่ติดเชื้อขั้นรุนแรง สุนัขมักมีอาการอ่อนแรงและเดินโซเซก่อนที่จะเสียชีวิตลงในที่สุด
แนะนำให้พบแพทย์ทันทีและขอรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ หากสุนัขที่กัดถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าดังต่อไปนี้:
- สุนัขที่กัดเป็นสุนัขจรจัด
- สุนัขที่กัดเป็นสุนัขบ้านที่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่วันที่กัดหรือภายใน 10 วันหลังจากวันที่กัด
- สุนัขที่กัดยังไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ไม่ได้รับวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง
- สุนัขที่กัดยังไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ผู้ที่ถูกกัดรู้สึกปวดแผลมากและมีไข้ก่อนที่จะครบ 10 วัน
หากสุนัขที่กัดเป็นสุนัขบ้านที่ได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดและไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าภายใน 10 วัน ผู้ที่ถูกกัดไม่จำเป็นต้องขอรับวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้า (อ่านเพิ่มเติมในขั้นตอนที่ 3)
ขั้นตอนที่ 3: รับวัคซีน
วัคซีนที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วนคือ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ และ วัคซีนป้อนกันบาดทะยัก
หากสุนัขที่กัดถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคสุนัขบ้าตามที่กล่าวไว้ในขั้นตอนที่ 2 ผู้ป่วยควรขอรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักและวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที แต่ถ้าสุนัขที่กัดไม่มีการติดเชื้อของโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยจะได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักเพียงอย่างเดียว
ในกรณีที่ต้องรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ตามตารางนัดหมายทุกครั้งเพื่อรับวัคซีนให้ครบถ้วน แพทย์อาจจ่ายยาแก้อักเสบและยาแก้ปวดให้ด้วย