โรคเท้าปุกหรือโรคตีนปุก เป็นความพิการแต่กำเนิดที่ทำให้เท้าของเด็กชี้เข้าด้านในแทนที่จะชี้ตรงไปด้านหน้าเหมือนคนปกติ โดยทั่วไปมักจะสังเกตเห็นอย่างชัดเจนหลังจากคลอด แต่ในบางกรณี แพทย์อาจบอกได้ว่าทารกเป็นโรคเท้าปุกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ในช่วงการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์
โดยทั่วไป โรคดังกล่าวจะเป็นในเท้าเพียงข้างเดียว แต่ก็มีบางกรณีที่เด็กจะเป็นโรคเท้าปุกทั้งสองข้าง โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการยืดเหยียดและการใส่เฝือก แต่ในบางกรณีที่โรคเท้าปุกมีความรุนแรง ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อทำการรักษาให้เป็นปกติ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของโรคเท้าปุก
หากบุตรของคุณเป็นโรคเท้าปุก เท้าของพวกเขาจะหักงอเข้าด้านในอย่างชัดเจน ทำให้ส้นเท้าของพวกเขาหันออกมาอยู่ด้านนอกของเท้า ในขณะที่นิ้วเท้าของพวกเขาชี้เข้าสู่เท้าอีกข้างหนึ่ง ในกรณีที่รุนแรงมาก เท้าของพวกเขาอาจเหมือนหักงอกลับด้านเลยก็เป็นได้
เด็กที่เป็นโรคเท้าปุกจะเดินโยกเยกไปมา โดยพวกเขามักจะใช้สันเท้าด้านนอกของข้างที่ผิดปกติในการเดินเพื่อรักษาสมดุลขณะเดิน แม้ลักษณะของเท้าปุกจะดูไม่สบายตัว แต่ความผิดปกติดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความรำคาญให้กับเด็กเล็กอย่างที่คิด
สาเหตุของการเกิดโรคเท้าปุก
ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคเท้าปุก แต่มีหลักฐานว่าการมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเท้าปุก จะเพิ่มโอกาสที่เด็กจะเกิดมามีเท้าปุกเช่นกัน
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่และดื่มสุราของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ ก็มีแนวโน้มจะทำให้ลูกเป็นโรคเท้าปุกในเท้าหนึ่งข้าง หรือทั้งสองข้าง
บางกรณีอาจพบว่าโรคเท้าปุกเป็นอาการหนึ่งของความผิดปกติของระบบโครงสร้างแต่กำเนิด เช่น โรคบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina Bifida) เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเท้าปุก
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเท้าปุกได้ด้วยการตรวจสอบเท้าของทารกแรกเกิด และยังสามารถวินิจฉัยโรคเท้าปุกของทารกในครรภ์ได้โดยการใช้อัลตราซาวด์ แต่ไม่ใช่แค่โรคเท้าปุกเพียงโรคเดียวที่ทำให้เท้าของทารกหันเข้าด้านใน ความผิดปกติอื่นๆ ที่มีผลต่อกระดูกขาหรือกระดูกเท้า อาจทำให้เท้าของพวกเขาผิดปกติได้เช่นกัน
การรักษาโรคเท้าปุก
สองวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาโรคเท้าปุก ได้แก่
- การดัดและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ : ก่อนที่ทารกจะเริ่มหัดเดิน แพทย์จะสอนวิธีดัดข้อและยืดเหยียดเท้าของเด็กให้เข้าที่ ซึ่งคุณจะต้องทำการดัดหรือยืดเท้าทุกวันเพื่อกระตุ้นให้เท้าของทารกกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติ หลังจากการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะแนะนำให้ใส่เฝือกอ่อนหรือเครื่องมือค้ำยันตอนกลางคืนต่อไปอีกเป็นเวลา 3 ปีเพื่อให้คงสภาพเท้าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยทั่วไปแล้วการดัดและยืดเหยียดกล้ามเนื้อมีด้วยกัน 2 วิธี คือ
- Ponseti Method : จะมีการใส่เฝือกบนเท้าที่ผิดปกติหลังจากมีการดัดยืดให้เข้าที่แล้ว แพทย์จะทำการเปลี่ยนเฝือกทุก 2-3 สัปดาห์ หรือในบางกรณีก็อาจทำการเปลี่ยนเฝือกทุกสัปดาห์หรือทุก 2-3 วัน วิธีนี้จะทำซ้ำจนกว่าเท้าของทารกจะหายจากอาการเท้าปุก โดยยิ่งเริ่มทำหลังคลอดเร็วเท่าใด ผลลัพธ์ก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น
- French Method : จะมีการใช้เทปกาวทางการแพทย์เพื่อดึงรั้งบริเวณเท้าแทนที่จะมีการใช้เฝือก ซึ่งแพทย์อาจจะทำการรักษาซ้ำๆ ต่อเนื่องจนกว่าลูกของคุณจะมีอายุ 6 เดือน
- การผ่าตัด : หากโรคเท้าปุกของลูกคุณไม่ตอบสนองด้วยการดัดหรือยืดเหยียด หรือหากมีอาการรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องด้วยการผ่าตัด การผ่าตัดจะทำเพื่อแก้ไขตำแหน่งของโครงสร้างต่างๆ เพื่อจัดตำแหน่งความสัมพันธ์ให้ถูกต้องและรักษาอาการเท้าปุก ได้แก่
- เอ็นยืดกระดูก
- เอ็นยืดกล้ามเนื้อ
- กระดูก
- ข้อต่อ
การป้องกันโรคเท้าปุก
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคเท้าปุก จึงไม่มีวิธีป้องกันโรคดังกล่าวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คุณสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเท้าปุกในทารกได้ โดยการไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราในระหว่างตั้งครรภ์
ที่มาของข้อมูล
April Kahn, What causes clubfoot? (https://www.healthline.com/symptom/clubfoot), February 22, 2016.