กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

พ้ฒนาการของทารกแรกเกิดจนอายุ 3 ปี

พัฒนาการเด็กเป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อมรอบตัวของเด็ก ครอบครัว ชุมชน และสังคม
เผยแพร่ครั้งแรก 17 เม.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
พ้ฒนาการของทารกแรกเกิดจนอายุ 3 ปี

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เด็กจะมีความสามารถในด้านต่างๆ ไปตามขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงตามวัย ลักษณะเป็นระบบ มีแบบแผน มีทิศทางชัดเจนและมีความต่อเนื่องตลอดชีวิตตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
  • พัฒนาการเด็กเป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อมรอบตัวของเด็ก
  • คุณพ่อ คุณแม่ และผู้เลี้ยง เป็นบุคคลสำคัญที่จะพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพเต็มที่ ตามความพร้อมและความสามารถที่มีของแต่ละครอบครัว
  • การติดตามพัฒนาการเด็กในแต่ละด้าน จะพิจารณาตามช่วงอายุของเด็ก โดยพิจารณาเป็นกลุ่มของทักษะที่เด็กจะทำได้ในช่วงอายุนั้นๆ
  • เด็กแต่ละคนจะมีความเร็วและช้าในการทำทักษะต่างๆ แตกต่างกันได้ หากคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ล้าช้า ไม่สมวัย แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพเด็กที่นี่)

วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต เป็นพื้นฐานในการพัฒนาในช่วงวัยต่าง หากมีการเจริญเติบโตสมวัยทั้งทางร่างกาย พัฒนาการ สติปัญญา สังคมและอารมณ์ เด็กก็สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตได้

คุณพ่อ คุณแม่ และผู้เลี้ยง เป็นบุคคลสำคัญที่จะพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพเต็มที่ ตามความพร้อมและความสามารถที่มีของแต่ละครอบครัว

พัฒนาการเด็ก คืออะไร

เด็กจะมีความสามารถในด้านต่างๆ ไปตามขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงตามวัย ลักษณะเป็นระบบ มีแบบแผน มีทิศทางชัดเจนและมีความต่อเนื่องตลอดชีวิตตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

พัฒนาการเด็กเป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อมรอบตัวของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน หรือสังคม

พัฒนาการเด็กประกอบไปด้วยด้านใดบ้าง

มีการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและสามารถจำแนกออกมาเพื่อความเข้าใจได้ดังนี้

1. พัฒนาการด้านร่างกาย (Physical หรือ Psychomotor development)

ความสามารถในการทรงตัวและเคลื่อนไหว แบ่งออกเป็น

  • การทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross motor)
  • การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการทำงานประสานระหว่างมือและตา (Fine motor)

2. พัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive development)

ความสามารถในการเรียนรู้ เข้าใจ และมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัว มีความรู้คิด มีเหตุผลและมีความสามารถในการจัดการปัญหาได้ โดยจะแสดงออกผ่านทาง

    • ความสามารถทางการใช้ภาษา (Language and communication development)
    • การใช้ตาและมือทำงานประสานกันเพื่อแก้ไขปัญหา (Fine motor and adaptive development)

3. พัฒนาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ (Emotional development)

ความสามารถในการแสดงอออก แยกแยะ ควบคุมอารมณ์แสดงออกอย่างเหมาะสม และการสร้างความนับถือตนเอง (Self-esteem)

4. พัฒนาการด้านสังคม (Social development)

ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น มีทักษะการปรับตัวในสังคม และทักษะการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน (Self help)

5. พัฒนาการด้านจิตวิญญาณ (Spiritual development)

ความสามารถในการรู้จักคุณค่าชีวิตของตนเองและผู้อื่น เข้าใจและเลือกหนทางชีวิตในรูปแบบที่ชอบและสร้างสรรค์

พัฒนาการตามวัยของเด็กในแต่ละด้าน

การติดตามพัฒนาการเด็กในแต่ละด้านจะพิจารณาตามช่วงอายุของเด็ก (Developmental milestone) โดยพิจารณาเป็นกลุ่มของทักษะที่เด็กจะทำได้ในช่วงอายุนั้นๆ ดังนี้

อายุ 1 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) เริ่มชันคอ ผงกศีรษะ หันหน้าซ้ายขวา
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) กำมือแน่น จ้องมองตามของไม่เกินกึ่งกลางลำตัว
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) ทำเสียงในลำคอ
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) มองจ้องหน้า

อายุ 2 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) ชันคอได้ 45 องศา ยกศีรษะเงยหน้าขึ้นได้เมื่ออยู่ในท่านั่ง
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) กำมือหลวม ๆ จ้องมองตามของข้ามเส้นกึ่งกลางลำตัว
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) หันหาเสียง ฟังเสียงคุย
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) สบตา ยิ้มแสดงความสนใจ

อายุ 4 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) ชันคอได้ 90 องศา ใช้แขนยันยกตัวชูขึ้น เมื่ออยู่ท่านั่งสามารถยกศีรษะเงยหน้าขึ้นได้
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) มองตาม 180 องศา มือสองข้างจับกันตรงกลาง คว้าของใกล้มือได้
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) ส่งเสียงอ้อแอ้ โต้ตอบหัวเราะ
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) ยิ้มตอบ ยิ้มทัก แสดงท่าทีดีใจเวลาเห็นคนเลี้ยงหรืออาหาร

อายุ 6 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) คว่ำและหงายได้เอง นั่งเองได้ชั่วครู่ เริ่มลงน้ำหนักที่เท้าทั้งสองได้ในท่ายืน
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) คว้าของด้วยฝ่ามือ หยิบของมือเดียวและเปลี่ยนมือได้
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) หันหาเสียงเรียก ส่งเสียง เล่นน้ำลาย
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) รู้จักคนแปลกหน้า กินอาหารบดละเอียดจากช้อนได้

อายุ 9 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) นั่งได้มั่นคง คลาน เกาะยืน
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบของได้ เปิดหาของที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าได้ มองตามของที่ตกจากมือได้
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) ฟังรู้ภาษา เข้าใจสีหน้า ออกเสียงพยัญชนะได้หลายเสียง เรียก “พ่อ” “แม่” แต่ยังไม่เฉพาะเจาะจง
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) เล่นจ๊ะเอ๋ โบกมือ บ๊ายบายได้ ใช้มือหยิบอาหารกินเองได้ ร้องตามเมื่อแม่ออกจากห้อง

อายุ 12 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) เกาะเดิน ยืนเองได้ชั่วครู่
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบของชิ้นเล็กได้ หยิบของใส่ถ้วยได้
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) เรียก “พ่อ” “แม่” ได้ พูดคำโดดที่มีความหมาย 1 คำ ทำตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบได้
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) ตบมือ เลียนแบบท่าทาง ร่วมมือเวลาแต่งตัว

อายุ 15 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) เดินเอง
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) วางก้อนไม้ซ้อนกัน 2 ชั้น
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) พูดคำโดดที่มีความหมายได้ ชี้อวัยวะบนใบหน้าตามคำบอก
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) ใช้ช้อนตักอาหารได้แต่ยังหกเลอะเทอะ เล่นลูกบอลกลิ้งไปมากับผู้ใหญ่ได้

อายุ 18 เดือน

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) เดินคล่อง วิ่ง ยืนล้มลงเก็บของแล้วลุกขึ้นเองได้ จูงมือเดียวขึ้นบันไดได้
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) วางก้อนไม้ซ้อนกัน 3 ชั้นได้ เริ่มขีดเส้นยุ่ง ๆ
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) พูดคำโดดที่มีความหมายได้หลายคำ ชี้รูปภาพตามคำบอกได้ ทำตามคำสั่งที่ไม่มีท่าทางประกอบได้
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) ถือถ้วยน้ำดื่มเองได้

อายุ 2 ปี

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) เดินขึ้นบันได เตะลูกบอล กระโดดสองขา
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) วางก้อนไม้ซ้อนกัน 6 ชั้นได้ ขีดเส้นตรงและโค้งเป็นวง ๆ ได้ เปิดหนังสือทีละหน้า
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) พูดคำ 2-3 คำต่อกันอย่างมีความหมาย บอกชื่อของคุ้นเคยและบุคคลคุ้นเคยได้
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) สนใจเด็กคนอื่น ใช้ช้อนตักอาหารเองได้ บอกเวลาจะถ่ายอุจจาระเองได้

อายุ 3 ปี

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหว (Gross motor) ขึ้นบันไดสลับขา ขี่สามล้อได้
  • การใช้ตาและมือ (Fine motor) วางก้อนไม้ซ้อนกัน 8 ชั้นได้ วาดวงกลมตามแบบได้
  • ภาษาและการสื่อสาร (Language and communication) พูดเป็นประโยคสั้น ๆ ให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ประมาณ 50 %
  • สังคมและการช่วยเหลือตนเอง (Social and self-help skills) ถอดรองเท้า ใส่เสื้อเองได้ รู้เพศตนเอง เล่นกับคนอื่น ควบคุมการถ่ายอุจจาระได้

เด็กแต่ละคนจะมีความเร็วและช้าในการทำทักษะต่างๆ แตกต่างกันได้ หากคุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ล้าช้า ไม่สมวัย หรือไม่เป็นรูปแบบแบบแผนที่ชัดเจน แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม

ดูแพ็กเกจ ตรวจสุขภาพเด็ก เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, Is Your Baby on Track
Nelson, Textbook of Pediatrics.
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, Guideline in Child Health Supervision.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิธีการจัดการกับการบกพร่องทางการเรียนรู้ในที่ทำงาน
วิธีการจัดการกับการบกพร่องทางการเรียนรู้ในที่ทำงาน

การวางแผนและนโยบายที่เหมาะสมเป็นกุญแจในการทำให้สำเร็จ

อ่านเพิ่ม
คำแนะนำในการบริหารจัดการเวลาสำหรับเด็กนักเรียนที่ทำงาน
คำแนะนำในการบริหารจัดการเวลาสำหรับเด็กนักเรียนที่ทำงาน

วิธีการและคำแนะนำให้คุณสามารถใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่ม
อาการท้องผูกในเด็ก
อาการท้องผูกในเด็ก

ความรู้พื้นฐานทางกุมารเวช

อ่านเพิ่ม