พิมเสน (Borneol flakes)

รู้จักพิมเสนแท้ๆ และพิมเสนสังเคราะห์ พร้อมชี้ชัดความแตกต่างระหว่างพิมเสนกับการบูร ประโยชน์ และโทษที่อาจเกิดขึ้นได้
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
พิมเสน (Borneol flakes)

ยาดม พิมเสนน้ำ เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี บางคนอาจมีติดกระเป๋าเป็นประจำเพื่อเอาไว้สูดดม ช่วยให้สดชื่น แก้อาการวิงเวียนศีรษะ

หลายคนใช้พิมเสนมาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าทำมาจากอะไร เป็นพืชหรือสารสังเคราะห์กันแน่ หรืออาจมีความสงสัยว่าพิมเสนแตกต่างจากการบูรหรือไม่ อย่างไร มาไขทุกคำตอบเกี่ยวกับพิมเสน รวมถึงรู้สรรพคุณของพิมเสนได้ที่นี่

พิมเสน คืออะไร เหมือนกับการบูรหรือไม่?

พิมเสนและการบูร ถือเป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มธาตุวัตถุ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สมุนไพรทั้งสองมีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือกลิ่นหอมเย็น ช่วยให้ผ่อนคลาย กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง ช่วยดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี

นิยมนำมาทำเป็นยาดม ยาหม่องน้ำ สูดดมแก้อาการวิงเวียนศรีษะ อาการหวัดคัดจมูกได้

หากสังเกตลักษณะภายนอก จะเห็นว่ามีลักษณะที่คล้ายกันคือ เป็นเม็ดสีขาว

ความแตกต่างของพิมเสนกับการบูร ได้แก่ ลักษณะเกล็ดของพิมเสนจะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น หนากว่าการบูร หากเป็นพิมเสนที่บริสุทธิ์จะเป็นแผ่นผลึกหกเหลี่ยม ได้มาจากการกลั่นเนื้อไม้จากต้นพิมเสน วางทิ้งไว้จะระเหิด (เปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นไอ) ช้ากว่าการบูร

แต่ปัจจุบันนิยมใช้พิมเสนสังเคราะห์หรือพิมเสนเทียมมากกว่า เนื่องจากพิมเสนแท้ราคาค่อนข้างสูง

พิมเสนเทียมได้จากการนำสารสกัดจากต้นการบูรมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาตร์นั่นเอง

สรรพคุณของพิมเสน ใช้เป็นยาภายนอกผสมกับขี้ผึ้ง แก้อาการปวดตามกล้ามเนื้อ ข้อพลิก เคล็ดขัดยอก บวมหรือฟกช้ำ แก้พิษจากแมลงสัตวืกัดต่อยก็ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในตำรับยาไทยยังใช้การบูรเป็นส่วนประกอบในตำรับกลุ่มยาหอม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เนื่องจากมีสรรพคุณขับลม บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

ส่วนการบูร จัดอยู่ในพืชวงศ์เดียวกับอบเชย ซึ่งเกิดจากการสกัดเนื้อไม้ ราก และแก่นของลำต้น จนได้เป็นผลึกการบูรออกมา

มีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีขาวขุ่น ขนาดเล็ก ละเอียดกว่าพิมเสน อาจจับกันเป็นก้อนหรือร่วนเป็นผง ระเหิดง่าย เป็นยารสร้อน กลิ่นหอมเย็น

สรรพคุณทางยาคล้ายพิมเสน คือ ใช้ทาภายนอกเป็นยาแก้ปวด เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาหอม ยาขับลม แต่มีข้อแตกต่างคือ กาารบูรมีฤทธิ์เป็นยาชาอ่อนๆ สามารถใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ได้ด้วย

พิมเสนกับการแพทย์อายุรเวทอินเดีย

จากบันทึกการการรักษาของแพทย์พื้นบ้านประเทศอินเดีย พบว่ามีการใช้ยางเหนียวของพิมเสน (Gum rasin) ผสมกับน้ำผึ้ง รับประทานเป็นยาคลายกลามเนื้อเรียบ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือใช้เป็นยาละลายเสมหะ ขับเสมหะ ในผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง หรือใช้เป็นยาต้านการอักเสบได้อีกด้วย

นอกจากจะเป็นยาใช้ภายในแล้ว สามารถนำพิมเสนกับน้ำผึ้งผสมกันทาแก้อาการปวดภายนอกได้ด้วย

สามารถนำพิมเสนไปผสมกับพืชชนิดอื่น (ไม่ระบุว่าเป็นพืชชนิดใด) แก้อาการบาดเจ็บและติดเชื้อบริเวณดวงตา แก้อาการปวดศีรษะธรรมดาและปวดแบบไมเกรนได้

นอกจากนี้ยังถือว่าพิมเสนเป็นยาบำรุงไต ช่วยขับปัสสาวะ และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคในลำไส้ใหญ่อย่างเชื้อสตาฟิโลคอกคัส (Staphelococcus) ที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง และสามารถฆ่าเชื้อราบนผิวหนังได้

พิมเสนยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจและยาบำรุงร่างกายทั่วไป ซึ่งคล้ายกับการใช้ในตำรับยาแพทย์แผนไทย ที่นิยมใช้พิมเสนเป็นส่วนประกอบหนึ่งในตำรับยาหอม

พิมเสนกับกาารแพทย์แผนจีน

นิยมใช้เป็นยารักษาอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น กระตุ้นน้ำย่อย แก้อาการท้องอืด ปวดเกร็งช่องท้อง

ใช้เป็นผสมในตำรายาจีน ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อีกทั้งกลิ่นพิมเสนช่วยคลายความวิตกกังวล แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า แก้อาการหลอดลมอักเสบ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ

มีการใช้พิมเสนทาภายนอกแก้อาการปวดเคล็ด ขัดยอก ลดอาการบวมบริเวณข้อและกล้ามเนื้อ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่พบว่าในพิมเสนนั้นมีสารที่ชื่อว่าเทอร์พีน (Terpene) ช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบของข้อได้

นอกจากนี้พิมเสนยังใช้เป็นยาไล่แมลงได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ไม่ควรซื้อพิมเสนมาผสมเป็นยาเพื่อรับประทานแก้อาการต่างๆ ด้วยตัวเอง เนื่องจากปริมาณที่ใช้อาจทำให้เกิดพิษในร่างกายได้ และในปัจจุบันมีการใช้พิมเสนเทียม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้สารเคมีในผู้ป่วยบางราย

ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ และเลือกซื้อยาที่ได้การรับรองจากองค์การอาหารและยาเท่านั้น

ข้อควรระวังในการใช้พิมเสน

การใช้พิมเสนทั้งยาภายในและภายนอก ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ในเด็กเล็กและสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ ในปาก และลำคอ ทำให้เกิดโรคโพรงจมูกอักเสบ เป็นพิษต่อทางเดินอาหาร ไต สมอง และอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้

พิมเสนแต่ละรูปแบบมีข้อควรระวังดังนี้

  • พิมเสนรูปแบบยาดม ควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดยาดมร่วมกับผู้อื่น เพราะเสี่ยงต่อการติดโรคทางเดินหายใจ
  • พิมเสนน้ำ วิธีใช้ที่ถูกต้องคือหยดลงบนผ้าเช็ดหน้าแล้วสูดไอระยะห่างๆ ไม่ควรนำมาดมใกล้จมูกมากเกินไป หากเป็นชนิดทาควรทดสอบอาการแพ้บริเวณผิวท้องแขนก่อนทุกครั้ง ลดความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ที่ผิวบอบบาง

พิมเสนทั้บแบบยาดม ยาหม่อง หรือพิมเสนน้ำ ไม่ควรใช้ติดต่อเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการเสพติด และยังทำให้เยื่อระบบทางเดินหายใจอักเสบได้

เนื่องจากการสัมผัสกลิ่นที่มีความเข้มข้นบ่อย ทำให้ประสาทรับกลิ่นในจมูกเสียหายได้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. พิมเสน (http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=93), 2553.
ยุวดี วงษ์กระจ่าง ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ยาดมมีอันตรายหรือไม่(https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/106/%8/), 15 กรกฎาคม 2555.
M. W. Jann. Borneol, A Bicyclic Monoterpene Alcohol, Reduces Nociceptive Behavior and Inflammatory Response in Mice (https://new.hindawi.com/journals/tswj/2013/808460/), 2013.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)