มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่เขตร้อน ปลูกและขึ้นง่ายมากจนทำให้หลายคนคิดว่าเป็นวัชพืช
แม้จะเป็นพันธุ์มะระเช่นเดียวกับมะระจีน แต่นอกจากขนาดที่เล็กกว่าแล้ว มะระขี้นกยังมีรสขมและมีสรรพคุณทางสมุนไพรมากกว่าด้วย มักถูกนำมาใช้เป็นอาหารและยาอย่างแพร่หลายทั้งในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา
ชื่อมะระขี้นกมีที่มาจากนกมักมาจิกกินทั้งผลและเมล็ดสีแดงข้างในของมะระพันธุ์นี้ ก่อนจะถ่ายมูลปนเมล็ดทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ หากเมล็ดได้ดินดีมีน้ำพอเหมาะก็จะงอกขึ้นมา และทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะตามที่ที่มันเกาะได้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะระขี้นก
มะระขี้นก (Bitter Gourd) จัดอยู่ในกลุ่มไม้เลื้อยเนื้ออ่อน มีลักษณะโดยรวมดังนี้
- ลำต้น เป็นเถาเลื้อย สีเขียวขนาดเล็ก รูปร่าง 4-5 เหลี่ยม มีขนขึ้นปกคลุม
- ใบ ขึ้นเรียงสลับกัน มีก้านใบยาวปลายใบแหลม ขอบใบเว้าเป็นรูปนิ้วมือ มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม
- ดอก เป็นดอกเดี่ยวแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน สีเหลือง รูปทรงกรวย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีโคนกลีบเชื่อมติดกัน
- ผล ขนาดเล็กทรงรี รูปร่างคล้ายกระสวยสั้น ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกออกเป็น 3 แฉก
- เมล็ด มีรูปร่างค่อนข้างกลม แบน และปลายแหลม ผลที่แก่เต็มที่จะมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง
สารอาหารของมะระขี้นก
มะระขี้นกถือเป็นหนึ่งในผักพื้นบ้านที่มีสารอาหารสูง โดยมะระขี้นกดิบ 1 ถ้วย (94 กรัม) มีสารอาหารดังนี้
- แคลอรี 20 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม
- ไฟเบอร์ 2 กรัม
- วิตามินซี 93% จากปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
- วิตามินเอ 44% จากปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
- โฟเลต 17% จากปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
- โพแทสเซียม 8% จากปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
- สังกะสี 5% จากปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
สรรพคุณของมะระขี้นก
มะระขี้นกถูกใช้ในแวดวงสมุนไพรโดยเฉพาะในประเทศอินเดียมานับพันปีแล้ว ในตำรับยาไทยโบราณยังได้บันทึกถึงการนำส่วนต่างๆ ของมะระขี้นกมาใช้เพื่อรักษาอาการเหล่านี้
- ไข้ที่เกิดจากการกระทบความร้อน
- ร้อนใน
- โรคบิด โรคบิดเฉียบพลัน โรคบิดปวดท้องถ่ายเป็นเมือก
- อาการถ่ายเป็นมูกเลือด
- แผลบวม
- ปวดฝี
- แผลสุนัขกัด
- ปวดฟัน
- ขับพยาธิ
- คัน เป็นหิด และโรคผิวหนังต่าง ๆ
- ปากเปื่อย ปากเป็นขุย ปากเป็นฝ้าขาวขุ่น
- บำรุงระดู
- ริดสีดวงทวาร
- แก้อาการเมาค้าง
ประโยชน์ของมะระขี้นกในงานวิจัย
ปัจจุบัน มีการงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้มะระขี้นกทางการแพทย์ โดยงานวิจัยจำนวนหนึ่งมีข้อสังเกตเกี่ยวกับสรรพคุณของมะระขี้นกไว้ดังนี้
1. ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ในระยะยาว
งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า พืชชนิดนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน และช่วยให้เนื้อเยื่อสามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยที่ยืนยันว่ามะระขี้นกมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดในร่างกายคนทั่วไปยังมีอยู่จำกัดในปัจจุบัน
2. ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
มีงานวิจัยพบว่า มะระขี้นกมีองค์ประกอบที่ช่วยยับยั้งการเติบโตและกระจายตัวของเซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ปอด โพรงจมูก และเต้านม แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการวิจัยในหลอดทดลองโดยใช้เพียงมะระขี้นกสกัดเข้มข้น จึงควรมีงานวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่มะระขี้นกในอาหารทั่วไปส่งผลต่อการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
จากการทดลองพบว่า ปริมาณมะระขี้นกสกัดที่มากขึ้นก็ยิ่งมีผลต่อการลดคอเลสเตอรอลได้มากขึ้นด้วย ช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แต่งานวิจัยเกี่ยวกับผลด้านนี้ยังเป็นการทดลองกับสัตว์เท่านั้น ยังขาดงานวิจัยที่ยืนยันผลต่อร่างกายมนุษย์
4. ช่วยลดน้ำหนัก
เนื่องจากมีแคลอรีต่ำ ไฟเบอร์สูง จากการวิจัยทั้งในสัตว์และมนุษย์พบว่า มะระขี้นกสกัดอาจช่วยเผาผลาญไขมันและลดน้ำหนักได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในด้านนี้ได้ใช้อาหารเสริมที่มีมะระขี้นกเข้มข้น จึงยังไม่แน่ชัดว่าการรับประทานมะระขี้นกในอาหารทั่วไปจะให้ผลเดียวกันกับสุขภาพ
5. บำรุงผิว
มะระขี้นกอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงมีวิตามินซี และโปรวิตามินเอ ที่มีส่วนสำคัญในการบำรุงผิวให้ดูสุขภาพดี เช่นเดียวกับผลด้านอื่นคือควรมีการวิจัยในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อยืนยันผลลัพธ์ที่ชัดเจน
น้ำมะระขี้นก ควรดื่มเมื่อใด?
น้ำมะระขี้นก เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น อาจใช้มะระขี้นกผสมกับน้ำเท่านั้น หรืออาจผสมกับน้ำใบเตย น้ำมะนาว แอปเปิ้ล เพื่อปรับรสขมให้อ่อนลง โดยควรดื่มตอนเช้าขณะท้องว่าง เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่
รสชาติตามธรรมชาติของมะระขี้นกอาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ได้ จึงควรเริ่มต้นด้วยการจิบในปริมาณน้อยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ
ข้อควรระวังในการรับประทาน
ถึงจะมีสรรพคุณมาก แต่การรับประทานมะระขี้นกก็มีข้อควรระวังเช่นกัน เช่น
- เลือกรับประทานมะระขี้นกที่มีผลสีเขียวสด ไม่เหี่ยว และยังไม่สุกเหลือง เพราะเมล็ดมะระขี้นกที่สุกแล้วจะมีพิษ ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร
- ไม่ควรรับประทานมากเกินไป โดยจำกัดไว้ที่ประมาณวันละ 1 ถ้วย (94 กรัม) ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องเสีย ระดับน้ำตาลตก โดยเฉพาะผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวานอยู่
- ควรกำจัดความขมก่อนรับประทาน เพราะสารอัลคาลอยด์ในความขมจะทำให้ตับทำงานหนักเกินไป
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ห้ามรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นมะระในรูปแบบใดก็ตาม เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือด มดลูกหดตัว และแท้งได้
ตัวอย่างเมนูจากมะระขี้นก
ถึงหน้าตาและรสชาติขมจัดจะทำให้หลายคนขยาด แต่ก็มีหลายเมนูที่สามารถนำมะระขี้นกไปรังสรรออกมาเป็นอาหารจานอร่อยได้มากกว่าแค่มะระผัดไข่หรือไข่เจียวมะระ
ก่อนอื่นต้องลดความขม ด้วยการขูดไส้และเมล็ดออก นำไปคลุกกับเกลือทิ้งไว้สัก 10 นาที แล้วล้างออกและลวกในน้ำเดือด จากนั้นจึงสามารถนำไปทำได้ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ที่เรามีตัวอย่างมาให้ลองเลือกกันดู
- แกงเผ็ดมะระขี้นก แกงเผ็ดแบบไทยๆ ที่ใส่มะระซอยลงไปด้วย ทำได้โดยผัดพริกแกงกับน้ำมัน ใส่น้ำเล็กน้อย ผัดให้หอม ใส่เนื้อสัตว์ลงไป รอจนเดือดแล้วใส่มะระ ก่อนปรุงรสตามชอบ
- มะระขี้นกผัดกะปิ เป็นผัดกะปิที่เพิ่มรสชาติของมะระเข้าไปให้มีมิติมากขึ้น โดยละลายกะปิกับน้ำพักไว้ ตั้งกระทะด้วยไฟกลางค่อนไปทางอ่อน ใส่น้ำมันเจียวกระเทียมและพริก ก่อนใส่กะปิลงผัดให้หอม ใส่กุ้งแห้งทอด ปรุงรสด้วยน้ำตาลทั้งสองชนิดแล้วจึงใส่มะระที่ซอยไว้ลงผัด ผัดกะปิจานนี้จะยิ่งช่วยให้รับประทานรสขมได้อร่อยกว่าเดิม
- Bharwan Karela หรือมะระอบยัดไส้ ชาวอินเดียนิยมรับประทานมะระขี้นกมาก และจานนี้ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่หั่นมะระเป็นแว่น ขูดไส้และเมล็ดออก หลังกำจัดความขมแล้วก็ใส่เครื่องเทศหรือเนื้อสัตว์ปรุงรสตามชอบ นำไปย่างหรืออบจนสุกก็ได้อาหารทานเล่นหนึ่งจานแล้ว
- ชามะระ นำมะระขี้นกที่หั่นเป็นชิ้นๆ และนำไปตากจนแห้งประมาณ 5 ผล ผสมกับใบชา 1 ช้อนโต๊ะและน้ำ 1 ลิตร ต้มด้วยกันจนน้ำเดือดและเปลี่ยนเป็นสีเข้ม ตักใส่แก้ว ควรดื่มขณะอุ่นๆ
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @HonestDocs และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android