นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป
เขียนโดย
นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป

Benign Paroxysmal Positional Vertigo (หินปูนในหูชั้นในเคลื่อน)

เผยแพร่ครั้งแรก 11 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

หลายคนกำลังสงสัยว่ามนุษย์มีหินปูนในหูด้วยหรือ คำตอบคือใช่ โดยปกติแล้วหินปูนในหูจะอยู่ในบริเวณหูชั้นในทั้งสองข้าง ทำหน้าที่ในการรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย โรคที่เกี่ยวกับหินปูนในหูที่พบเป็นกันได้บ่อยคือโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign paroxysmal positional vertigo) หรืออาจจะคุ้นหูกันในชื่อว่า BPPV โดยจากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 1.6% ของประชากรเฉลี่ยทั้งโลกในแต่ละปี และโรคนี้ยังเป็นสาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ถึง 20% อีกด้วย

หินปูนในหูคืออะไร?

หินปูนในหู (Otoconia) เป็นผลึก มีขนาดเล็ก ประกอบไปด้วยสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) หินปูนในหูอยู่บริเวณหูชั้นใน ในส่วนที่เรียกว่า แซกคูล (Saccule) และยูทริเคิล (Utricle) มีหน้าที่ทำให้มนุษย์สามารถรับรู้การเคลื่อนไหว รับรู้ความเร่งในแนวราบ และรับรู้ความเร่งในแนวดิ่งที่สัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ทำไมหินปูนในหูถึงเคลื่อนหรือหลุดได้?

หินปูนในหูวางตัวติดอยู่บนเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในหูชั้นใน เมื่อหลุดออกจะเข้าไปอยู่ในท่อเซมิเซอร์คิวลาร์ (Semicircular canal) ซึ่งจะทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน ปัจจุบันสาเหตุที่ทำให้หินปูนในหูเคลื่อนหรือหลุดได้ไม่มีคำอธิบายชัดเจน มักจะกล่าวถึงสาเหตุจากความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้สาเหตุที่พบยังสัมพันธ์กับสิ่งต่อไปนี้

  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
  • การอักเสบติดเชื้อของเส้นประสาทภายในหู (Vestibular neuritis) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดบริเวณหู
  • การใช้ยาที่เป็นอันตรายต่อหูบางชนิด (Ototoxic medication) เป็นต้น

อาการของโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

อาการของโรคนี้ ได้แก่ อาการเวียนศีรษะแบบฉับพลัน เวียนศีรษะในลักษณะบ้านหมุน ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางชัดเจน เช่น การเปลี่ยนท่าลุกขึ้นจากที่นอน การล้มตัวลงนอน การก้มหรือเงยศีรษะ เป็นต้น อาการมักเกิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และหายได้เองเมื่ออยู่เฉยๆ ไม่เปลี่ยนท่าทาง

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพบอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย และที่สำคัญ ผู้ป่วยโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนจะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่มีการสูญเสียการได้ยิน ไม่หมดสติ ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรง และไม่เวียนศีรษะจนเดินเซไปข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว

หากมีอาการทางประสาทที่ไม่เหมือนโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนต่างๆ เหล่านี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลเนื่องจากอาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้

หากเป็นโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน สามารถขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่?

ไม่ได้มีข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนในการขึ้นเครื่องบิน สิ่งสำคัญในการเป็นโรคนี้ที่ต้องระมัดระวังคือการเปลี่ยนท่าอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างฉับพลัน เป็นสาเหตุให้อาจเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ตามมาได้

วิธีเดินทางที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือการโดยสารทางเรือ เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ที่ไม่อยู่นิ่ง และโคลงเคลง ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้อาจเกิดอาการเวียนศีรษะมากกว่าคนปกติโดยทั่วไป โดยปกติการโดยสารเครื่องบินถือว่ามีความนิ่งมากกว่าการโดยสารโดยรถยนต์และทางเรือ ถ้าไม่ใช่ช่วงที่ตกหลุมอากาศซึ่งโดยปกติจะถูกบังคับให้นั่งประจำที่อยู่แล้ว จึงถือว่าปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคนี้

หากเป็นโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนต้องกินยาอะไร ใช้สมุนไพรรักษาได้หรือไม่ รักษาอย่างไรดี?

การรักษาผู้ป่วยโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนมีหลายวิธี ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยา ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่รักษาโรคนี้อย่างจำเพาะ การรักษาด้วยยาเป็นเพียงการบรรเทาอาการเวียนศีรษะ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนเท่านั้น ตัวอย่างยาที่ใช้บรรเทาอาการดังกล่าว เช่น เบตาฮินทีน (Betahistine) และไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) โดยรูปแบบการให้ยามีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งแบบฉีดเข้าเส้นเลือดจะออกฤทธิ์ได้ดีและไวกว่ารูปแบบรับประทาน
  2. การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีที่ได้ผลดีในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
    1. การจัดสมดุลของหินปูนในหู (Repositioning therapy) แพทย์จะรักษาด้วยการสอนให้ผู้ป่วยทำกายบริหารด้วยท่าทางต่างๆ โดยมีหลักการคือการเอนตัวไปในทิศทางที่กำหนดซ้ำไปมา เพื่อให้หินปูนที่เคลื่อนเข้าไปในท่อเซมิเซอร์คิวลาร์ (Semicircular canal) กลับออกมายังตำแหน่งเดิมภายในแซกคูล และยูทริเคิล ซึ่งท่ากายบริหารเหล่านี้จะถูกตั้งชื่อตามผู้ที่คิดค้น เช่น วิธี Epley Maneuver และวิธี Semont Maneuver ทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาดีมากและนิยมกันมากที่สุด
    2. การบริหารอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวเพื่อให้เกิดการปรับตัว (Vestibular habituation training) เป็นท่าทางกายบริหารต่างๆ เพื่อให้ระบบประสาทส่วนกลางปรับระบบการทรงตัวเสียใหม่ และเพื่อให้สมองปรับสภาพได้เร็วขึ้น วิธีดังกล่าวถูกเรียกตามชื่อผู้ที่คิดค้น คือ วิธี Cawthorne vestibular exercise ซึ่งวิธีนี้มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำการรักษาโดยการจัดสมดุลหินปูนในหูได้
  3. การรักษาโดยการผ่าตัด เช่น วิธิการตัดเส้นประสาทการทรงตัว (Singular neurectomy) และวิธีการผ่าเข้าไปอุดท่อเซมิเซอร์คิวลาร์ (Posterior semicircular canal occlusion) การรักษาโดยการผ่าตัดจะพิจารณาทำเมื่อการรักษาโดยการใช้ยาและทำกายภาพบำบัดไปเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน - 1 ปี แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อย แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดี แต่ต้องใช้ความชำนาญของแพทย์เป็นอย่างมาก
  4. การรักษาด้วยสมุนไพร ปัจจุบันมีสมุนไพรบางชนิดที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการเวียนศีรษะในผู้ป่วยโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน และมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ ได้แก่ แปะก๊วย รากขิง และเมล็ดอัลมอนด์ ทั้งนี้การใช้สมุนไพรรักษาควรอยู่ในการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ และควรเป็นการรักษาทางเลือก

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

ผู้ป่วยในโรคนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เปลี่ยนท่าทางอย่างช้าๆ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางอย่างกระทันหัน เช่น การก้มและเงยศีรษะอย่างรวดเร็ว การล้มตัวลงนอนอย่างกระทันหัน การลุกจากที่นอนอย่างรวดเร็ว เป็นต้น และระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะควรอยู่กับที่นิ่งๆ หาที่จับเพื่อช่วยในการทรงตัว เมื่อหายเวียนศีรษะแล้วค่อยเริ่มขยับตัวใหม่


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bree Normandin and Marijane Leonard, Benign Positional Vertigo (BPV) (https://www.healthline.com/health/benign-positional-vertigo), May 8, 2018
my.clevelandclinic.org, Benign Paroxysmal Positional Vertigo (BPPV) (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/11858-benign-paroxysmal-positional-vertigo-bppv)
webmd,.com, What is Benign Paroxysmal Positional Vertigo? (https://www.webmd.com/brain/benign-paroxysmal-positional-vertigo#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้