January 25, 2017 19:58
ตอบโดย
ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล (หมอเปี๊ยก) (นพ.)
คุณ น่าจะเป็นโรคกลัว (Phobia) ชนืดหนึ่ง ที่เรียกว่า เป็นการกลัวอยู่ในที่ชุมชนหรือที่โล่งแจ้ง (Agoraphobia) ในกรณีนี้จะมีอาการกลัวสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก กลัวการออกนอกบ้าน ฯลฯ
ลองมาทำความรู้จัก กับโรคกลัว ต่าง ๆ ดู ครับ
เชื่อว่า หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นหรือได้ยินมาบ้าง กับคำว่า ---phobia (คือมักมีคำอะไรอยู่ข้างหน้าคำว่า phobia) เช่น Arachnophobia (แปลว่ากลัวแมงมุม) เป็นต้น
ในที่นี้เราจะมาเข้าใจกันว่า phobia เป็นโรคยังไง และต่างจากความกลัวทั่วๆไปยังไง
ซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการทางการแพทย์เรียกว่า #Specific_Phobia หรือ
โรคความกลัวอย่างรุนแรง
Specific phobia หรือเดิมสมัยก่อนเรียกว่า simple phobia คือความผิดปกติที่ผู้ป่วยจะมีความกลัวอย่างมากต่ออะไรบางอย่าง เช่น กลัวหมา กลัวความสูง กลัวเลือด กลัวแมว กลัวที่กว้าง กลัวที่แคบ เป็นต้น
o.O อาการกลัวที่เรียกว่า phobia ต่างจากการกลัวปกติ (fear) ยังไง ?
ความกลัวแบบ phobia จะเป็นความกลัวอย่างมาก และเป็นการกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล โดยผู้ที่เป็น ก็รู้ว่าความกลัวของตัวเองมันไม่ค่อยสมเหตุสมผลกับสิ่งที่กลัว และหากเจอกับสิ่งที่กลัวแล้ว จะมีอาการตื่นกลัวตกใจอย่างมาก บางคนอาจถึงกับใจสั่น เหงื่อแตก แน่นหน้าอก มือชาเท้าชา ในบางกรณีอาจเป็นลมได้
ยกตัวอย่างคนที่เป็น phobia ต่อสุนัข จะมีความกลัวสุนัขมากอย่างรุนแรง แม้ว่าจะเป็นสุนัขที่น่ารักยังไงก็ตาม คนที่เป็นก็จะไม่สามารถให้สุนัขเข้าใกล้ ๆ ได้เลย ในบางรายที่อาการรุนแรงมากอาจกลัวกระทั่งตุ๊กตาสุนัขหรือรูปสุนัขก็ได้ ผมเองก็มีเพื่อนที่กลัวสุนัขแบบ phobia อยู่ เวลาเพื่อนคนนี้เจอหมาจะต้องวิ่งหนี หากเจอจัง ๆ ชนิดมาเลียแข้งเลียขาอยู่ใกล้ ๆ ก็จะตกใจจนใจสั่น ปากสั่น เหงื่อแตก มือเย็น สมาธิแตกไปหลายนาที
:( ชนิดของ Phobia ที่พบบ่อย ๆ :(
1. กลุ่มกลัวสัตว์ (animal type) ที่พบบ่อย ๆ หนีไม่พ้น กลัวหมา กลัวแมว แต่ส่วนน้อยอาจมีบ้างที่กลัวสัตว์แปลก ๆ เช่นตั๊กแตน จิ้งจก งู กบ ฯ
2. กลุ่มกลัวสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติบางอย่าง (Natural environment type) ที่พบบ่อย ๆ คือกลัวความสูง กลัวฟ้าผ่า-ฟ้าร้อง กลัวน้ำ
3. กลุ่มกลัวเลือดและเข็มฉีดยา (Blood injection injury type) ที่พบบ่อย ๆ คือกลัวเลือด (ประเภทเห็นเลือดนิดเดียวก็เป็นลมแล้ว) กลัวเข็มฉีดยา
4. กลุ่มกลัวสถานการณ์บางอย่าง (Situational type) ที่พบบ่อย ๆ เช่น กลัวที่แคบ (เช่นลิฟท์) กลัวที่มืด กลัวที่กว้าง กลัวเครื่องบิน (เหมือนที่ นักฟุตบอลชื่อดัง เดนนิส เบิร์กแคมท์ เป็นแหละครับ ที่ไปไหนต้องใช้ขับรถ หรือนั่งรถไฟเอา แต่ขึ้นเครื่องบินไม่ได้)
พบบ่อยแค่ไหน
Phobia นั้นเป็นความผิดปกติทางจิตเวชที่พบได้บ่อยอันดับต้น ๆ นั่นคือเจอได้มากถึง 5-10 % เลยทีเดียว ในสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวชที่พบบ่อยที่สุด โดยพบว่าผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณสองเท่า
เชื่อว่าผู้อ่านหากให้ลองนึก ๆ ดู ก็น่าจะพอรู้จักคนที่มีอาการกลัวมาก ๆ แบบนี้ไม่มากก็น้อย
แต่นั่นแหละครับ .... คนเป็นมีเยอะ แต่คนมาพบแพทย์นั้นน้อยมาก เรียกว่านานๆ จะเจอทีเลยทีเดียว
การดำเนินโรค
Phobia ส่วนใหญ่นั้นมักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น ยกเว้น phobia ชนิดที่กลัวเลือดกลัวเข็ม หรือกลัวสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่นฟ้าผ่า ฝนตก กลัวน้ำ สองชนิดนี้จะพบในช่วงอายุที่เด็กกว่า โดยอาจพบได้ตั้งแต่อายุ 5-9 ปี
Phobia เป็นความผิดปกติที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อย ๆ เรื้อรัง ไม่หายหากไม่ได้รับการรักษา
โดยหากอาการเป็นมาก ๆ มักมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน (เช่น มีคนไข้คนหนึ่งกลัวที่แคบ แต่ดันได้ที่ทำงานอยู่ชั้น 7 ต้องเดินขึ้นลงบันไดเอาทุกวัน เพราะเข้าลิฟต์ไม่ได้) ในบางคนอาจถึงกับมีโรคซึมเศร้าร่วมด้วยได้
การรักษา
:) คำถามที่มักเจอบ่อย ๆ คือต้องรักษาหรือเปล่า ? :)
Phobia นั้นหากรบกวนชีวิตประจำวันมากก็ควรที่จะรักษา เช่น คนที่กลัวที่แคบกลัวลิฟท์ หากอยู่ในเมืองย่อมหนีไม่พ้นการขึ้นลิฟท์ จะให้ใช้แต่บันไดตลอดย่อมไม่ไหว หรืออย่างบางคนที่ phobia หมาอย่างรุนแรง ก็สร้างความลำบากให้ชีวิตพอตัว เพราะประเทศเราก็ดันมีหมาเยอะเต็มไปหมด เวลาเดินไปไหนทีเจอหมามาแต่ไกลก็ต้องเดินหลบ เดินอ้อม หรือรอให้หมาไปก่อน บางทีหมาวิ่งเข้าหาก็ตกใจจนทำงานทำการไม่ได้ไปหลายชั่วโมง แถมเสียบุคลิกไปอีกพอควร หรืออย่างกรณีที่ชัดเจนเช่น นักศึกษาแพทย์แต่กลัวเลือด อย่างนี้ชัดเจนว่าต้องรักษา เพราะไม่อย่างนั้นคงเรียนไม่จบแน่
แต่ phobia บางอย่างไม่รักษาก็พอได้ โดยเฉพาะที่กลัวอะไรแปลกๆ หายากๆ เช่น มีคนไข้คนหนึ่งกลัวตั๊กแตนตำข้าว แต่อยู่ในกรุงเทพ ถ้าอย่างนี้ก็อาจพอไหว เพราะคงมีโอกาสเจอไม่มากเท่าไหร่
+++ การรักษาหลักของ specific phobia +++
ได้แก่ การรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) ชนิดที่เรียกว่า exposure therapy หลักการง่าย ๆ ของการรักษาอันนี้ คือให้เผชิญกับสิ่งที่กลัว เมื่อผู้ป่วยทนได้รับไหว ก็จะค่อย ๆ เพิ่มขนาดความรุนแรงของสิ่งที่กลัวเข้าไป
เช่น ในคนไข้ที่กลัวสุนัข ขั้นแรก อาจจะให้จับตุ๊กตาสุนัขก่อน (บางคนที่ phobia มาก ๆ อาจกลัวได้แม้กระทั่งรูปภาพหรือตุ๊กตาสุนัข) เมื่อผู้ป่วยอยู่ได้ ทนได้โดยไม่รู้สึกกลัวแล้ว ขั้นต่อไปก็จะเพิ่มขนาดความกลัวขึ้นอีก เช่น จากตุ๊กตาก็เปลี่ยนเป็นให้อยู่กับลูกสุนัขในระยะห่างสัก 5 เมตร เมื่ออยู่ได้จนหายกลัว ก็ค่อย ๆ เลื่อนสุนัขเข้ามาใกล้เข้าเรื่อยๆ ขั้นสุดท้ายก็อาจเปลี่ยนเป็นสุนัขตัวโตขึ้นจนกระทั่งไม่มีความกลัวอีกต่อไป
*** หลักการนั้นดูอาจเหมือนง่าย แต่จริงๆ ต้องมีขั้นตอน การวางแผน และเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างนะครับ แต่อันนี้เขียนแต่หลักการล้วนๆ ***
ส่วนการรักษาด้วยยานั้น ไม่ได้เป็นการรักษาหลักในPhobia โดยยาจะให้เพียงเพื่อช่วยลดความกลัวในช่วงแรกเท่านั้น แต่ยาไม่สามารถทำให้หายได้นะครับ ต้องทำพฤติกรรมบำบัดด้วยเสมอ
https://www.facebook.com/ThaiPsychiatricAssociation/posts/615864835184203:0
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
แน่นหน้าอกและหายใจไม่ค่อยออกเวลาที่อยู่ในที่ที่มีคนเยอะๆ มีหน้ามืดในบ้างเวลา ไม่ทราบว่าเป็นอะไรค่ะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)