January 23, 2017 20:12
ตอบโดย
ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล (หมอเปี๊ยก) (นพ.)
สมองตาย ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะหนึ่ง
ภาวะสมองตาย (Brain death) คือ ภาวะที่ก้านสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป และในทางการแพทย์ ถือว่าผู้ที่มีภาวะสมองตาย คือ ผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ไม่ว่าเราจะให้การรักษาเช่นใดต่อไปก็ไม่มีความหมาย เพราะผู้ป่วย จะไม่มีทางฟื้นขึ้นมาอีก หลังจากสมองตาย อวัยวะอย่างอื่นก็จะค่อย ๆ ลดการทำงานลง และหยุดทำงานในที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองตาย
ที่พบบ่อย ได้แก่
1. การบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง
2. หลอดเลือดสมองแตก
3. เนื้องอกของสมอง
สำหรับสาเหตุข้อ 1 ส่วนใหญ่มักเกิด จากการได้รับอุบัติเหตุทางจราจร
เมื่อใดถึงเรียกว่า ”สมองตาย” ?
ต้องมีข้อวินิจฉัยชัดเจนว่าสมองถูกทำลายโดยไม่สามารถเยียวยาได้
ขั้นแรก จะตรวจสอบจากอาการที่ไม่รู้สึกตัว ไม่มีการขยับเคลื่อนไหวใด ๆ
ขั้นที่สอง ต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในภาวะที่ได้รับยา หรือสารพิษต่าง ๆ ไม่มีภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าสมองตาย เช่น ความดันต่ำ อุณหภูมิต่ำ
ขั้นที่สาม คือการทดสอบการทำงานของก้านสมอง โดยตรวจสอบม่านตา การกลอกตา ปฏิกิริยาตอบสนอง และการหายใจ ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยการทดสอบทั้งหมดจะทำซ้ำ 2 ครั้งห่างกัน 6 ชั่วโมง จึงจะยืนยันได้ว่าสมองตาย
เมื่อ ”สมองตาย” จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
เมื่อก้านสมองเสียหายโดยถาวรแล้ว สมองส่วนอื่น ๆ ก็จะไม่สามารถทำงานต่อได้ และอวัยวะอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ทำงานน้อยลงและหยุดทำงานในที่สุด เมื่อสมองตายแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถหายใจได้เอง เนื่องจากก้านสมองที่ควบคุมไม่ทำงานแล้ว แต่ถ้าใช้เครื่องช่วยหายใจ อาจทำให้เห็นมีการเคลื่อนไหวของหน้าอกอยู่ได้ ซึ่งถ้าหยุดเครื่องช่วยหายใจก็จะไม่มีการหายใจเกิดขึ้น หัวใจของผู้ป่วยอาจจะยังเต้นอยู่ แต่จะค่อย ๆ เต้นช้าลงและหยุดเต้นในที่สุด ระหว่างนี้ความดันโลหิตจะค่อย ๆ ลดลง การใช้ยากระตุ้นหัวใจอาจช่วยให้ความดันโลหิตปกติได้ชั่วคราวแต่ในที่สุดก็จะยาไม่สามารถกระตุ้นหัวใจได้ผลอีกต่อไป โดยทั่วไปถึงแม้จะใช้ยากระตุ้น หัวใจก็จะหยุดเต้นใน 2-3 วัน
สมองตาย- โอกาสที่จะเป็นผู้ให้ชีวิตแก่ผู้อื่น
ในขณะที่สมองตายแต่หัวใจยังเต้นอยู่ อวัยวะอื่น ๆ เช่น ไต ตับ ปอด ยังทำงานได้อีกระยะหนึ่ง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ที่บริจาคจะได้ทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยช่วยเหลือผู้ป่วยอื่น ๆ ที่รอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ โดยผู้บริจาคร่างหนึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้ไม่น้อยกว่า 4 ชีวิต ความเศร้าโศกของญาติสามารถเปลี่ยนเป็นความปิติอันยิ่งใหญ่ที่เห็นผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นได้อีกมาก แทนจะมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดการสูญเสียจากการแต่เพียงอย่างเดียว
การบริจาคอวัยวะ
เมื่อแพทย์ได้ตรวจและวินิจฉัยว่าสมองตาย และญาติตัดสินใจบริจาคอวัยวะ (หรือผู้เสียชีวิตได้ตัดสินใจบริจาคอวัยวะไว้ก่อนแล้ว) ร่างของผู้บริจาคจะได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์เพื่อป้องกันมิให้อวัยวะเสื่อมสภาพระยะหนึ่ง หลังจากนั้นอวัยวะของผู้ที่เสียชีวิตจะได้รับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่รอคอยอวัยวะ โดยลำดับของผู้ได้รับการปลูกถ่ายจะอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย
การผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปปลูกถ่ายใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง หลังจากนั้นญาติจะสามารถนำร่างของผู้บริจาคไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ โดยร่างของผู้บริจาคจะมีการดูแลให้อยู่ในสภาพดีที่สุด ลักษณะภายนอกจะไม่แตกต่างจากผู้ป่วยหลังผ่าตัดทั่วไปเท่านั้น
ขั้นตอนหลังจากตัดสินใจบริจาคอวัยวะจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานคอยให้การดูแลและช่วยเหลือทั้งขั้นตอนทางกฎหมายจนถึงนำร่างกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ภายหลังจากญาติลงนามยินยอมบริจาคอวัยวะ โรงพยาบาลและสภากาชาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
http://www.neurosurgerycmu.com/2011/index.php/26-article/articles-for-public/71-2015-04-25-03-15-25
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โรคสมองตายคืออะไร
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)