BDMS WELLNESS CLINIC
ชื่อผู้สนับสนุน
BDMS WELLNESS CLINIC

ตอบ 9 คำถามยอดฮิต เตรียมตัวก่อนทำ IVF และ ICSI อย่างไร ให้ “ติด” ง่าย?

ตอบคำถามลึก ชัด ตรงประเด็น เกี่ยวกับวิธีเตรียมตัวก่อนทำ IVF และ ICSI กินอะไร เสริมวิตามินยังไง ควรนอนอย่างไร ควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ส.ค. 2021 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ตอบ 9 คำถามยอดฮิต เตรียมตัวก่อนทำ IVF และ ICSI อย่างไร ให้ “ติด” ง่าย?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ระยะเวลาที่ดีที่สุดในการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนทำ IVF และ ICSI คือ 3 เดือน เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ดีที่สุดที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สามารถผลิตไข่และสเปิร์มชุดใหม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงมากกว่าเดิม และร่างกายได้มีเวลาปรับสมดุล รวมถึงขับของเสียต่างๆ ให้หมดไป
  • ผู้ที่กำลังเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI ควรเลี่ยงอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือภาวะอ้วน ควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกายไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป เพื่อให้ฮอร์โมนเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนความสุขหลั่งได้มากขึ้น
  • ต้องไม่คิดว่า “ตนเองเป็นคนป่วย” เพราะคุณไม่ได้ป่วย ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และไม่จำเป็นต้องเครียด ควรใช้ชีวิตอย่างไม่กดดัน ผ่อนคลาย และไม่จดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ของการทำ IVF และ ICSI มากเกินไป
  • ฝ่ายหญิงจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการรับประทานยาบางชนิด เพื่อไม่ให้ฤทธิ์ยาไปส่งผลกระทบต่อคุณภาพของไข่ที่จะเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่

การทำ IVF และ ICSI แต่ละครั้งความคาดหวังก็สูงไม่แพ้กัน เพราะถ้า “ไม่ติด” ขึ้นมา ก็มักทำให้คู่รักหลายๆ คู่ผิดหวัง เสียใจ และหมดกำลังใจได้ ซึ่งคุณสามารถเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้ด้วย “การเตรียมตัวที่ดี”

วันนี้คุณหมอพูลศักดิ์ ไวความดี ผู้อำนวยการคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากและส่งเสริมสุขภาพสตรีของ BDMS Wellness Clinic ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ จะมาแชร์วิธีในการเตรียมตัวก่อนทำ IVF และ ICSI ที่มีงานวิจัยสนับสนุนว่า สามารถจะเพิ่มอัตราสำเร็จได้จริง

คุณหมอพูลศักดิ์ ไวความดี ผู้อำนวยการคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากและส่งเสริมสุขภาพสตรีของ BDMS Wellness Clinic ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

คุณหมอยืนยันจากประสบการณ์ตรงในหลายๆเคสที่คุณหมอเคยดูแลว่า หากมีการเตรียมความพร้อมที่ดีอย่างน้อย 3 เดือน ถึงแม้ว่าคุณผู้หญิงจะอายุมากกว่า 40 แล้วก็ยังไม่สาย มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ และหวังว่าข้อมูลนี้จะทำให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ในอนาคตมีหวังขึ้นมาบ้าง

ระยะเวลาในการเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI

ระยะเวลาที่ดีที่สุดในการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนทำ IVF และ ICSI คือ 3 เดือน เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ดีที่สุดที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สามารถผลิตไข่และสเปิร์มชุดใหม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงมากกว่าเดิม และร่างกายได้มีเวลาปรับสมดุล รวมถึงขับของเสียต่างๆ ให้หมดไปในช่วงเวลานี้

9 วิธีเตรียมตัวก่อนทำ IVF และ ICSI ให้ “ติด” ง่ายขึ้นกว่าเดิม

1. การรับประทานอาหาร ควรกินอะไรและไม่ควรกินอะไร?

ผู้ที่กำลังเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI ควรเลี่ยงอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือภาวะอ้วน ขณะเดียวกันก็ต้องรับประทานอาหารให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน

  • คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) ช่วยให้การเผาผลาญอินซูลินสมดุลและเพียงพอ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและภาวะอ้วนในภายหลัง โดยผู้ที่เตรียมตัวทำ IVF หรือทำ ICSI ควรรับประทานอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตกลุ่ม Low Glycemic Index หรือที่เรียกทั่วไปว่า “Low GI” เป็นอาหารกลุ่มที่ช่วยชะลอการดูดซึมของน้ำตาลในเลือดได้ แต่อิ่มท้อง เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่ว องุ่น แอปเปิ้ล

    นอกจากนี้คาร์โบไฮเดรตอีกกลุ่มที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังเตรียมตัวทำ IVF หรือทำ ICSI ก็คือ คาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารสูง (High Fiber) เพราะสามารถช่วยให้ระบบดูดซึมและย่อยอาหารให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พบได้ในอาหารประเภทผักผลไม้เป็นส่วนมาก เช่น ส้ม องุ่น ผักคะน้า พืชตระกูลเบอร์รี ข้าวโอ๊ต

  • โปรตีน (Protein) ผู้ที่มีภาวะขาดโปรตีน มีมวลกล้ามเนื้อต่ำ ก็มักจะมีคุณภาพไข่และสเปิร์มน้อยไปด้วย การรับประทานโปรตีนจึงจำเป็นมากในผู้ที่กำลังรักษาภาวะมีบุตรยาก

  • ไขมัน (Fat) ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fat) เพื่อป้องกันการเกิดไขมันสะสมเพิ่มในร่างกาย เช่น อโวคาโด (Avocado) น้ำมันคาโนลา (Canola oil) และปลาแซลมอน (Salmon)

สำหรับสารอาหารอีก 2 ตัวที่ผู้หญิงทุกคนต้องไม่พลาดเด็ดขาดในระหว่างเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI ก็คือ

  • ธาตุเหล็ก (Iron) พบได้ในอาหารที่มีสีแดง เช่น พริก ไข่แดง เนื้อสัตว์สีแดงทุกชนิดและเนื้อตับ เป็นแร่ธาตุที่ผู้หญิงทุกคนควรรับประทานให้เพียงพอ เนื่องจากมากกว่าครึ่งของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มักขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็กซึ่งจะมีผลต่อเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงรังไข่ ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตจาง
  • กรดโฟลิก (Folic Acid) พบได้ในผักผลไม้หลายชนิด เช่น ผักโขม มะเขือเทศ ลูกเดือย แคนตาลูป รวมถึงเนื้อตับ ในกลุ่มผู้หญิงที่ขาดกรดโฟลิก จะมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ หรือทารกที่คลอดออกมามีภาวะเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ พัฒนาการช้า และน้ำหนักตัวน้อย

สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างเตรียมตัวทำ IVF หรือทำ ICSI จะคล้ายกับอาหารที่คุณควรเลี่ยงในชีวิตประจำวันทั่วไปเพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อันได้แก่

  • อาหารทอด
  • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
  • อาหารรสหวาน

2. การพักผ่อน ควรนอนกี่ชั่วโมง?

ทั้งผู้หญิงและผู้ชายควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน

เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอสามารถส่งผลกระทบต่อต่อมใต้สมอง รวมถึงระบบการเผาผลาญของร่างกายที่อาจผิดปกติได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานหรือภาวะอ้วนซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

นอกจากนี้การพักผ่อนน้อยยังทำให้เกิดความเครียดหรืออารมณ์แปรปรวนได้ และทำให้ฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความสุขหลั่งน้อยเกินไป ลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบสืบพันธุ์

3. ควรออกกำลังกายอย่างไร? ขี่จักรยานได้หรือไม่?

เคล็ดลับการออกกำลังกายในช่วงเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงคุณออกกำลังกายอย่างมีความสุข ไม่หนักและไม่เบาจนเกินไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

การออกกำลังกายในช่วงเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI

เพราะการออกกำลังกายมีส่วนช่วยให้ฮอร์โมนเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนความสุขหลั่งได้มากขึ้น และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญของน้ำตาลในหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงยังบริเวณลูกอัณฑะและอุ้งเชิงกรานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คุณผู้ชายที่ชื่นชอบการปั่นจักรยาน อาจจะต้องงดเว้นการออกกำลังกายประเภทนี้ไปก่อน เพราะการปั่นจักรยานจะไปเพิ่มการกดทับและกระตุ้นอุณหภูมิความร้อนบริเวณลูกอัณฑะ ทำให้ผลิตเชื้อสเปิร์มได้น้อยลง และส่งผลต่อการเก็บเชื้อเพื่อเตรียมทำ IVF และ ICSI ได้

4. การดูแลสภาพจิตใจ

สภาวะจิตใจที่ดีที่สุดและเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ คือ สภาวะจิตใจที่แจ่มใส ไม่เครียด

ในช่วงเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI คู่รักทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องช่วยกันประคับประคองดูแลกันและกัน เพื่อให้บรรยากาศในระหว่างเตรียมพร้อมจะมีเจ้าตัวน้อยเต็มไปด้วยความสุขและความรัก

อีกประเด็นที่สำคัญซึ่งทางคุณหมอพูลศักดิ์ได้เน้นย้ำมาก็คือ ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายต้องไม่คิดว่า “ตนเองเป็นคนป่วย” เพราะคุณไม่ได้ป่วย ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และไม่จำเป็นต้องเครียด ทางที่ดีควรใช้ชีวิตอย่างไม่กดดัน ผ่อนคลาย และไม่จดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ของการทำ IVF และ ICSI มากเกินไป

5. การกินยาประจำตัว ควรปรับอย่างไร?

กลุ่มยาที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงมากที่สุดในระหว่างเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI ก็คือ กลุ่มยาที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเก็บไข่

โดยกระบวนการเก็บไข่ คือ ขั้นตอนการนำไข่ที่ผ่านการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นจนมีขนาดและคุณภาพดีเพียงพอแล้วย้ายออกมาจากรังไข่เพื่อไปเก็บรักษาโดยการแช่แข็งไข่ (Egg Freezing) ไว้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมนำไปผสมกับเชื้อสเปิร์มของฝ่ายชายให้กลายเป็นตัวอ่อนต่อไป

ดังนั้นเพื่อให้ไข่ที่เตรียมย้ายไปแช่แข็งมีคุณภาพสมบูรณ์มากเพียงพอ ฝ่ายหญิงจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการรับประทานยาบางชนิด เพื่อไม่ให้ฤทธิ์ยาไปส่งผลกระทบต่อคุณภาพของไข่ที่จะเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่ โดยตัวอย่างกลุ่มยาที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด จะได้แก่

  • ยาละลายลิ่มเลือด
  • ยาแก้ปวด
  • ยาแก้อักเสบที่ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์

ยารักษาสิวที่มีวิตามินเอสูง (Isotretinoin) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรแอคคิวเทน (Roaccutane)” ก็เป็นอีกกลุ่มยาที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นกลุ่มยาที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนหลังจากปฏิสนธิ และเสี่ยงทำให้เด็กทารกพิการแต่กำเนิด

ผู้ที่รับประทานยาโรแอคคิวเทน หรือยารักษาสิวชนิดอื่นๆ ที่มีวิตามินเอสูง จำเป็นต้องแจ้งรายชื่อยาทั้งหมดให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เพื่อให้แพทย์แนะนำการหยุดรับประทานยาชั่วคราว หรือแนะนำให้ไปรับประทานยาตัวอื่นที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำ IVF และ ICSI แทน

นอกจากนี้ผู้ชายที่กำลังรักษาภาวะมีบุตรยากยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปลูกผมในระหว่างที่รอเก็บเชื้อสเปิร์มด้วย เพราะตัวยามีผลในการยับยั้งการสร้างเชื้อสเปิร์ม ทำให้ยากต่อการเก็บสเปิร์มในภายหลังได้

ทางที่ดีเมื่อเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการมีบุตร คุณควรแจ้งโรคประจำตัวพร้อมยาที่รับประทานประจำ กับแพทย์อย่างครบถ้วน เพื่อแพทย์จะได้แนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเหมาะสมต่อไป

เชื้อไวรัส COVID-19 อีกตัวการที่อาจทำให้มีลูกยาก

นอกจากรายการยาที่ต้องระมัดระวังแล้ว เชื้อไวรัส COVID-19 ที่กำลังระบาดอยู่ตอนนี้ก็มีแนวโน้มจะส่งผลทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในเพศชายได้เช่นเดียวกัน

โดยเมื่อไรที่ผู้ชายติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีแนวโน้มที่เชื้อไวรัสอาจไปรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้การหลั่งของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายต่ำลง ส่งผลให้เกิดปัญหาอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว หรือเกิดภาวะอัณฑะอักเสบได้ ทำให้เชื้อสเปิร์มที่ผลิตออกมาผิดปกติ

ในระหว่างที่ยังไม่มียารักษาอย่างชัดเจนสำหรับสถานการณ์โรคระบาดในตอนนี้ ทั้งคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงจึงจำเป็นต้องระมัดระวังและรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ควรออกเดินทางไปไหนหากไม่จำเป็น เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้

6. การเดินทางส่งผลกระทบหรือไม่?

การเดินทางทั่วไป เช่น การนั่งรถส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อระบบสืบพันธุ์ นอกเสียจากการเดินทางข้ามโซนเวลาหรือการเดินทางที่ส่งผลกระทบต่อเวลาพักผ่อน และการรับประทานอาหารปกติของคุณ

เพราะการเปลี่ยนแปลงของเวลา ทำให้ตารางเวลาในการนอนพักผ่อน และการรับประทานอาหารไม่เหมือนเดิม หรือผิดเวลา จะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายปรับตัวไม่ทัน และส่งผลต่อการทำงานของรังไข่และการผลิตสเปิร์มได้

ทางที่ดีหากคุณมีแผนการเดินทางไปต่างประเทศในระยะเวลา 3 เดือนนี้ คุณอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนการใหม่ชั่วคราว และงดเว้นการเดินทางระยะไกลไปก่อน

7. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงอย่างไรบ้าง?

หากคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 แก้ว (Standard Drink) ต่อวัน ก็ยังถือว่า ไม่เป็นข้อห้ามในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด เพราะปริมาณดังกล่าวยังไม่เป็นผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์

แต่ทางที่ดีเพื่อสุขภาพที่ดีพร้อมที่สุดในการมีบุตร คุณอาจวางแผนหยุดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการชั่วคราวก่อน อย่างน้อย 3 เดือน

สำหรับการสูบบุหรี่ถือเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างชัดเจน และจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยผลกระทบหลักๆ ของบุหรี่ต่อระบบสืบพันธุ์ ได้แก่

  • ทำให้เชื้อสเปิร์มเสียหรือไม่สมบูรณ์ รวมถึงเกิดความผิดปกติของดีเอ็นเอในเชื้อสเปิร์ม
  • คุณภาพไข่ในผู้หญิงแย่ลง
  • โอกาสที่สเปิร์มจะเจาะไข่เพื่อผสมเป็นตัวอ่อนสำเร็จมีน้อยลง เนื่องจากบุหรี่ทำให้เปลือกไข่หนาตัวมากขึ้น
  • ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองเร็วขึ้น

8. แต่งตัวอย่างไรไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ?

การแต่งตัวในระหว่างเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI ไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ

อย่างไรก็ตามการสวมใส่กางเกงออกกำลังกายที่รัดลูกอัณฑะมากเกินไปก็ควรงดเว้นไว้ก่อน เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณลูกอัณฑะคล่องสะดวกมากขึ้น ทำให้การผลิตเชื้อสเปิร์มมีปริมาณเพียงพอต่อการผสมกับไข่ได้

9. ควรรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมอะไรบ้าง?

เราสามารถจำแนกกลุ่มวิตามินสำหรับบำรุงร่างกายระหว่างเตรียมตัวทำ IVF หรือทำ ICSI ได้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • กลุ่มอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงเลือด เช่น แร่ธาตุแมกนีเซียม วิตามินบี 3 และโคเอนไซม์ คิวเทน (CoQ10) พบในเนื้อสัตว์ต่างๆ อาหารทะเล ผักโขม หรือสตรอว์เบอร์รี
  • กลุ่มอาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มสารอาหารให้กับสเปิร์มและไข่ เช่น วิตามินอี (Vitamin E) แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) ซึ่งยังมีส่วนช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย สังเคราะห์ดีเอ็นเอในเชื้อสเปิร์ม และฟื้นฟูความแข็งแรงให้สเปิร์มกับไข่ด้วย นอกจากนี้ยังมีวิตามินดี (Vitamin D) แร่ธาตุซีลีเนียม (Selenium) ทองแดง (Copper) ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกด้วย
  • กลุ่มอาหารเสริมที่ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย (Antioxidant) เช่น วิตามินอี และโคเอนไซม์ คิวเทน
เตรียมตัวทำ IVF หรือทำ ICSI ควรรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมอะไร

หากคุณและคู่ของคุณต้องการทราบว่า ร่างกายตนเองพร้อมที่จะบุตรหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์และตรวจร่างกายก่อนทำ IVF และ ICSI

อ่าน: ควรตรวจอะไรบ้างก่อนทำ IVF และ ICSI?

โดยทีมแพทย์ของ BDMS Wellness Clinic จะร่วมกันออกแบบการดูแลสุขภาพให้คุณในแบบเฉพาะบุคคล เช่น การเสริมวิตามินหรือปรับฮอร์โมน เพื่อให้แน่ใจว่า การทำงานของทุกระบบในร่างกายคุณมีความพร้อมและเอื้อต่อการมีบุตรมากที่สุด

ใครควรดูแลตนเองเป็นพิเศษ เพื่อให้ทำ IVF และ ICSI ติดง่ายขึ้น?

กลุ่มผู้ที่จำเป็นต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ก็คือ

  • กลุ่มผู้ที่อายุใกล้เลยวัยเจริญพันธุ์ หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ เป็นกลุ่มคนที่ช่วงเวลาในการตั้งครรภ์ลดเหลือน้อยลงแล้ว ทำให้ต้องมีการดูแลและบำรุงร่างกายเป็นพิเศษ โดยช่วงอายุที่ควรเริ่มปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์โดยเฉพาะ คือ อายุประมาณ 38-42 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว และอาการของโรคยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ เป็นต้น

อย่าลังเลที่จะเข้ารับการปรึกษาแพทย์ เพื่อการเตรียมตัวมีบุตรอย่างถูกวิธี และเพิ่มโอกาสในการมีบุตร พร้อมเติมเต็มครอบครัวให้มีความสุขและสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รวมบทความ เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ IVF, IUI, ICSI, IMSI ตอบครบทุกคำถามโดยแพทย์ | HDmall (https://hdmall.co.th/c/hdinsight-by-ivf-iui-icsi-imsi).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
รายการตรวจก่อนเตรียมทำ IVF และ ICSI มีอะไรบ้าง? ตรวจเพื่ออะไร? มาดูพร้อมๆ กัน
รายการตรวจก่อนเตรียมทำ IVF และ ICSI มีอะไรบ้าง? ตรวจเพื่ออะไร? มาดูพร้อมๆ กัน

เจาะลึกรายการตรวจสำคัญระหว่างเตรียมตัวทำ IVF และ ICSI มีอะไรบ้าง จำเป็นอย่างไร ไขคำตอบได้ที่นี่

อ่านเพิ่ม