5 เหตุผลว่าทำไมน้ำมันดอกคำฝอยถึงดีต่อผิว

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
5 เหตุผลว่าทำไมน้ำมันดอกคำฝอยถึงดีต่อผิว

หากพูดถึงน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ และเหมาะสำหรับนำไปทำอาหาร “น้ำมันดอกคำฝอย” คือหนึ่งในนั้นค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณรู้ไหมว่าน้ำมันดอกคำฝอยไม่เพียงแต่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่มันยังมีประโยชน์ต่อผิวของเราเช่นกัน เพราะน้ำมันชนิดนี้อุดมไปด้วยกรดไลโนเลอิก ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาผิวได้มากมาย สำหรับบทความในวันนี้ เราจะพาคุณไปดูว่าน้ำมันดอกคำฝอยดีต่อผิวของเราอย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้ว เราลองมาดูกันเลยค่ะ

1.รักษาสิว

น้ำมันดอกคำฝอยอุดมไปด้วยกรดไลโนเลอิก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ขององค์ประกอบทั้งหมด  ซึ่งมันเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคนที่มีสิว หากร่างกายมีระดับของกรดไลโนเลอิกต่ำ มันก็สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะ Hyperkeratinization ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับของเคราตินเพิ่มขึ้น เราสามารถพบโปรตีนชนิดนี้ได้ในผิว ผม และเล็บ ส่งผลให้เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และทำให้รูขุมขนอุดตันจนนำไปสู่การเกิดสิวได้ในที่สุด อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การทากรดไลโนเลอิกเป็นเวลาหนึ่งเดือน ทำให้รูขุมขนที่อุดตันหรือสิวที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่าเล็กลงประมาณ 25% ดังนั้นคุณสามารถรับมือกับสิวโดยใช้น้ำมันดอกคำฝอยเช็ดผิวก่อนที่มันจะกลายเป็นสิวหัวดำหรือสิวหัวขาว

2.ทำให้ผิวแทนจางลง

เมื่อผิวสัมผัสกับแสงแดด เม็ดสีที่เรียกว่า “เมลานิน” จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเมลานินมีหน้าที่ปกป้องผิวจากรังสียูวี และทำให้ผิวของเราเข้มขึ้น แต่มีงานวิจัยพบว่า กรดไลโนเลอิกมีสารที่ช่วยให้ผิวสว่างขึ้น ซึ่งสามารถยับยั้งการผลิตเมลานิน และลดจุดด่างดำที่เกิดจากรังสียูวี แถมยังช่วยเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิวด้านนอกสุด หรือ Stratum Corneum ส่งผลให้เมลานินถูกกำจัดออกไป นอกจากนี้วิตามินอีที่พบได้ในน้ำมันดอกคำฝอยยังช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด เพราะมันมีคุณสมบัติช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการออกซิไดซ์เกินสมดุล ดังนั้นใครที่ตอนนี้มีผิวแทนมากเกินไปหลังจากนอนอาบแดด การใช้น้ำมันดอกคำฝอยก็อาจช่วยให้สีผิวจางลงและทำให้สีผิวมีความสม่ำเสมอ

3.รับมือกับรอยเหี่ยวและผิวแห้ง

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้หญิงวัยกลางคนชาวอเมริกันที่ทานอาหารที่มีกรดไขมันไลโนเลอิกสูงมีผิวดีขึ้น ซึ่งผิวจะแห้งและมีรอยเหี่ยวย่นน้อยลง ดังนั้นการใช้น้ำมันดอกคำฝอยก็อาจช่วยให้คุณมีใบหน้าที่ดูอ่อนเยาว์มากขึ้น นอกจากนี้น้ำมันดอกคำฝอยยังมีวิตามินอี ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิเด้นท์ที่ช่วยชะลอความชราและลดรอยเหี่ยวย่นที่ผิว ทั้งนี้น้ำมันดอกคำฝอย 100 กรัม มีวิตามินอีประมาณ 34 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวันถึง 200% นอกจากคุณจะนำน้ำมันดอกคำฝอยมาทำอาหารแล้ว คุณก็อาจนำมาใช้เป็นสกินแคร์ทุกสัปดาห์ เช่น คุณอาจนำน้ำมันดอกคำฝอยมาผสมกับส่วนผสมอื่นเพื่อใช้มาสก์หน้า ซึ่งมันจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวเช่นกัน

4.ช่วยรักษาบาดแผล

มีงานวิจัยพบว่า กรดไลโนเลอิกทั้งในรูปแบบของยาทาหรือยาสำหรับทานก็สามารถช่วยรักษาบาดแผลได้ ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำกับสัตว์พบว่า การทากรดไลโนเลอิกจะช่วยเพิ่มการสมานแผล รวมถึงเพิ่ม DNA และโปรตีนของบาดแผล ในขณะที่มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำกับหนูที่เป็นโรคเบาหวานพบว่า การกินกรดไลโนเลอิกทำให้มีการสร้างเส้นเลือดใหม่ และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

5.ช่วยให้เกราะป้องกันผิวทำงานดีขึ้น

ผิวชั้นนอกสุดนับว่ามีบทบาทสำคัญมากทีเดียว เพราะมันทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันร่างกายและสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันสารก่อภูมิแพ้ สิ่งรบกวนผิว และเชื้อโรคที่อันตรายเท่านั้น แต่มันยังจำกัดการเสียน้ำออกจากร่างกายอีกด้วย หากผิวของคุณขาดกรดไขมันจำเป็น มันก็สามารถส่งผลต่อการทำงานของเกราะป้องกันผิว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า การทาหรือทานกรดไลโนเลอิกสามารถแก้ปัญหาดังกล่าว และช่วยฟื้นฟูการทำงานของเกราะป้องกันผิว อย่างไรก็ตาม การมีกรดไขมันจำเป็นที่ผิวไม่สมดุลนั้นยังส่งผลอื่นๆ ต่อร่างกาย เช่น การมีผมขาว หัวล้าน มีปื้นสีแดงที่ตกสะเก็ดบนหนังศีรษะ เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การทาน้ำมันดอกคำฝอยสามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม หากคุณแพ้ Ragweed หรือพืชในตระกูล Asteraceae น้ำมันดอกคำฝอยอาจเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคุณ นอกจากนี้ให้คุณลองทดลองใส่น้ำมันดอกคำฝอยเพียงเล็กน้อยในอาหารก่อนที่จะเริ่มทานเป็นประจำ หรือหากคุณคิดจะใช้น้ำมันดอกคำฝอยทาผิว ให้คุณทดลองทำ Patch test เพื่อดูว่าแพ้หรือไม่

ที่มา: https://www.curejoy.com/conten...


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Top 6 health benefits of safflower oil. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/322245)
Safflower Oil for Skin: Uses and Benefits. Healthline. (https://www.healthline.com/health/safflower-oil-for-skin)
Oelke EA, et al. (2018). Safflower. (https://www.hort.purdue.edu/newcrop/afcm/safflower.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)