พญ. สุดารัตน์ ศุภนิตยานนท์ แพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม
เขียนโดย
พญ. สุดารัตน์ ศุภนิตยานนท์ แพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม

ลูกบอก ไม่รักแม่ เป็นเพราะอะไร รับมืออย่างไร?

อย่าเพิ่งน้อยใจถ้าลูกบอก “ไม่รักแม่” แต่ควรพยายามหาสาเหตุที่แท้จริง และทำความเข้าใจ เพื่อจะได้หาทางช่วยเหลือหรือปรับตัวเข้ากับลูกได้อย่างเหมาะสม
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ลูกบอก ไม่รักแม่ เป็นเพราะอะไร รับมืออย่างไร?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ลูกบอกไม่รักแม่ เป็นพฤติกรรมที่ลูกสื่อให้ทราบว่าโกรธ น้อยใจ แต่ลูกอาจไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร จึงใช้คำพูดที่เคยได้ยินจากผู้ใหญ่ เช่น เคยพูดว่า “ฉันจะไม่รักเธอแล้ว” “แม่จะทิ้งหนูไว้” 
  • สาเหตุหลักที่ลูกบอกไม่รักแม่มีหลักๆ สามข้อ ข้อแรกคือทักษะในการควบคุมอารมณ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่ สมองที่ใช้เหตุผลซึ่งจะควบคุมความจำชั่วขณะ การยั้งคิด ต้องอาศัยการพัฒนาจนโต
  • ข้อสอง เด็กขาดประสบการณ์เชื่อมโยงของเหตุการณ์และอารมณ์ เด็กยังไม่รู้จะแสดงออกในอารมณ์ต่างๆ อย่างไร ข้อสาม เด็กกำลังทดสอบปฏิกริยาการตอบสนองของพ่อแม่
  • สิ่งที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยง การย้อนกลับไปว่า “ฉันก็ไม่รักเธอ” “ทำไมถึงเป็นเด็กแบบนี้” คำพูดด้านลบจะยิ่งสร้างแผลในใจให้ลูก อย่าปล่อยลูกอยู่คนเดียว อย่าลงโทษลูก เช่น ตี ดุด่า ไม่ควรแสดงท่าที่ว่าเห็นคำพูดลูกเป็นเรื่องตลก
  • ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

“หนูไม่รักแม่แล้ว” “หนูเกลียดแม่” คำพูดเหล่านี้เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ฟังคงทำให้รู้สึกน้อยใจ โกรธ หรือผิดหวังที่ลูกใช้คำพูดแรงๆ แบบนี้กับตน

แต่คำพูดเหล่านี้อาจไม่ได้หมายความจริงๆ อย่างที่ลูกเอ่ย ที่จริงแล้วเป็นข้อความที่ลูกกำลังบอกคุณว่าเขาต้องการการช่วยเหลืออยู่ สิ่งสำคัญคือทำความเข้าใจและพยายามคิดหาว่า “เพราะอะไร” ลูกจึงพูดแบบนั้นออกมา

3 สาเหตุหลักที่ทำให้ลูกบอก “ไม่รักแม่”

เวลาที่เด็กโมโห โกรธ ไม่พอใจ โดนขัดใจ หรือได้รับการลงโทษจากผู้ใหญ่ เด็กจะมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาถึงอารมณ์เหล่านั้น

การที่ลูกบอก “หนูไม่รักแม่” หรือ “หนูเกลียดแม่” ก็เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่ลูกอยากจะสื่อให้คุณพ่อคุณแม่รับทราบ หรือบางครั้งลูกไม่รู้จะแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือความต้องการอย่างไร จึงเลือกใช้คำพูดที่เคยใช้ หรือเคยได้ยินจากผู้ใหญ่ เช่น เคยพูดว่า “ฉันจะไม่รักเธอแล้ว” “แม่จะทิ้งหนูไว้” “อยู่คนเดียวเลย ทำตัวแบบนี้”

เด็กอาจจำคำพูดเหล่านั้นแล้วใช้โต้ตอบเวลาที่โดนขัดใจ นอกจากนี้ภายใต้คำพูดที่เชือดเฉือนน้ำใจคุณพ่อคุณแม่ ลูกอาจจะอยากสื่อสารข้อความบางอย่างที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ เช่น

  • “หนูโกรธมากที่พ่อแม่ไม่เข้าใจหนู”
  • “หนูเสียใจมากที่โดนขัดใจ”
  • “หนูรู้สึกแย่มาก”
  • “พ่อแม่ไม่ฟังหนูเลย”
  • “หนูไม่ได้ต้องการแบบนั้นเลย”

3 สาเหตุหลักที่ลูกพูดใช้คำพูดเหล่านั้น ได้แก่

1. ทักษะในการควบคุมอารมณ์ของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่

หลังอายุ 3 ปีขึ้นไป เด็กจะเริ่มมีพัฒนาการของอารมณ์และความรู้สึกที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งอารมณ์ดีใจ มีความสุข เสียใจ โกรธ อารมณ์ทั้งหลายอาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ทักษะในการจัดการกับอารมณ์ดังกล่าวและทักษะทางภาษาที่ใช้บอกอารมณ์นั้นยังพัฒนาไม่เต็มทื่

โดยเฉพาะสมองที่ใช้เหตุผล (Frontal lobe) ซึ่งจะควบคุมความจำชั่วขณะ การยั้งคิด และความคิดยืดหยุ่น ต้องอาศัยการพัฒนาและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนโต

2. เด็กขาดประสบการณ์การเชื่อมโยงของเหตุการณ์และอารมณ์ต่าง ๆ

เด็กอาจจะเชื่อมโยงอารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธ เสียใจ น้อยใจ หรือไม่พอใจ กับคำพูดว่า “ไม่รัก” เพียงคำเดียว เนื่องจากเด็กขาดประสบการณ์ในการใช้คำที่แสดงอารมณ์ต่างๆ และไม่รู้จะเลือกใช้คำพูดอย่างไร

3. เด็กกำลังทดสอบปฏิกริยาการตอบสนองของพ่อแม่

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พอใจหรือโดนขัดใจ เด็กจะพยายามหาทุกวิถีทางเพื่อให้ตนได้ในสิ่งที่ต้องการ การเลือกใช้คำพูดของเด็กก็เช่นเดียวกัน เพราะเด็กกำลังเรียนรู้และดูการตอบสนองของพ่อแม่ต่อพฤติกรรมของตนอยู่

คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร เมื่อลูกบอก “ไม่รัก”

สมองของเด็กในการจัดการอารมณ์ด้านลบต่างๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่คือคนสำคัญในการสอนให้รู้จักอารมณ์และรู้จักการจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นด้วย

ในสถานการณ์ที่ลูกกำลังหงุดหงิด โวยวาย อาละวาด และตะโกนบอก “ไม่รัก” พ่อแม่ อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์และควบคุมสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดการโต้เถียงกัน ใช้ความเมตตา ความรัก ความเข้าใจ และความเห็นใจกับพฤติกรรมดังกล่าวของลูก รับฟังลูกและเข้าไปกอดลูกเพื่อให้ลูกรับรู้ว่าเราเข้าใจและรักเขา

สะท้อนอารมณ์ลูกให้ลูกรับรู้ว่ากำลังรู้สึกไม่พอใจ เสียใจ เช่น

  • “แม่ได้ยินแล้วว่าหนูบอกไม่รักแม่”
  • “แม่เข้าใจที่หนูเกลียดแม่ เพราะแม่ขัดใจหนู”

หลังจากนั้นให้เวลาลูกเพื่อให้ลูกสงบลง สะท้อนอารมณ์ให้ลูกรับรู้ถึงอารมณ์ตนเอง เช่น

  • “แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธ ถ้าหนูอยากมาคุยกับแม่ตอนหนูพร้อม แม่จะคอยอยู่ตรงนี้นะ”
  • “แม่นั่งรอตรงนี้นะจ๊ะ ถ้าหนูอารมณ์ดีแล้วเรามาคุยกัน”
  • “แม่รู้ว่าหนูกำลังเสียใจ แม่ก็เสียใจที่หนูพูดแบบนี้ แต่ยังไงแม่ก็รอหนูพูดกับแม่นะจ๊ะ”

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อลูกบอก “ไม่รัก”

สิ่งเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยง เพื่อสภาพจิตใจและพัฒนาการของลูกในระยะยาว

  1. ตอบลูกกลับว่า “ฉันก็ไม่รักเธอ” “ทำไมถึงเป็นเด็กแบบนี้” “ใครสั่งสอนให้พูดจาไม่ดี” คำพูดด้านลบจะยิ่งสร้างแผลในใจให้ลูก
  2. เดินหนี ปล่อยลูกอยู่คนเดียว
  3. ลงโทษลูก เช่น ตี ดุด่า
  4. แสดงท่าที่ว่าเห็นคำพูดลูกเป็นเรื่องตลก ขำขัน ไร้สาระ

ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, Parents, kids, and discipline (https://www.webmd.com/parenting/guide/discipline-tactics#4), 10 December 2019.
Meri Wallace, When your child says “I hate you” (https://www.psychologytoday.com/us/blog/how-raise-happy-cooperative-child/201411/when-your-child-says-i-hate-you), 11 November 2014.
Ariadne Brill, When your child says: I hate you (https://www.positiveparentingconnection.net/when-your-child-says-i-hate-you), 25 February 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)